หลังจากเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาจำคุก อำไพ (นามสมมติ), สมเกียรติ รัตนาวิบูลย์ และเกศศิรินทร์ วุฒิวงศ์ คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และจำคุกบุญล้อม จันทร์เพ็ง 4 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ในคดีจากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ที่หน้าสนามราษฎร์ (สนามหลวง) ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564
คดีนี้จำเลยถูกจับกุมบริเวณหน้าศาลฎีกา ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยมีชุดเจ้าหน้าที่วิ่งเข้าไล่จับกุมผู้ชุมนุม ต่อมา พนักงานอัยการยื่นฟ้องทั้งสี่ต่อศาลอาญาในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 216 และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มีเพียงบุญล้อม จำเลยที่ 3 ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ อีก 1 ข้อหา
จำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง อำไพระบุว่า เขาไปตามหาลูกชายที่ไปเล่นสเก็ตบอร์ดที่สนามหลวงเพื่อรับกลับบ้าน ส่วนเกศศิรินทร์เบิกความต่อศาลว่า ตนไปที่ชุมนุมเพื่อรับอาหารเท่านั้น สมเกียรติเองแม้ไปร่วมชุมนุม แต่เขาเพียงแต่ยืนดูเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ลง
แต่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง และลงโทษจำคุกทั้ง 4 คน คนละ 2-4 ปี ระบุเหตุผลในการวินิจฉัยว่า เนื่องจากพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า หลังผู้ชุมนุมใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ลง พบจำเลยทั้งสี่ยืนบริเวณแนวหน้าของผู้ชุมนุม และเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยทุกรายไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน
ผลคำพิพากษาที่ค่อนข้างหนักหน่วงสำหรับประชาชนธรรมดาที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำทั้ง 4 ราย แม้ว่าพวกเขาจะได้ประกันตัว และยังมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา แต่ความไม่เข้าใจ ตลอดจนความกังวลใจต่ออนาคตก็ยังคงอยู่กับพวกเขาไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนฟังบรรยากาศการสืบพยานในคดีนี้ ผ่านคำบอกเล่าของทนายความซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายจำเลย ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจผลคำพิพากษามากขึ้น
.
อาทิตย์แรกของการสืบพยาน บรรยากาศตึงเครียด ศาลให้ตามจำเลยมาศาล – ไม่บันทึกคำถามค้านของทนายจำเลย
ในวันแรกของการสืบพยานซึ่งจำเลยไม่ได้มาศาล เนื่องจากยื่นขอสืบพยานลับหลังไว้แล้ว ศาลถามทนายจำเลยทำนองว่า “จะสู้คดีใช่ไหม” ทนายจำเลยต่างก็ยืนยันว่า จำเลยต้องการที่จะสู้คดี โดยเชื่อว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงพูดกับทนายทำนองว่า “ศาลเห็นว่าคดีลักษณะนี้ถ้ารับสารภาพจะเป็นประโยชน์มากกว่านะ ศาลดูสำนวนแล้วค่อนข้างชัด การชุมนุมก็ไม่สงบ” จากนั้นศาลได้ให้ทนายโทรตามจำเลยทุกคนมาศาล เพื่อที่ศาลจะได้คุยกับจำเลย
ทนายจำเลยพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยเพิ่มเติมว่า จำเลยทุกคนคือชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไป วันเกิดเหตุถูกจับมาแบบหว่านแห ศาลรับฟังแล้วตอบกลับทำนองว่า “การชุมนุมไม่สงบ แต่คุณก็ยังไปอยู่ในที่ชุมนุม”
ทนายเล่าว่า จำเลยหลายคนประกอบอาชีพที่ไม่สามารถหยุดหรือลางานแบบปุบปับได้ ไม่ขอหัวหน้าลางานพรุ่งนี้ แล้วก็โอเคไปได้เลย บางคนคนก็หาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถแจ้งแล้วก็มาศาลได้ทันที
ในช่วงครึ่งเช้าก่อนเริ่มสืบพยาน ทนายจำเลยแต่ละรายจึงต้องโทรหาจำเลยต่อหน้าศาลเพื่อสอบถามว่า มาศาลได้หรือไม่ เพื่อให้ศาลเชื่อว่า จำเลยไม่สามารถมาศาลได้จริง ๆ โดยหลักแล้วเหตุผลคือไม่สามารถลางานกะทันหันได้ บางรายอยู่ต่างจังหวัด เกศศิรินทร์ จำเลยที่ 4 ก็มีนัดหมายกับโรงพยาบาลก่อนหน้าที่ศาลจะนัดสืบพยานแล้ว
ศาลถามว่า จำเลยเลื่อนนัดโรงพยาบาลได้ไหม ทนายจำเลยจึงชี้แจงว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้พิการทางการได้ยิน เพราะเคยติดเชื้อไข้สมองอักเสบทำให้สูญเสียการได้ยิน แต่ยังคงพูดได้ มีฐานะยากจน และนัดที่บอกกับศาลไป เป็นนัดที่นัดมานานมาก ๆ กว่าที่เขาจะได้คิว
สุดท้ายแล้วศาลก็ยอมให้จำเลยมาศาลตามนัดที่จำเลยสะดวก แต่ผู้พิพากษาคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “นี่ศาลอะลุ่มอล่วยที่สุดแล้ว จริง ๆ แล้วไม่ควรจะเป็นอย่างงี้นะ คือจำเลยมีสิทธิ แต่ทางอัยการโจทก์ก็มีสิทธิของเขาด้วย”
ทนายจำเลยเล่าอีกว่า ในวันนั้นศาลกล่าวตำหนิจำเลยผ่านทนายมาเยอะ เช่น จำเลยเป็นคู่ความมีหน้าที่ต้องมาศาล จำเลยไม่มาดูสืบพยาน แล้วทนายจะทำหน้าที่ยังไง
นอกจากนี้ ในการสืบพยานอัยการโจทก์มักจะถามคำถามนำพยาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐว่า เหตุการณ์วันเกิดเหตุรุนแรงใช่ไหม ให้ทุกคนยืนยันว่า เหตุการณ์วุ่นวาย รุนแรง ขณะที่ทนายจำเลยพยายามค้านที่อัยการถามนำและขอไม่ให้ศาลบันทึก แต่ศาลตอบว่า “ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” และไม่ได้ห้ามปรามอัยการจริงจัง บอกเพียงว่า อัยการอย่าถามนำเยอะ
หรือบางทีศาลก็ถามนำแทนอัยการเลย เช่น เหตุการณ์วุ่นวายใช่ไหม เหมือนศาลเห็นภาพคดีนี้มาตั้งแต่วันแรกแล้วว่าจะไปทางไหน โดยฝ่ายจำเลยยังไม่ได้นำสืบให้เห็นข้อมูลอีกด้าน
มีช่วงหนึ่งอัยการเดินไปคุยกับผู้พิพากษาในทำนองว่า เห็นชัดกันอยู่แล้ว พยานก็เบิกความว่าเห็นจำเลย ซึ่งผู้พิพากษาก็พูดว่า “มันชัดแล้ว”
ขณะที่ทนายจำเลยพยายามเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลในขณะถามค้านพยานโจทก์ว่า จำเลยเป็นประชาชนทั่วไป วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็ล้อมจับประชาชนและทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่ใน 3 วันแรกที่จำเลยยังไม่สามารถมาศาลได้ ศาลแทบจะไม่บันทึกไว้เลย
“มันมีจังหวะที่ทนายจำเลยถามค้าน คฝ. ว่า วันนั้นมีการจับเป็นวงกว้างมาก ไปจนถึงสะพานวันชาติที่อยู่ห่างไปไกล แค่อยากให้ศาลรับฟังว่า มันมีการปฏิบัติหน้าที่ระดับนั้นจริง ๆ แต่ศาลตัดบทว่า พยานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เขาจับอีกที่ เขาเห็นอีกที่ ไม่ได้ไปตรงนั้น ไม่เกี่ยว ๆ ตัดไปเลย”
นอกจากนี้ ทนายจำเลยยังพยายามถามถึงพยานหลักฐานที่ชัดเจนจากพยานโจทก์ ทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ภาพจากกล้องของตำรวจ แต่พยานก็ยืนยันแค่ว่า การชุมนุมมีความวุ่นวาย จำเลยอยู่ในพื้นที่ก็ถือว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่บอกให้เลิกชุมนุมก็ไม่เลิก โดยไม่มีภาพที่เห็นจำเลยชัดเจน แม้ว่าพยานที่เป็น คฝ. ทุกคนตอบทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุเขามีกล้อง แต่เมื่อขอให้ส่งภาพจากกล้อง พยานบอกว่า ส่งไม่ได้ กล้องถ่ายภาพไม่ได้ เพราะราคาถูก ศาลก็บอกว่า เข้าใจได้ งบอาจจะน้อย
ครั้งหนึ่งศาลพูดทำนองว่า ทนายจำเลยมีหน้าที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยด้วยว่า ไม่ได้ทำผิด ซึ่งทนายจำเลยเห็นว่า ขัดกับหลักกฎหมาย ซึ่งในคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่เป็นผู้พิสูจน์ความผิดของจำเลย แล้วจำเลยแต่ละคนก็แค่ไปชุมนุม ไม่ได้ถ่ายอะไรเก็บไว้ จึงค่อนข้างยากว่าจะเอาอะไรไปยืนยัน แต่ในขณะเดียวกันฝั่งโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทำอะไร อาศัยคำพูดของพยานล้วน ๆ
.
อาทิตย์ที่สอง จำเลยปรากฏตัวต่อศาล ยืนยันต่อสู้คดี
เมื่อจำเลยทั้งสี่ปรากฏตัวต่อศาลในสัปดาห์ที่สองของการสืบพยาน ศาลให้ทนายจำเลยอ่านฟ้องให้กับจำเลยฟังอีกครั้ง เหมือนต้องการที่จะทวนให้จำเลยเข้าใจพฤติการณ์และข้อหาที่เขาถูกฟ้องในคดีนี้จริง ๆ เพื่อที่จะยืนยันกับศาลว่า จำเลยเข้าใจคำฟ้องแล้ว และยืนยันให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง โดยไม่ได้ต่อสู้เพราะถูกทนายชักจูง
หลังจำเลยยืนยันที่จะสู้คดีและบอกข้อต่อสู้ของตนเอง ศาลก็บอกความเป็นไปได้ของคดีว่า ถ้าจำเลยรับสารภาพผลจะเป็นยังไง ศาลจะทำอะไรได้บ้าง เช่น ลดโทษ รอลงอาญา และถ้าจำเลยสู้คดีผลจะเป็นแบบไหน จะไม่ได้รับประโยชน์ในทางคดียังไง พร้อมทั้งยกตัวอย่างคดีที่พฤติการณ์ใกล้เคียงกัน แต่จำเลยทั้งสี่ยังคงยืนยันต่อสู้คดี
การสืบพยานในสัปดาห์ที่สองและสาม ผู้พิพากษาต้องแยกองค์คณะ ทำให้สถานการณ์ในห้องพิจารณาดูจะลดความตึงเครียดลง ศาลเริ่มมีท่าทีรับฟังจำเลยและจดประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อถึงนัดสืบพยานจำเลย ฟังจำเลยแต่ละคนเบิกความแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาก็ดูเหมือนจะเข้าใจจำเลยและเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุมากขึ้น ท่าทีของศาลในวันนั้นก็ทำให้ทนายจำเลยมีความหวังว่าศาลอาจจะยกฟ้องได้บ้าง
อย่างอำไพเบิกความว่า วันเกิดเหตุเขาได้ไปทำงานตามปกติ เลิกงานช่วง 6 โมงเย็น ก่อนหน้านั้นลูกชายบอกว่า จะไปเล่นสเก็ตบอร์ดที่สนามหลวง ซึ่งในวันนั้นมีการชุมนุม ด้วยความเป็นห่วงเขาจึงไปหาลูกชาย ถึงสนามหลวงประมาณ 1 ทุ่ม เห็นผู้ชุมนุม แต่ยังไม่เห็น คฝ. เขาเดินตามหาลูกชายไปถึงหน้าศาลฎีกา ยังไม่พบลูกชาย พบแต่ตู้คอนเทนเนอร์ จึงเดินข้ามถนนราชดำเนินในเพื่อไปยังสนามหลวง ห่างจากแนวตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 20 – 30 เมตร
เมื่อถึงฟุตบาท อำไพเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งออกมาจากบริเวณตู้คอนเทนเนอร์ และเห็น คฝ. ใช้กำลังกับผู้ชุมนุม เขาจึงวิ่งถอยตามกลุ่มผู้ชุมนุมไปด้วย แต่ คฝ. ใช้กำลังเข้าตีและควบคุมตัวเขาไปหลังตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างนั้นเขาดิ้นรนขัดขืนการจับกุม แต่ไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายหรือขว้างปาสิ่งของใส่ คฝ.
ส่วนสมเกียรติเบิกความว่า เขาเคยไปเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบมาก่อน เมื่อทราบจากเฟซบุ๊กว่าวันเกิดเหตุจะมีการชุมนุมจึงไปร่วมการชุมนุม โดยถึงสนามหลวงประมาณบ่ายสอง ยืนดูคนเล่นว่าว เล่นสเก็ตบอร์ด และขี่จักรยาน เห็นว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และทราบว่า ช่วงดังกล่าวมีการประกาศเคอร์ฟิว ทุกคนต้องกลับเข้าบ้านตอน 3 ทุ่ม
ประมาณ 5 – 6 โมงเย็น เขาได้ยินเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ลง แต่ไม่ได้ยินประกาศจาก คฝ. ให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านหรือให้ยุติการชุมนุม หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 – 30 คน ดึงตู้คอนเทนเนอร์ลง เขาก็เห็น คฝ. ฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนั้น จากนั้นเขาถูกผลักให้ล้มลง และมี คฝ. เข้าจับกุมบริเวณสะพาน ซึ่งอยู่ห่างจากตู้คอนเทนเนอร์มาก
ด้านเกศศิรินทร์เบิกความว่า เธอเป็นผู้พิการทางการได้ยินมาตั้งแต่ปี 2551 จากการติดเชื้อไข้สมองอักเสบ วันเกิดเหตุเธอทราบว่าจะมีการชุมนุมจากการดูโทรทัศน์ จึงนั่งรถเมล์ไปเพื่อไปรับอาหาร ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประมาณบ่ายสาม จึงเดินต่อไปที่สนามหลวงและไปที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นจุดแจกอาหาร
ในวันนั้นนอกจากไปรับอาหารแล้วเธอก็ไม่ได้ไปรวมกลุ่มกับกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของใส่หรือทำร้าย คฝ. แต่อย่างใด เมื่อเธอเห็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับ คฝ. และมีกลุ่มควันที่ทำให้แสบตา เกศศิรินทร์จึงพยายามหาทางกลับบ้าน โดยเดินไปทางโรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่เห็นว่ามีตำรวจสวมชุดสีดำยืนปิดถนนอยู่ จึงรู้สึกกลัวและเดินกลับมาจุดเดิมที่มีการแจกอาหาร
ก่อนเธอถูกตำรวจผู้หญิงสวมชุดสีน้ำเงินควบคุมตัว โดยเธอไม่ได้ขัดขืนหรือด่าทอตำรวจ เพียงแต่ถามว่า ทำไมถึงจับ เพราะเธอกำลังจะกลับบ้าน แต่ตำรวจหญิงไม่ตอบ และนำตัวเธอขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไป
.
ผลคำพิพากษาน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่แปลกใจ
เมื่อถึงวันฟังคำพิพากษา อำไพ, สมเกียรติ และเกศศิรินทร์ ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และบุญล้อม ถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้องในทุกข้อหา คำพิพากษาโดยสรุปบางตอนระบุว่า
พยานโจทก์เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ไล่ตีตำรวจ ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่รวมกับผู้ชุมนุมที่ด่าทอและปาของใส่ หลังผู้ชุมนุมใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ได้แล้ว พบจำเลยทั้งสี่ยืนบริเวณแนวหน้าของผู้ชุมนุม ซึ่งการเบิกความของพยานโจทก์นั้นสอดคล้องกันและสอดคล้องกับบันทึกคำให้การให้ชั้นสอบสวนด้วย…
ในส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามารับลูกชายที่มาเล่นสเกตบอร์ดในบริเวณใกล้เคียง จำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า ไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมการชุมนุม และจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่าไปรับอาหารที่แจกในที่ชุมนุม ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยทุกรายไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจสืบพยาน…
พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเบิกความว่า จำหน้าคนร้ายซึ่งคือจำเลยที่ 3 ได้ ศาลเห็นว่า พยานเห็นจำเลยที่ 3 ในระยะ 3-5 เมตร ในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ใช้ไม้ตีศีรษะทำให้พยานบาดเจ็บ …
ทนายจำเลยเปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า “รู้สึกผิดหวังและสับสน แต่ก็ไม่แปลกใจ” ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะมีความหวังอยู่บ้างว่า ศาลอาจจะยกฟ้องในบางข้อหา แต่ก็ไม่แปลกใจที่ผลออกมาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่
พวกเขาเห็นว่า ศาลไม่ได้ให้น้ำหนักกับข้อเท็จจริงที่ทนายจำเลยนำสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยร่วมชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง และการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ในวันนั้นกระจายไปในวงกว้างและรุนแรงเกินกว่าเหตุ ศาลให้น้ำหนักแต่ประเด็นว่า ความรุนแรงและความวุ่นวายเกิดขึ้นจากฝั่งผู้ชุมนุม ทั้งจำเลยที่ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในเหตุการณ์เพียงใด ก็ไม่ได้มีหลักฐานจากโจทก์แน่ชัด
พวกเขายังรู้สึกไม่เข้าใจว่า คำพิพากษาคดีนี้มุ่งคุ้มครองเรื่องใดกันแน่ เพราะคำพิพากษามีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทำให้อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนในอนาคต โดยเฉพาะการชุมนุมบริเวณสนามหลวง
.
.
สุดท้ายทนายจำเลยเปิดเผยความรู้สึกว่า เป็นการต่อสู้คดีที่หนักหน่วง นอกจากจะต้องว่าความสู้คดีแล้วยังต้องสู้กับใจตัวเองตลอดเวลาในการรับมือกับความกดดันจากองค์คณะผู้พิพากษาที่ดูเหมือนปักใจเชื่อตั้งแต่แรกว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ถึงแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทุกราย จำเลยและทนายความยังยืนยันจะต่อสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ต่อไป