9 ธ.ค. 2567 เวลา 10.30 น. ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ สามนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ รามิล, พึ่งบุญ ใจเย็น และ คุณภัทร คะชะนา ได้เดินทางเข้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในคดี “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา” โดยมีผู้กล่าวหาคือ ส.ต.ท. มนตรี แดงศรี ผู้รับมอบอำนาจจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ร่วมกิจกรรมแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565
บรรยากาศก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหามีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 10-15 คน และมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบโดยรอบ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ประมาณ 15-20 นาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการสอบสวน อนุญาตเพียงผู้ต้องหาและทนายความเท่านั้น
.
สำนักงานศาลธรรมนูญ กล่าวหานักกิจกรรมทั้ง 3 ร่วมกันทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นักกิจกรรมทั้งสามคนเพิ่งได้รับหมายเรียกเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยทราบว่าผู้กล่าวหาได้มากล่าวหาไว้ในช่วงเวลาเดียวกับคดีของ 6 นักศึกษา-นักกิจกรรม ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ จากกิจกรรมในวันที่ 30 ก.ย. 2565 เช่นเดียวกัน โดยเป็นคดีที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใด จึงเพิ่งมีการออกหมายเรียกในคดีนี้หลังเวลาผ่านไปกว่า 2 ปีเศษ
ในการแจ้งข้อกล่าวหามี พ.ต.ท.ณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และคณะทำงานอีก 1 นาย ทำการแจ้งข้อกล่าวหาในห้องประชุมของสถานีตำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีก 3-5 นาย คอยเฝ้าดูแลในห้องตลอดเวลา
พนักงานสอบสวนทำการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้งสาม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แสดงออกไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการจัดกิจกรรม “รามาตุลาการ” บริเวณลานสังคีต อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อกล่าวหาระบุว่ากิจกรรมได้มีการกล่าวคำปราศรัยถึงการไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาล และมีการแสดงออก 3 รูปแบบ โดยระบุถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสาม
- ในส่วนของศิวัญชลี ได้กล่าวสุนทรพจน์โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาล
- คุณภัทรและพึ่งบุญ ถูกกล่าวหาว่าเป็นนำผ้าขาวมาแปรอักษรเป็นรูปภาพตัวหนังสือว่า “รามาตุลาการ” ซึ่งสื่อความหมายว่า ตุลาการ ข่มเหงรังแก รบกวน ตีความหมายได้ว่า กลุ่มผู้ต้องหาต้องการแปรอักษรสื่อแสดงให้เห็นว่าตุลาการได้ทำการข่มเหงรังแกประชาชนคนไทย
- โปรยภาพของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบนพื้นถนนและมีกระดาษวางแนบคู่รูปภาพตุลาการบนพื้นทางเดิน มีข้อความด่าทอศาล เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ตรวจยึดภาพถ่ายตุลาการ จำนวน 6 ภาพ และกระดาษที่เขียนข้อความดังกล่าว จำนวน 2 แผ่น ไว้เป็นหลักฐาน
ข้อกล่าวหาอ้างว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ โดยกิจกรรมการแสดงออกทั้ง 3 รูปแบบ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือขององค์กร ทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ ในระบบการยุติธรรมของประเทศสำหรับพิจารณาพิพากษาหรือวินิจฉัยคดี อันถือเป็นหลักสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหามาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ต่อทั้งสามคน และผู้ต้องหาทั้งสามได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ ในวันที่ 14 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
.
.
พบคดีดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ จากเหตุแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 3 คดี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี
ในจำนวนนี้มีจำนวน 3 คดี ที่มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ มนตรี แดงศรี เป็นผู้ไปกล่าวหา ได้แก่ คดีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ จากกรณีโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ และคดีของนักศึกษาและนักกิจกรรม 6 คน ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์วันเดียวกับในคดีของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ นี้ แต่เหตุเกิดต่างสถานที่กัน จนถึงปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
ทั้งนี้ข้อหาดูหมิ่นศาลฯ เดิมนั้น เคยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่อัตราโทษได้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษขึ้น เป็นจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคณะรัฐประหารหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เช่นเดียวกับข้อหาตามมาตรา 112
.