เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดสืบพยานลับหลังจำเลยในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 แม้เพนกวินเคยยื่นคำร้องขอถอนทนายความและปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทั้งทนายความขอถอนตัวเองจากการเป็นทนายจำเลยและยืนยันไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายจำเลยต่อไปตามความประสงค์ของเพนกวิน
คดีนี้เริ่มสืบพยานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 18 ปาก แต่ยังไม่หมดพยานโจทก์ กระทั่งในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 พริษฐ์ไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน หากไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ภายใน 3 เดือน เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ล่าช้า จึงเห็นควรให้สืบพยานลับหลังจำเลย อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 และนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 ต.ค. 2567
ย้อนไปก่อนนัดสืบพยานในวันที่ 18 ต.ค. 2567 พริษฐ์ได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายความทั้งหมดในคดีนี้ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) และแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทนายความจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในคดีนี้ตามความประสงค์ของจำเลย ขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตทนายความถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยและจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะจับตัวจำเลยได้ และยื่นคําร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลังจําเลย แต่ศาลยกคำร้องทั้งหมด และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไป
ในวันดังกล่าว ทนายความจึงแถลงว่า หากมีการสืบพยานต่อไป ทนายความขอไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดี ด้วยเหตุที่จำเลยแสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่าไม่ให้ผู้ใดทำหน้าที่ทนายความแก้ต่าง ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนทนายความ แต่ทนายก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากจะขัดต่อความประสงค์ของจำเลย พร้อมกันนี้ทนายความได้ยื่นคำแถลงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความต่อศาล
จากนั้นศาลให้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความต่อ โดยทนายความยืนยันไม่ถามค้านพยานโจทก์ตามความประสงค์ของจำเลย และศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 20 ธ.ค. 2567
.
วันที่ 20 ธ.ค. 2567 ก่อนการสืบพยาน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและงดการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอีกครั้ง โดยระบุเหตุผลใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ศาลต้องมีคำสั่งให้ถอนทนายความของจำเลยทุกคนออกจากการเป็นทนายความจำเลยในคดีนี้ตามที่เพนกวินยื่นคำร้อง ตามนัยคำสั่งศาลฎีกา
ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและหลักนิติธรรม เมื่อจำเลยได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่า ต้องการที่จะถอนตัวผู้ร้องรวมทั้งบุคคลอื่นออกจากการเป็นทนายความของตน และไม่อนุญาตให้ผู้ใดกระทำการแทนจำเลยในฐานะทนายความในคดีนี้อีก หากมีการดำเนินการใด ๆ ถือว่าเป็นการดำเนินการโดยพลการซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนาของจำเลย ขอให้ศาลถอนทนายความทุกคนออกจากเป็นทนายจำเลยในคดีนี้ และผู้ร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยตามเจตนาของจำเลย กรณีจึงเป็นการที่ตัวความได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะถอนทนายความของตนออกและไม่ประสงค์ให้ผู้ใดเป็นทนายความว่าความแก้ต่างแทนจำเลย
ดังนั้น หากผู้ร้องยังคงทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลยซึ่งเป็นตัวความในคดีนี้ และย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันผิดไปจากหลักกฎหมายว่าด้วยทนายความและยังอาจเป็นความผิดต่อข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความด้วย ซึ่งย่อมทำให้จำเลยและข้าพเจ้าได้รับความเสียหาย
อีกทั้งเมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวความยื่นคำร้องต่อศาลว่าขอถอนทนายความของตนแล้วย่อมมีผลโดยทันที มิใช่ศาลจะต้องเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยถอนทนายความได้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามนัยคำสั่งศาลฎีกาที่ 502 พ.ศ.2536
ดังนั้น ผู้ร้องเห็นว่า ศาลต้องมีคำสั่งให้ถอนทนายความของจำเลยทุกคนรวมทั้งผู้ร้องออกจากการเป็นทนายความจำเลยในคดีนี้เสีย
ทั้งนี้ คำสั่งศาลฎีกาที่ 502 พ.ศ.2536 ระบุว่า “การแต่งตั้งทนายความและถอดถอนทนายความเป็นอำนาจของตัวความโดยเฉพาะ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลว่าขอถอนทนายความของตน จึงเป็นการแสดงเจตนาว่าโจทก์ได้ถอนทนายความแล้วย่อมมีผลทันที การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ว่าอนุญาตให้โจทก์ถอนทนายความจากการเป็นทนายโจทก์ได้นั้น มีความหมายเพียงว่า ศาลรับทราบเท่านั้น มิใช่ศาลเป็นผู้อนุญาตให้โจทก์ถอนทนายความได้”
ประเด็นที่สอง การพิจารณาคดีสืบพยานลับหลังจำเลยไม่ยุติธรรมสำหรับจำเลย – ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งขัดต่อ ICCPR
ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 มีข้อกำหนดชัดเจนว่า หากจะดำเนินการสืบพยานลับหลังจำเลยและมีคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไป จะต้องเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ชักช้า
กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าการพิจารณาคดีสืบพยานลับหลังจำเลยนั้นมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแต่อย่างใด เนื่องจากทำให้จำเลยไม่มีโอกาสชี้แจงระหว่างการพิจารณาเพื่อแจ้งข้อสังเกตใด ๆ ในการถามค้านหรือนำสืบข้อเท็จจริงที่เป็นข้อต่อสู้ให้ชัดเจน และทำให้จำเลยไม่สามารถยกพยานหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาต่อสู้ในระหว่างการพิจารณาคดี และข้อเท็จจริงบางประเด็นย่อมอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยเพียงคนเดียว การสืบพยานลับหลังจำเลยจึงไม่ยุติธรรมสำหรับจำเลยและไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
คดีนี้มีจำเลยเพียงคนเดียวเท่านั้น หากจำหน่ายคดีชั่วคราวออกไปและจับตัวจำเลยได้เมื่อใดจึงยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อไปภายหลังก็ไม่ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม
นอกจากนี้การพิจารณาสืบพยานลับหลังจำเลยนั้นอาจขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบันรับรองไว้ ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าบุคคลนั้นและมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง
ประเด็นที่สาม บทบัญญัติเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยไม่ใช่ข้อบังคับอันเด็ดขาด หากศาลเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรม ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดี
การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะใช้การพิจารณาลับหลังจำเลยหรือไม่ ไม่ใช่ข้อบังคับอันเด็ดขาดที่ศาลจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะใช้เมื่อเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น
หากศาลวินิจฉัยหรือมีความเห็นว่า การใช้บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่เป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะไม่ใช้และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยเป็นการชั่วคราว และเมื่อจับจำเลยได้แล้วจึงให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อไป
ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งไม่สืบพยานคดีนี้ลับหลังจำเลย และให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราว และเมื่อใดที่จับตัวจำเลยได้แล้วจึงให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาคดีต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
.
เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยยังได้แถลงต่อศาลโดยยกกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวในคดีอื่น ๆ ที่จำเลยหลบหนี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของศาลอาญา และคดีตามมาตรา 112 ของพริษฐ์ จากกรณีโพสต์ถึงปัญหาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่เพิ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 หลังทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและงดการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย โดยอ้างคำสั่งศาลฎีกาที่ 502 พ.ศ.2536
หลังการแถลงของทนายความ ศาลได้ขอไปปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาโดยกล่าวว่า หากอธิบดีฯ เห็นว่ามีจำเลยคนเดียวและมองว่าเป็นการประวิงคดี ก็ต้องสืบพยานลับหลังต่อไป โดยก่อนหน้านี้จำเลยเองก็เคยขอพิจารณาคดีลับหลังหลายครั้ง ทนายความจึงแถลงว่า ในตอนนั้น จำเลยมีทนายความ แต่ตอนนี้ไม่มีทนายความแล้ว ศาลกล่าวต่อว่า ตอนนี้ก็มีทนายความ ทนายกับศาลอาจจะเห็นต่างกัน
หลังจากศาลขึ้นไปปรึกษาอธิบดีฯ กว่า 40 นาที ได้กลับมาแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลยต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ทนายความจึงออกจากห้องพิจารณาคดีไปโดยทันที เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถทำหน้าที่ทนายความได้ตามความประสงค์ของจำเลย และขอไม่ลงนามในเอกสารใด ๆ
ต่อมา พนักงานอัยการได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความจนเสร็จสิ้นอีก 2 ปาก ได้แก่ สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการสืบสวน สน.ชนะสงคราม และ มณีรัตน์ มีนา ผู้สื่อข่าวช่อง News1 ซึ่งในวันเกิดเหตุได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม
พนักงานอัยการยังติดใจนำพยานโจทก์เข้าสืบอีก 1 ปาก ศาลจึงนัดสืบพยานต่อในวันที่ 11 ก.พ. 2568
.
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ >>> คดี 112 “เพนกวิน-พริษฐ์” ปราศรัยใน MobFest 14พฤศจิกา63