“คำแถลงต่อศาล”: จดหมายและบทกวีของ “ขนุน” ส่งถึงงานฟุตบอลประเพณี

วันที่ 25 ก.พ. 2568 นับเป็นวันที่ 5 ที่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ บัณฑิตรัฐศาสตร์และผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วงการถูกปฏิเสธสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยจะงดรับประทานข้าว นม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แต่ยังคงดื่มน้ำเปล่า

ขนุนถูกคุมขังมาแล้ว 338 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “#18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์” ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ตั้งแต่ขนุนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขายังคงสื่อสารเรื่องราวในชีวิตออกมา ผ่านจดหมายและบทความที่ยืนยันหนักแน่นต่อความต้องการอิสรภาพและสิทธิประกันตัวที่ผู้ต้องขังทางการเมืองควรได้รับ และยังคาดหวังถึงการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เพื่อจะได้ทำงานวิชาการตามความสนใจส่วนตัว 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2568 มีการจัดแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ท่ามกลางกิจกรรมที่มีทั้งขบวนล้อการเมือง และการแปรอักษร เพราะถ้อยคำที่ไม่อาจถูกพันธนาการ ขนุนเขียนกวีสะท้อนการเมืองระบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ออกมาจากเรือนจำ ส่งถึงขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนกวีบทดังกล่าวถูกอ่านขึ้นกลางงานฟุตบอลประเพณี พร้อมกับจดหมายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บอกเล่าถึงงานที่กลับมาจัดใหม่หลังห้าปี ย้ำเตือนให้ทบทวนเป้าหมายของการต่อสู้ที่เพื่อรับใช้ประชาชน แสดงความหวังว่าความยุติธรรมจะกลับมาและสังคมจะได้รับการปฏิรูป ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไม่ลืมนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

ส่วนบทกวี  “คำแถลงต่อศาล” ตั้งคำถามถึงความเสมอภาคและหลักนิติธรรมที่ถูกสอนในทางทฤษฎี แต่ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติจริง ทั้งระบุว่าถูกคุมขังมาแล้ว 327 วัน (ในวันที่ 15 ก.พ. 2568) ทำให้สูญเสียโอกาสทางการศึกษาและถูกพรากจากครอบครัว เพียงเพราะ “คิดไกลวิพากษ์วรรณะไทย” ซึ่งหมายถึงการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคมและชนชั้นในประเทศไทย  

ขนุนยังตั้งคำถามอย่างประชดประชันเกี่ยวกับการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แม้ว่าสิทธิในการประกันตัวควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม บทกวีจบด้วยความรู้สึกว่าระบบยุติธรรมยังคง “คดเอียง” หรือลำเอียง ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกินกว่าจะแก้ไขได้ง่าย ๆ ในสังคมไทย

_____________________________

“คำแถลงต่อศาล”

ข้าแต่ศาลท่านที่เคารพ 

กระผมขอแถลงยกสักประเดี๋ยว

ต่อหลักการนิติธรรมที่เล่าเรียน

เหตุใดเปลี่ยนเขียนเป็นอ-ยุติธรรม

นิติธรรมคือหลักความเสมอภาค

ยึดบนหลักการกฎหมายตั้งที่มั่น

พร้อมเรียนรู้พลวัตสังคมนั้น

จงยึดมั่นนิติธรรมที่ท่านเรียน

แต่ความจริงที่กระผมพบประสบ

ความถอยถดหดหายที่ท่านเขียน

ไหนล่ะความยุติธรรมที่พากเพียร

เห็นแต่เพียงผู้สูญสิ้นจิตวิญญาณ

327 คือวันที่ผมอยู่

น่าอดสูสูญโอกาสศาสตร์ศึกษา

ถูกพรากจากครอบครัวคนรักมา

เพียงคิดไกลวิพากษ์วรรณะไทย

ถามถึงท่านตุลาการผู้ลงทันฑ์

สิทธิประกันปรากฏจริงได้ไม๊ (ทำเสียงสูง)

นิติธรรมปกครองธรรมนูญไทย

แต่ไฉนผมไม่ได้สิทธิประกัน? (ทำเสียงงง)

แม้กระนั้นเรื่องราวยังไม่จบ

ต้องประสบปัญหาใหญ่เกินฝัน

สุดท้ายนี้ฝันถึงความยุติธรรม์ (ทัณฑ์)

ยากเห็นมันไม่ล้าหลังถ้ายังคดเอียง (ไล่เสียงจนกระแทกเสียงคำสุดท้าย)

_____________________

จดหมายจากขนุนถึงงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75

สวัสดีทุกคนที่ฟังอยู่นี่คือเสียงจากเพื่อนเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร วันนี้คงเป็นวันแรกในรอบห้าปีที่งานนี้ได้กลับมาจัด ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงมากมายก็ตาม กลอนที่เราเขียนถึงเราแค่อยากให้ทุกคนทบทวนความจำว่าตั้งแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ เราทำอะไรไปบ้างและเพื่ออะไรบ้าง ปลายทางของเราคือรับใช้ประชาชนและมันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น หวังว่าในเร็ววัน ความยุติธรรมจะกลับมาและสังคมแห่งอุดมการณ์ที่เราใฝ่ฝันจะได้รับการปฏิรูปและปรากฏจริงในรุ่นเรา

ก่อนจากกันก็อย่าลืมเพื่อนที่จำใจต้องไกลบ้าน และเพื่อนที่จำจากจากความยุติธรรม (บุ้ง เนติพร) อีกทั้งคดีทางการเมืองอีกมากมายในสังคม มันเป็นความไม่เป็นธรรมแรกที่เราได้รับ และมันต้องเป็นความเป็นธรรมแรกที่ต้องปรากฏ หวังว่าความยุติธรรมจะไม่ปรากฏเพียงแค่คนสกุลชิน และหวังว่าก้าวต่อไปของเราจะเป็นก้าวเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

แด่ผู้ต่อสู้ทางการเมืองทุกคน

ด้วยความคิดถึง 

ขนุน สิรภพ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 4

.

ย้อนอ่านข่าวและบทความ

“ขนุน” อดอาหารเข้าวันที่ 4 ย้ำไม่ได้เพียงเรียกร้องสิทธิประกันตัว แต่เรียกร้องอิสรภาพที่ถาวรให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง

“ขนุน สิรภพ” ประกาศเริ่มอดอาหารในเรือนจำ ประท้วงไม่ได้รับการประกันตัว 333 วัน

X