บันทึกการต่อสู้คดี 112 ของ “บังเอิญ” เหตุโพสต์ภาพครอบครัว ร. 10 ยืนยันไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ งานศิลปะมีอิสระในตนเอง และมุมมองงานศิลปะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน

29 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระชาวขอนแก่นวัย 26 ปี ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 โดยในคดีนี้มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา

ที่มาที่ไปของคดีนี้ ย้อนไปเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 เม.ย. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าบังเอิญ ผู้เคยถูกดำเนินคดีจากการพ่นสีสเปรย์แสดงออกทางการเมืองที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาภายในปั๊มน้ำมันย่านบางบัวทอง ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยชุดจับกุมเป็นตำรวจจาก บก.ปอท. และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวม 10 นาย ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 

พ.ต.ท.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีและข้อกล่าวหาต่อบังเอิญ โดยพบว่ามี อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้แจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 กรณีการโพสต์รูปภาพครอบครัวของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่งอานนท์เห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10 บังเอิญได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

นอกจากนั้นยังพบว่าระหว่างสอบสวนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงคำสั่งของศาลอาญาเพื่อเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างเหตุจากคดีพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวังของ สน.พระราชวัง ว่ามีการร้องขอให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานทางเทคโนโลยี แต่บังเอิญได้ปฏิเสธการให้รหัสใด ๆ กับเจ้าหน้าที่

วันต่อมา (7 เม.ย. 2566) พนักงานสอบสวนได้นำตัวบังเอิญไปยังศาลอาญาเพื่อยื่นขอฝากขัง ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างเหตุเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัวหลังทนายความยื่นขอประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์ 90,000 บาท 

28 มิ.ย. 2566 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบังเอิญต่อศาลอาญาในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5) บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 จําเลยได้โพสต์รูปภาพเป็นพื้นหลังของเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมคำบรรยายภาพ โดยเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีการดัดแปลงตกแต่งรูปให้ผิดไปจากรูปภาพเดิม ด้วยการนําหน้ากากมาใส่บนพระพักตร์

อัยการระบุว่า รูปภาพและข้อความดังกล่าวทําให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจความหมายว่า รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ มีความคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เสียสติคล้ายคนบ้า ใช้อํานาจมนต์ดํา ใช้อํานาจมืด ปกครองบ้านเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

ชั้นพิจารณาของศาลบังเอิญก็ได้รับการประกันตัวเช่นกัน โดยให้เพิ่มเงินประกันเป็น 180,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์เช่นเดิม

บังเอิญยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมา ศาลอาญาจึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 2 นัด ในระหว่างวันที่ 26 – 27 พ.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 3 ปาก ได้แก่ อานนท์ กลิ่นแก้ว (แกนนำกลุ่ม ศปปส. ผู้กล่าวหา), พ.ต.ท.เอกคณิต เนตรทอง (ฝ่ายสืบสวน ปอท.) และ พ.ต.ต.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ (พนักงานสอบสวน ปอท.) ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 1 ปาก คือ “บังเอิญ” (จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน) 

โดยฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีว่า เป็นผู้โพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาและจุดมุ่งหมายตามที่โจทก์ฟ้อง งานศิลปะดังกล่าวมีอิสระในตนเอง มุมมองของงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตแต่ละคน ส่วนข้อความที่ใส่ลงไปในภาพนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับภาพ จะต้องวิเคราะห์ทั้งข้อความและภาพประกอบกัน 

อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหา เบิกความว่า พยานกล่าวหาผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง เนื่องจากมีรูปพระบรมวงศานุวงศ์ปรากฏในเฟซบุ๊ก พยานเห็นแล้วรู้ว่าในภาพมีรัชกาลที่ 9 ซึ่งอยู่ตรงกลาง และรัชกาลที่ 10 ที่ยืนอยู่ลำดับที่สาม และเมื่ออ่านข้อความประกอบซึ่งเป็นชื่อภาพว่า “วิปลาศ อำนาจ มนต์ดำ” พยานเห็นว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย เพราะในภาพมีรัชกาลที่ 10 อยู่ด้วย และภาพสื่อความหมายว่ารัชกาลที่ 10 ปกครองประเทศด้วยอำนาจ มนต์ดำ 

หลังจากนั้นพยานไปค้นหารูปที่ใกล้เคียงกันเพื่อนำมาเปรียบเทียบ และพบว่าเป็นภาพเดียวกัน แต่มีการดัดแปลงโดยใส่หน้ากากและลบฉากด้านหลังออก ซึ่งพยานเห็นว่าการดัดแปลงภาพของจำเลยทำให้รัชกาลที่ 10 และบรมวงศานุวงศ์เสื่อมเสียพระเกียรติ และเป็นการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ ผู้ใดจะหมิ่นประมาทไม่ได้

พยานเห็นว่า มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของชาติ โดยบัญญัติไว้ว่าประชาชนจะดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ถ้าเป็นคนไทยปกติก็จะไม่ทำกัน แต่คนไทยหัวใจวิปลาศทำ

จากนั้น พยานนำโพสต์ดังกล่าวไปแจ้งความ โดยให้ตำรวจช่วยสืบหาผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว ก่อนไปแจ้งความพยานไม่รู้จักจำเลยมาก่อน อย่างไรก็ตาม พยานรู้จักจำเลยจากในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากปรากฏงานภาพวาดของจำเลยหลายอย่าง และเห็นว่าจำเลยมีพฤติกรรมวาดรูป ราชวงศ์จักรีโดยมีการดัดแปลงรูปของอยู่บ่อยครั้ง พยานไปแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยหลายครั้ง แต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน

อานนท์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยไปดูงานศิลปะ งานแสดงภาพเขียนหรือภาพถ่าย ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีการเขียนคำบรรยายภาพประกอบด้วย พยานเคยเห็นงานภาพถ่าย แต่ไม่เคยเห็นการนำรูปในหลวงมาทำเช่นนี้

ทนายจำเลยถามพยานว่า คนทั่วไปหากดูภาพถ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาพในคดีนี้แล้วสามารถมีความเห็นต่อภาพที่แตกต่างกันได้หรือไม่ พยานตอบว่า มองไปก็เป็นภาพถ่ายเหมือนเดิม พยานเห็นว่าคนไม่ได้คิดแตกต่างกัน ส่วนภาพในคดีนี้เป็นไปตามที่พยานให้การ แต่ไม่ทราบว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร อาจคิดแตกต่างกันก็ได้ และไม่ทราบว่าภาพพระบรมวงศานุวงศ์ที่จำเลยนำมาดัดแปลงมีอายุกี่ปีแล้ว 

ปัจจุบันพยานเป็นเจ้าของบริษัทตกแต่งภายใน และประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ซึ่งพยานเป็นคนก่อตั้งเมื่อปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มประมาณ​ 50-60 คน รวมไปถึงกัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล (พยานโจทก์อีกปากที่ไม่ได้เข้าเบิกความ) ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม แต่ปัจจุบันออกจากกลุ่มไปแล้ว พยานเคยไปแจ้งความมาตรา 112 มาแล้วมากกว่า 100 คดี 

ในปี 2567 พยานไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาในคดีมาตรา 112 กรณีร่วมจัดทำและร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของ Lazada ซึ่งทราบว่าต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ในคดีที่พยานไปกล่าวหากว่า 100 คดี ศาลพิพากษาจำคุกไปแล้วประมาณ 50 คดี ยกฟ้องแค่ 2 คดี จำเลยลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็มี

ทนายถามพยานว่า กิจกรรมของกลุ่ม ศปปส. นอกจากการไปแจ้งความคดีมาตรา 112 และไปรวมตัวกันในวันสำคัญแล้ว มีการไปแสดงออกที่เป็นความรุนแรงบ้างหรือไม่ พยานตอบว่า มี และศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ในวันนั้นพยานไปรอรับเสด็จและให้แอดมินเพจโพสต์เชิญชวน มีผู้แชร์ว่าจะไปด้วย และพยานทำร้ายเขา จากนั้นศาลพิพากษาลงโทษ

ข้อความประกอบภาพไม่มีคำว่า ปกครอง แต่พยานเห็นว่าคำว่า วิปลาศ อำนาจ มนต์ดำ เป็นคำหยาบคายเพราะใช้กับกษัตริย์ ซึ่งคำด่าหรือคำหยาบคายไม่ควรที่จะมาอยู่ในโพสต์นี้ เนื่องจากเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์

ทนายถามพยานต่อว่า บุคคลในภาพที่จำเลยโพสต์ปรากฏใบหน้าที่ชัดเจนหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นการนำเอารูปภาพมาดัดแปลงจะมีใครดูไม่ออกบ้างหรือไม่ 

จากการติดตามดูในเฟซบุ๊ก จำเลยนำรูปภาพมาดัดแปลง ซึ่งพยานไปแจ้งความหลายครั้งแล้ว พยานเห็นว่าจำเลยมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ แต่จนถึงวันนี้พยานยังรักและเคารพสถาบันกษัตริย์ไม่เสื่อมคลาย แต่ถ้าหากมีใครจาบจ้วง ก็จะแจ้งความทันที

อานนท์ตอบอัยการโจทก์ถามติงอีกว่า โพสต์ของจำเลยในคดีนี้ นอกจากคำว่าอำนาจ วิปลาศ มนต์ดำแล้ว ยังมีคำอื่นอีกคือ ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร ศิลปะปลดแอก และเผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ ซึ่งพยานอ่านแล้วเข้าใจว่า จำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ 

ศิลปะปลดแอก เป็นชื่อกลุ่มสามกีบต่อต้านสถาบันกษัตริย์กลุ่มหนึ่ง ส่วนคำว่า ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร คือการนำเอาศิลปะมาเรียกร้องความเท่าเทียม อยากให้กษัตริย์เท่าเทียมกับประชาชนด้วย คือจะไม่มีการเป็นขี้ข้ากัน และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อความเท่าเทียม

ส่วนคำว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ พยานเข้าใจว่ามีความหมายว่า กษัตริย์เป็นเผด็จการ ทำอะไรตามใจตนเอง คำว่า จงพินาศ เป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนคำว่า ประชาราษฎร์จงเจริญ คือจะเท่าเทียมกันในแผ่นดิน

.

พ.ต.ท.เอกคณิต เนตรทอง ฝ่ายสืบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.1 บก.ปอท.)  

พยานเบิกความว่า ได้รับเอกสารแต่งตั้งเป็นชุดสืบสวนให้สืบสวนกรณีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง สืบเนื่องจากมีผู้มาแจ้งความกรณีการโพสต์ข้อความและภาพที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 โดยผู้กล่าวหาได้นำภาพโพสต์ดังกล่าวมามอบให้กับพนักงานสอบสวน 

จากนั้นเดือน มี.ค. 2566 พยานตรวจสอบพบว่า มีการโพสต์ภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นการโพสต์แบบสาธารณะ คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จากการตรวจสอบจากพยานแวดล้อม พบว่าก่อนหน้านั้นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ภาพตนเองไว้ เมื่อตรวจสอบก็สามารถยืนยันอัตลักษณ์ได้ และพบว่าคือจำเลย หลังเกิดเหตุในคดีนี้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวก็มีการไลฟ์สดโดยเห็นเป็นใบหน้าจำเลยด้วย 

พยานเห็นว่า ภาพที่ถูกกล่าวหาน่าจะมีภาพต้นฉบับอยู่ในโซเชียลมีเดียทั่วไปก่อนที่จำเลยจะโพสต์ จากการตรวจสอบพบว่า ภาพต้นฉบับเป็นภาพพระบรมวงศานุวงศ์ จึงเชื่อได้ว่าภาพนี้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

พยานเห็นว่า ภาพที่จำเลยโพสต์มีการต่อเติมและดัดแปลงให้ภาพมีลักษณะน่ากลัว มีการตกแต่งเพิ่มที่ใบหน้าในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และเป็นภาพขาวดำ ไม่ใช่ภาพสีเหมือนกับต้นฉบับ มีการเปลี่ยนสีบริเวณใบหน้าและปากให้มีความอึมครึม ซึ่งในภาพดังกล่าวมีภาพของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อีกทั้งมีการโพสต์ข้อความประกอบซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจำเลย เช่น #ศิลปะปลดแอก #ศักดินาจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ #ยกเลิก112 เป็นต้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์

พยานเห็นว่า ข้อความประกอบภาพทำให้เข้าใจว่ากษัตริย์เป็นเผด็จการ ภาพที่โพสต์ค่อนข้างน่ากลัว สื่อไปถึงการอาฆาตมาดร้ายได้ แม้ไม่ได้มีข้อความที่เป็นการดูหมิ่นที่ชัดเจน แต่เป็นการใช้ภาพที่รุนแรง ซึ่งถึงแม้จำเลยจะมีการปิดบังใบหน้าบุคคลในภาพ แต่พยานก็ทราบได้ว่าเป็นใคร เช่น กษัตริย์องค์ปัจจุบันยืนอยู่ลำดับที่สามจากขวา และรัชกาลที่ 9 นั่งอยู่ลำดับที่สองจากขวา เป็นต้น 

หลังจากที่พยานสืบสวนจนทราบตัวจำเลยแล้ว หลังจากนั้นมีการออกหมายจับ และพยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.เอกคณิต ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จากการสืบสวนทราบว่า จำเลยทำงานศิลปะ และทำกิจกรรมอยู่กลุ่มศิลปะปลดแอก โดยมีการเปลี่ยนกลุ่มไปเรื่อย ๆ พยานทราบด้วยว่า นอกจากในคดีนี้แล้ว จำเลยถูกดำเนินคดีพ่นสีวัดพระแก้วในข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งไม่ใช่คดีมาตรา 112 แต่ไม่ทราบผลคดี

จากคอมเมนต์ของจำเลยใต้โพสต์ตามฟ้องว่า ฝากผลงาน Dark Art, Punk Art ของผมด้วยนะครับ พยานไม่เข้าใจประโยคดังกล่าวมากนัก แต่เข้าใจว่าเป็นศิลปะด้านมืด แนวมืดดำ และในความรู้สึกแรกของพยานที่เห็นภาพ พยานเห็นแล้วรู้สึกไม่ดี พยานไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทำภาพดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ใด และเมื่อดูภาพนี้แล้ว พยานก็ยังมีความเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์

.

พ.ต.ต.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ พนักงานสอบสวน (กก.1 บก.ปอท.) เบิกความว่า พยานเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเนื่องจากมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยพยานได้รับมอบคดีมาจาก พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ ปุริสาย พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความพร้อมพยานหลักฐานเป็นรูปภาพ 

พยานเห็นว่า ภาพที่ถูกกล่าวหาเป็นรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีลักษณะถูกดัดแปลงรูปทุกพระองค์ ภาพดังกล่าวปรากฏในเฟซบุ๊กของจำเลย มีชื่อภาพว่า วิปลาศ อำนาจ มนต์ดำ พร้อมกับมีข้อความประกอบภาพ และเมื่ออ่านดูแล้วเห็นว่าเป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ว่าวิปลาศ ใช้มนต์ดำในการปกครองประเทศ

ส่วนข้อความประกอบด้านล่างคำว่า ศิลปะปลดแอก และ เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ พยานเห็นว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การที่จำเลยโพสต์เช่นนี้ทำให้คนเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบเผด็จการ อาจกระทบกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่กษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ภาพต้นฉบับที่ไม่มีการดัดแปลงเห็นได้ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย ในภาพที่มีการแก้ไขดัดแปลงมีการใส่หน้ากากเพิ่มเข้าไป แต่ยังทราบได้ว่าเป็นรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 

หลังจากนั้นฝ่ายสืบสวนซึ่งนำโดย พ.ต.ท.เอกคณิต เนตรทอง ได้ทำการสืบสวนเพื่อยืนยันตัวบุคคลจนทราบชื่อผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

ช่วงที่พยานรับสำนวนคดีนี้มาก็มีข่าวของจำเลยเรื่องการไปพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง จากนั้นพยานได้ไปขอออกหมายจับจำเลย เมื่อจับได้แล้วเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ส่งตัวจำเลยให้กับพยาน พยานแจ้งสิทธิ และแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 โดยจำเลยมีทนายความอยู่ร่วมด้วย หลังจากนั้นพยานสรุปสำนวนคดีโดยมีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง ตามเหตุที่เบิกความไปข้างต้น

พ.ต.ต.เครือณรงค์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คณะพนักงานสอบสวนเป็นผู้เลือกพยานความเห็นในคดีนี้ ได้แก่ กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล และคมสัน โพธิ์คง พยานไม่ใช่ผู้เลือก ซึ่งทั้งสองคนจะมีแนวคิดเดียวกันกับอานนท์ ผู้กล่าวหา หรือไม่ พยานไม่ทราบ เนื่องจากไม่ใช่คนสอบปากคำพยานทั้งสอง แต่จากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน พยานทั้งสองคนให้การในทำนองเดียวกัน

พยานไม่ทราบว่า ถ้อยคำว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ นั้น เป็นถ้อยคำที่ผู้ชุมนุมใช้ในการชุมนุมคัดค้านรัฐาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร และไม่ทราบอีกว่า เป็นคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ ที่กล่าวในช่วงรับบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พยานเบิกความว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น แต่บางช่วงประเทศไทยมีการรัฐประหาร และไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนบางกลุ่มเรียกว่าเป็นเผด็จการ ตามความเข้าใจของพยาน คำว่า ประชาธิปไตย หมายถึง การที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในช่วงที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ ไม่มีการเลือกตั้งนั้นเรียกว่าเป็นระบอบอะไร พยานไม่ทราบ

คำว่า เผด็จการ ในความเห็นของพยานหมายถึง การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในตัว และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น กษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ คนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศคือนายกรัฐมนตรี

เมื่อพยานอ่านข้อความ “วิปลาศ อำนาจ มนต์ดำ” แล้วมีความเห็นว่า ถ้าหากจำเลยโพสต์ข้อความเพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อมีภาพประกอบ พยานก็เชื่อไปแล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริงว่ามีการใช้อำนาจแทรกแซง คำว่า “อำนาจ” พยานไม่เข้าใจว่าการใช้อำนาจแทรกแซงคืออะไร ในคำว่า “วิปลาศ” พยานไม่ทราบว่าใครวิปลาศ และคำว่า “มนต์ดำ” พยานไม่ทราบว่าใครทำมนต์ดำ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ 

ปัจจุบันพยานศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และมีความเคารพเลื่อมใสต่อสถาบันกษัตริย์ไม่เปลี่ยนแปลง 

.

บังเอิญ จำเลย อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า  ปัจจุบันพยานประกอบอาชีพรับจ้างช่วยกิจการไอศกรีมของบิดา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จาก กศน. บางคอแหลม กรุงเทพมหานคร มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดขอนแก่น แต่มาใช้ชีวิตอยู่กับบิดา 2 คนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 10-12 ขวบ ปัจจุบันพยานกลับไปอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นได้ประมาณครึ่งปีแล้ว เพราะต้องใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น

จุดเริ่มต้นที่ทำให้พยานเข้ามาสนใจการเมืองและสังคมนั้น เกิดเมื่อพยานอายุ 10 ขวบ บิดาพาไปร่วมชุมนุมเสื้อแดงและเสื้อเหลือง รวมทั้งพยานได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้มีสอนในตำรา ซึ่งจากการไปชุมนุมพยานเห็นการปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงจากรัฐ และการกระทำด้วยความรุนแรงของผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ทำให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจคือ มีอาการวิตกกังวล แต่ตอนนั้นพยานไม่ได้บอกและพูดคุยกับบิดาถึงอาการที่เกิดขึ้น

ภาพที่พยานโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 เป็นภาพที่พยานแอดมิทที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากช่วงนั้นอาการของพยานไม่ค่อยสู้ดีนัก มีการกรีดข้อมือ จากการเข้ารับการรักษาทำให้ทราบว่าพยานเป็นโรคซึมเศร้า ต่อมา แพทย์ส่งตัวไปแผนกผู้ป่วยจิตเวชในวันที่ 1 ม.ค. 2565

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อพยานอายุ 22 ปี ได้เริ่มหันมาสนเรื่องงานภาพ วาดเขียน โดยศึกษาด้วยตนเองและไปดูงานศิลปะหลาย ๆ รูปแบบ เช่น Digital Art, Dark Art, Surrialism ซึ่ง Dark Art คืองานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ 3 สีหลัก ๆ คือ สีขาว สีดำ และสีเทา ส่วน Surrialism เป็นงานศิลปะที่เป็นภาพเหนือจินตนาการ และ Punk Art เป็นงานภาพขบถต่อบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งผลงานที่พยานทำออกมาเป็นงาน Dark Art ซึ่งจะเป็นการนำภาพถ่ายเก่ามาสร้างเป็นผลงานใหม่ในรูปแบบ Digital Art โดยทำในโทรศัพท์มือถือ

ในปี 2563-64 ที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 พยานได้เข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น โดยเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมชุมนุมในนามกลุ่มศิลปะปลดแอกที่ทำเกี่ยวกับศิลปะทางการเมือง ซึ่งพยานได้ส่งผลงานของพยานไปร่วมแคมเปญของศิลปะปลดแอกด้วย โดยบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องเป็นของพยาน และพยานเป็นคนโพสต์เอง

คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายฟ้องมาว่า “..รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์จักรีพระองค์อื่น ๆ มีความคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เสียสติคล้ายคนบ้า ใช้อำนาจมนต์ดำ ใช้อำนาจมืดปกครองบ้านเมือง..”​  นั้น พยานซึ่งเป็นผู้ทำภาพนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายตามที่โจทก์ฟ้อง พยานสร้างสรรค์ มีอิสระในตนเอง มุมมองของงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตหรือเรื่องราวของคนแต่ละคน ซึ่งย่อมแตกต่างกัน พยานไม่ได้มีเจตนาใส่ร้าย หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์

พยานอธิบายถึงความหมายของภาพว่า เป็นงานศิลปะที่เป็นอิสระมาก ข้อความที่ใส่ลงไปในภาพเป็นหนึ่งเดียวกับภาพ ซึ่งต้องวิเคราะห์ทั้งข้อความและภาพประกอบกัน พยานไม่ได้มีเจตนาในการหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ส่วนในแฮชแท็ก (#) เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ พยานหมายถึงรัฐบาลประยุทธ์เป็นเผด็จการ ไม่ได้หมายถึงรัชกาลที่ 10

ปัจจุบันหากค้นหาภาพตามฟ้องในเฟซบุ๊กและในระบบคอมพิวเตอร์ ประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว และหลังจากที่พยานถูกดำเนินคดีนี้แล้ว พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีอื่นต่ออีก ส่วนในคดีพ่นสีกำแพงพระบรมหาราชวังนั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างยื่นอุทธรณ์

พยานป่วยเป็นโรคซึมเศร้า, ไบโพลาร์, ออทิสติก, OCD (ย้ำคิดย้ำทำ) รวมทั้งป่วยเป็นโรคจิตเภท และหลายอัตลักษณ์ด้วย โดยล่าสุดพยานไปพบแพทย์เมื่อวันที่ 9 ต.ค.​ 2567 และมีใบนัดพบแพทย์คลินิคจิตเวชในวันที่ 17 ต.ค. 2567

พยานถูกจับกุมกลางคืนของวันที่ 6 เม.ย. 2566 และเริ่มถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำเวลาประมาณ 21.00 น. แต่ได้พบทนายความประมาณ​ 22.00 น. เป็นต้นไป ในชั้นสอบสวนพยานให้การปฏิเสธ ซึ่งในบันทึกคำให้การที่ระบุว่า พยานไม่มีโรคประจำตัว พยานจำไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนเคยถามพยานหรือไม่ แต่ถ้าหากถูกถาม พยานก็ต้องตอบว่ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เนื่องจากอาการเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบัง

ในช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน พยานเบิกความรับว่า ข้อความที่โพสต์ประกอบกับรูป เป็นข้อความที่พยานอธิบายรูป ซึ่งมีข้อความ #ไม่ปฏิรูประวังจะโดนปฏิวัติ #ยกเลิก112 #อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น ด้วย โดยข้อความ #ยกเลิก112 นั้น หมายถึง พยานเห็นด้วยว่าต้องแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ส่วนข้อความ #ไม่ปฏิรูประวังจะโดนปฏิวัติ พยานไม่ได้สื่อสารว่าเป็นสิ่งใดเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงให้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในหลายแง่มุม

ในช่วงเวลาเกิดเหตุพยานก็ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในขณะนั้น ซึ่งภาพในเฟซบุ๊กของพยานก็เป็นภาพในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้

บังเอิญตอบทนายจำเลยถามติงว่า กลุ่มศิลปะปลดแอกที่พยานเข้าร่วม ในการแสดงออกจะมีทั้งการใช้ร่างกายในการแสดง, Digital Art, ภาพวาด และปูนปั้น และในช่วงที่มีการชุมนุมนั้น พยานออกมาต่อต้านอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา

.

ฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “บังเอิญ” ศิลปินขอนแก่น ถูกแกนนำ ศปปส. กล่าวหา โพสต์ภาพพร้อมข้อความหมิ่นประมาท ร.10

X