เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ตัวแทนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้ายื่นหนังสือถึงโฆษกศาลยุติธรรม เพื่อเชิญเข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด: เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 – 19.00 น. ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สืบเนื่องจากคดีของศาลอาญา หมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ซึ่งเป็นคดีที่ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี เป็นจำเลย และได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันนัดสืบพยาน (27 – 28 พ.ย. 2567) ผู้พิพากษาในคดีไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารราชการที่เกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ถามค้านพยานโจทก์ โดยอ้างถึงมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิถามค้านพยานโจทก์อย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ทั้งยังออกข้อกำหนดให้มีการพิจารณาคดีลับ และสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลในห้องพิจารณาคดีโดยอ้างว่าเป็นคดีความมั่นคง หากทนายหรือจำเลยไม่หยุดโต้แย้งจะสั่งขังให้หมด อันเป็นพฤติการณ์ที่นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ธันวาคม 2567
เป็นเหตุให้อานนท์ ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล และคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมสอบสวนและดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 62
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า นายรัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล ซึ่งดำรงตำแหน่งโฆษกศาลยุติธรรม เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในนามขององค์กรศาลยุติธรรม และมีความรู้ความสามารถที่จะร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาได้
ตลอดจนศูนย์ทนายฯ เห็นความสำคัญของการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (Public hearing) และเป็นธรรม ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14.1 ว่า “…ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม…”
จึงได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด: เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา” เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกระบวนการพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในคดีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง
หลังการยื่นหนังสือเรียนเชิญดังกล่าวผ่านทางอีเมล์ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567 และได้เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากโฆษกศาลยุติธรรมว่าจะเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าวหรือไม่ และหากมีการตอบรับจากสำนักงานศาลยุติธรรม จะมีการแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป