#ขนุนอ่านและเขียน: ข้อจำกัดในการศึกษาเรียนรู้ภายใต้การจองจำ

“ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิชาการ 

ในช่วงวัย 24 ปีของชีวิต เขาจึงประสงค์จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปจากชั้นปริญญาตรีที่เรียนจบมา

เขาสนใจการงานด้านการศึกษาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมนุ่งกางเกงขาสั้น เมื่อได้เข้าไปทำงานเป็นสภานักเรียนของโรงเรียน ทำให้มีประสบการณ์การทำงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักเรียน และต่อมายังเข้าร่วมกิจกรรมกับ “กลุ่มการศึกษาความเป็นไท” ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่สนใจประเด็นปัญหาด้านการปฏิรูปเพื่อการสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา

“การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าช่วงวัยไหน ระดับชั้นใด การศึกษาอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความฝันของชีวิต ไม่ว่าจะอาชีพหรือวิถีชีวิต การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม” ขนุนเคยบอกไว้

เมื่อเติบโตมาเรียนที่ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำให้เขายิ่งเพิ่มพูนความสนใจประเด็นทางการเมือง หนังสือในสาขาวิชารัฐศาสตร์ค่อยเปิดโลกการอ่านของเขาไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาค่อย ๆ กลายเป็น “หนอนหนังสือ” ที่ไล่อ่านและสะสมหนังสือหลากหลายประเภท ด้วยความสนใจใคร่รู้ จนเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาก็กลายเป็นคนหลงใหลในการอ่านไปเสียแล้ว

“ความฝันของผมอยากเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ความเข้าใจและจิตวิญญาณของศาสตร์ที่เราร่ำเรียนศึกษามาเข้าถึงแก่นแท้ นั่นคือความฝันของผม การบรรลุความฝันนั้น ภายใต้เงารั้วหลังปราการสูง ไม่สามารถสนองต่อความหวังและความฝันที่มีได้” ขนุนย้ำถึงความฝันของเขาหลายครั้ง

เมื่อสนใจการอ่าน การฝึกฝนการเขียนก็ติดตามมาเป็นเงา ขนุนเริ่มฝึกหัดการเขียนบทความหลากหลายรูปแบบ ลงทั้งในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว อย่างการรีวิวหนังสือที่อ่าน บทความแสดงทัศนะทางสังคม รวมทั้งเขายังพยายามส่งบทความไปลงตีพิมพ์ในพื้นที่สำนักข่าว และยังได้ร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัยและลงมือเขียนเรื่องสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย

การถูกจองจำระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 จนเกือบจะครบ 1 ปีแล้ว กลายเป็นการปิดล้อมหนทางการศึกษาเรียนรู้ของเขา นอกจากไม่สามารถเรียนต่อระดับปริญญาโทได้ตามความตั้งใจแล้ว การศึกษาค้นคว้าและได้อ่านหนังสือตามที่ตนเองสนใจ ยังเผชิญกับอุปสรรคภายใต้การถูกคุมขัง ขณะที่การเขียนบทความให้เป็นเรื่องเป็นราวก็เป็นไปได้ยาก เมื่อไม่มีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าสำหรับฝึกเขียน ทำได้เพียงเขียนจดหมายบอกเล่าเรื่องราวออกมา

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ชวนย้อนดูรายชื่อหนังสือที่ขนุนได้อ่านระหว่างการถูกคุมขัง ซึ่งเขาลิสต์มาให้ 15 เล่ม และทบทวนงานเขียนบทความของขนุนในช่วงก่อนต้องเข้าเรือนจำ ร่องรอยการอ่านและการเขียนเหล่านี้อาจพอบอกเล่าถึงความพยายามในการฝึกฝนตัวเองของเขา ก่อนจะตัดสินใจอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้อง “สิ่งปกติ” เหล่านี้กลับคืนมา

.

หนังสือ #ขนุนอ่าน

ในเรือนจำนั้น ขนุนบอกเล่าว่า ไม่มีหนังสือในรูปแบบต่าง ๆ ให้เขาได้เลือกอ่าน การส่งหนังสือที่เขาต้องการเข้าไปยังเป็นเรื่องยากลำบาก เมื่อสามารถฝากเข้าไปได้เพียงประมาณเดือนละ 1 เล่มเท่านั้น ทำให้เขามีหนังสืออ่านไม่ได้อย่างใจต้องการ หรือการส่งบทความเอกสารวิชาการเข้าไปก็เป็นไปได้ยาก หากไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ

ตลอด 11 เดือน ของการถูกขัง ขนุนเล่าว่าเขาอ่านหนังสือเป็นเล่ม จบไป 15 เล่ม โดยปกติก่อนหน้านี้ เขาจะอ่านหนังสือค่อนข้างเร็ว วันว่าง ๆ 3 วัน อาจจะอ่านหนังสือได้จบ 1 เล่ม แต่พออยู่ข้างในเรือนจำ ทรัพยากรหนังสือมีน้อย ก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีเป็นค่อย ๆ อ่านแต่ละเล่มที่มีอยู่ แบบค่อนข้างละเลียดกับมัน

นอกจากหนังสือแล้ว ขนุนบอกว่ายังพอได้อ่านวารสารวิชาการเก่า ๆ ที่มีอยู่ภายใน อย่างวารสารวิชาการของ มสธ. ซึ่งมีบทความเกี่ยวกับเรื่องนิติปรัชญาให้อ่านด้วย

ขนุนได้ไล่เรียงหนังสือ 15 เล่ม ที่เขาได้อ่านในช่วงการถูกคุมขังที่ผ่านมาให้ฟัง

เล่มแรก “ชีวิตยังมีความหมาย” เรื่องราวของจิตแพทย์ชาวยิว และโดนกักขังในค่ายกักกันช่วงยุคนาซี

เล่มที่สอง “ปฏิวัติ 2.0” เล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมอียิปต์ในช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง

เล่มที่สาม “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ว่าด้วยการเมืองวัฒนธรรมของขบวนการนักศึกษาก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เล่มที่สี่ “กฎหมายมหาชน” ของ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เล่มที่ห้า “เนื้อในระบอบถนอม” ของ อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ว่าด้วยการเมืองในช่วงยุคเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร

เล่มที่หก “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ว่าด้วยการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491-2500

เล่มที่เจ็ด “ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย” ของ มรกต เจวจินดา

เล่มที่แปด “ฤทธิ์มีดสั้น เล่มที่ 1” นวนิยายกำลังภายใน ที่เขาได้อ่านต่อจากอานนท์ นำภา

เล่มที่เก้า ปาฐกถา 14 ตุลาคม ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

เล่มที่สิบ “ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์” ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ

เล่มที่สิบเอ็ด “ทฤษฎีสังคมมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21” ของ อาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

เล่มที่สิบสอง “จัสติน ทรูโด” เขียนโดย จัสติน ทรูโด อัตชีวประวัติของผู้นำแคนาดา

เล่มที่สิบสาม “เนลสัน แมนเดลา: ความรู้ฉบับพกพา” หนังสือสรุปชีวประวัติและแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้

เล่มที่สิบสี่ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” หนังสือแปลเรื่องสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เทียบเคียงกับนวนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์

และเล่มที่สิบห้า ที่เขาเพิ่งอ่านจบไปก่อนเริ่มต้นอดอาหาร ได้แก่  “Home in the World โลกคือบ้าน บ้านคือโลก” ของอมรรตยะ เสน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

.

ภาพประกอบบทความเกี่ยวกับหนังสือของขนุน ใช้ภาพเป็นชั้นหนังสือของตนเอง

.

บทความ #ขนุนเขียน

ในช่วงก่อนการถูกคุมขัง ปี 2564 เป็นต้นมา ขนุนยังได้ทดลองขีด ๆ เขียน ๆ ความคิดของเขาไว้ ในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนตัว ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว โดยมากเป็นทั้งบทความแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมือง การศึกษา สถานการณ์ทางสังคม หรือการรีวิวหนังสือ อาทิเช่น

–  บทความ ชนชั้นในสถานศึกษา อภิปรายถึงโรงเรียนในฐานะภาพสะท้อนของชนชั้นที่จำลองจากสังคมจริง ซึ่งนักเรียนอยู่ในสถานะที่เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองในโครงสร้างทั้งหมด

–  บทความ ทุนนิยมในสถานศึกษา อภิปรายถึงปัญหาการทำให้ระบบการศึกษากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

–  บทความ หนังสือ ความรู้ การเข้าถึง อภิปรายเรื่องราคาหนังสือที่ค่อนข้างแพงในประเทศไทย ว่ามีปัจจัยใดบ้าง

–  บทความ การก่อตัวของขบวนการในยุคมืดของการเมืองไทย งานเขียนในช่วงที่กำลังเรียนรัฐศาสตร์ พยายามอภิปรายการก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ของขบวนการเคลื่อนไหวไทยในยุคเผด็จการทหาร ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

–   รีวิวหนังสือหลายเล่มของขนุน ในช่วงปี 2565 สะท้อนถึงความสนใจในประเด็นเรื่องประเทศเมียนมาของเขาในช่วงหลัง อาทิ รีวิวหนังสือ เมียนมากับประชาธิปไตยคู่ขนาน, ผ่าพม่าเปิดประวัติศาสตร์ปกปิด, สายธารแห่งรอยอดีต : ประวัติศาสตร์พม่าในมุมมองข้าพระเจ้า

ขณะเดียวกันเขายังเคยส่งบทความไปตีพิมพ์ในพื้นที่สำนักข่าว อย่างมติชน คอลัมน์สกู๊ปประชาชื่น ชื่อบทความ “‘ถึงกระนั้นจิตวิญญาณราษฎรยังคงอยู่’ 3 ปี ม็อบคนรุ่นใหม่ ชาติในเรื่องเล่ากระแสหลักที่ไม่อาจหวนกลับเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ทบทวนเรื่องการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 พร้อมระบุถึงจิตวิญญาณของราษฎรที่ยังคงอยู่ แม้การเคลื่อนไหวจะถูกปราบปราม

ขนุนยังร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัยเรื่องสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย ให้กับทางมูลนิธิ May 18 Foundation ของเกาหลีใต้ ภายใต้ชื่องานศึกษา “The Protest in 2019-2022 and Transitional Justice of Thailand” โดยขนุนร่วมเขียนในบทที่ว่าด้วยประเด็นทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมทางการเมือง

.

รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการประท้วงในประเทศไทย ของมูลนิธิ May18 ที่ขนุนร่วมเขียน

.

สถานที่ที่ “ขนุน” ควรอยู่?

“สถานที่แห่งนี้ ผมต้องจำทนอยู่ สิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อการศึกษาหาความรู้ ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ต้องห่างไกลจากครอบครัวและหนังสือที่รัก สมควรแล้วหรือที่ต้องอยู่ในที่แห่งนี้” ขนุนเคยถามกับทนายความในการเข้าเยี่ยมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

ขนุนยังบ่นในทำนองนี้ในการเข้าเยี่ยมอีกหลายครั้ง ว่าเขารู้สึกเสียดายเวลาในชีวิตที่ควรจะได้ไปศึกษาเล่าเรียน ต้องมาติดอยู่ภายใต้การคุมขังที่เนิ่นยาวออกมา ทำให้เขาไม่สามารถทั้งเรียน และอ่านหนังสือได้อย่างปกติ

“ผมเป็นคนหนึ่งที่มีเป้าหมายในชีวิตค่อนข้างแน่นอน พูดในนามปัจเจก ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อายุเพิ่ง 24 แต่กลับถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ผมก็หวังเพียงได้อิสรภาพ ได้เรียนหนังสือ ได้กลับบ้าน ได้อ่านหนังสือในชั้นที่บ้าน ทำอาหารให้ป๊ากับแม่กิน มีชีวิตเช่นคน ๆ หนึ่ง และผมอยากได้มันกลับคืนมา” นี่คือข้อเรียกร้องง่าย ๆ ถึงชีวิตที่ปกติของเขา

คำถามส่งท้ายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันและความหวังคนหนึ่ง คือ สถานที่แบบไหนที่ “คนแบบขนุน” ควรจะอยู่ – ห้องเรียน ห้องสมุด วงเสวนาวิชาการ ร้านหนังสือ บ้าน หรือ ต่อสู้อดอาหารอยู่ภายในเรือนจำ?

.

ย้อนอ่านคณาจารย์และเพื่อน ๆ พูดถึง “ขนุน”

จากคณาจารย์ถึง ‘ขนุน’: “อยากให้เขาได้รับโอกาสในการเรียนต่อ เขาไม่ควรเสียโอกาสไปแบบนี้”

รู้ว่ายาก แต่อยากเคียงข้าง “ขนุน”:  เมื่อ ม.112 ทำคนชิดใกล้ ให้ไกลห่าง

.

X