เมื่อชุดผู้ต้องขังบดบังครุยทนาย: ว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมของศาล และการทำหน้าที่ทนายความของ “อานนท์ นำภา”

ณัฐวรรธน์ แก้วจู

.

เป็นจำนวนหลายครั้งที่ศาลอาญามีหนังสือถึงสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของ “อานนท์ นำภา” ในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ในส่วนของแกนนำ 18 ราย จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2561 ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนด และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นยุติการสืบทอดอำนาจ ซึ่งอานนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความแก่ลูกความในคดีทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ ธนวัฒน์ พรมจักร, นิกร วิทยาพันธุ์, วิเศษณ์ สังขวิศิษฏ์ และ พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์

แม้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนี้จะเคยมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของอานนท์ ซึ่งถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 และได้มาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในขณะเป็นผู้ต้องขัง ไปยังสภาทนายความฯ เป็นจำนวนถึง 2 ครั้ง แต่ในทุกครั้ง สภาทนายความฯ ก็ได้มีหนังสือตอบกลับมายังศาลอาญาทำนองว่า “ยังไม่ปรากฏว่าอานนท์ถูกลงโทษมรรยาททนายความ และคดีที่เขาถูกกล่าวหาก็ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ มิได้ถึงที่สุด ย่อมถือว่าอานนท์มีคุณสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความได้ ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 35”

อาจเพราะศาลต้องการความชัดเจนรอบด้านจากผู้มีหน้าที่และเกี่ยวข้องกับอานนท์ในฐานะผู้ต้องขัง หรืออาจเพราะคำตอบที่ได้จากสภาทนายความฯนั้นไม่ถูกใจนัก ศาลจึงได้สอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอานนท์ในฐานะผู้ต้องขังในลักษณะเดียวกัน โดยกรมราชทัณฑ์ได้ตอบกลับเป็นหนังสือมายังศาลว่า “ไม่ได้มีบทบัญญัติใด ๆ เป็นข้อห้ามการที่ผู้ต้องขังจะไปปฏิบัติหน้าที่ทนายความ” แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สถานะผู้ต้องขังและการแต่งกายของอานนท์ในฐานะผู้ต้องขัง “อาจ” เป็นอุปสรรค หรือขัดต่อมรรยาททนายความในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ โดยอ้างถึงข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 เกี่ยวกับมรรยาทการแต่งกาย, ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ. เสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ. 2479 ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เพื่อประกอบการพิจารณาแก่ศาล

.

ผู้เล่นกองกลาง ส่งบอลมายังกองหน้า ที่เหลือคือการหาจังหวะทำประตู

ความพยายามของศาลยังคงดำเนินต่อไป เพราะเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ผู้พิพากษาองค์คณะเจ้าของสำนวนได้พูดคุยกับลูกความของอานนท์ทั้ง 4 ว่าให้พวกเขาแต่งตั้งทนายใหม่แทนอานนท์ โดยหยิบยกข้อสังเกตที่กรมราชทัณฑ์ตั้งไว้ในหนังสือตอบกลับ โดยเห็นว่า “จากหนังสือของทางราชทัณฑ์ การปฏิบัติหน้าที่ของอานนท์ในฐานะทนายความอาจขัดต่อมรรยาททนายความ และไม่สมควรใส่ชุดนักโทษว่าความ จึงขอให้จำเลยทั้ง 4 คนแต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่” แน่นอนว่าอานนท์คัดค้าน และบรรดาลูกความของเขาก็ยืนยันว่าประสงค์จะให้อานนท์ทำหน้าที่ทนายความให้แก่พวกเขา

ไม่นับรวมปรากฎการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีการยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวอานนท์มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อมาทำหน้าที่ทนายความให้แก่จำเลยในคดีของ “ทอปัด” แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ในครั้งนั้นอานนท์ก็ได้เขียนคำร้องคัดค้านเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งยกคำร้องของศาล

หากมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “อานนท์” ในฐานะทนายความผู้มีสถานะผู้ต้องขัง อาจเกิดคำถามตามมาว่า แท้จริงแล้ว หัวใจของการพิจารณาคดีเป็นไปเพื่อสิ่งใด ศาลยังคงความเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ “อำนวยความยุติธรรม” อยู่หรือไม่ และอานนท์ กำลังถูก “นำภา” เพื่อให้ไปพบกับสิ่งใดในวิชาชีพทนายความ

.

.

สถานะความเป็นทนายความจะสิ้นสุดหรือสะดุดหยุดลงเมื่อใด

การมีสถานะทนายความจำเป็นต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทนายความ และใช้บังคับแก่ทนายความ ซึ่งในมาตรา 4 ให้นิยามของทนายความไว้ว่าเป็น “ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ”

โดยทนายความมีหน้าที่ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. ทนายความฯ ที่จะต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ หากทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ จึงจะถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ

โทษที่จะเกิดขึ้นหากทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความมี 3 สถาน ตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ทนายความฯ คือ 1) ภาคทัณฑ์ 2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ 3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

และการสิ้นสุดสถานะการเป็นทนายความ เป็นไปตามมาตรา 44 พ.ร.บ. ทนายความฯ กล่าวคือเมื่อทนายผู้นั้น

(1) ตาย

(2) ขอบอกเลิกจากการเป็นทนายความ

(3) ขาดต่อใบอนุญาต ตามมาตรา 39 วรรคสอง (กรณีทนายผู้นั้นไม่ได้มีใบอนุญาตแบบตลอดชีพ ซึ่งหากประสงค์ทำการเป็นทนายความต่อไป ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันก่อนที่ใบอนุญาตจะสิ้นอายุ)

(4) ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา 43 (กรณีมีความปรากฏว่าทนายความผู้นั้นไม่มีคุณสมบัติในการมีใบอนุญาต อาทิ อยูในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก) หรือ

(5) ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 68 หรือมาตรา 69

อานนท์คือทนายความคนนั้นหรือเปล่า

ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฎว่าอานนท์ คือทนายที่ถูกสภาทนายความ “ได้บอกเลิกจากการเป็นทนายความ”

ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฎว่าอานนท์ คือทนายที่ถูกสภาทนายความ “ขาดการต่อใบอนุญาต”

ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฎว่าอานนท์ คือทนายที่ถูกสภาทนายความ “จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความ” และ

ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฎว่าอานนท์ คือทนายที่ถูกสภาทนายความ “ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ”

แล้วเหตุใดจึงมีความสงสัยเกิดขึ้นถึงความสามารถในการทำหน้าที่ทนายความของเขา และสิ่งใดคือเหตุผลที่ศาลหยิบยกขึ้นมาเพื่อติงอานนท์ในการทำหน้าที่ทนายความจำเลย

.

ความไม่สอดรับในทางปฏิบัติ ในวันที่ชุดผู้ต้องขังบดบังการทำหน้าที่ทนาย

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ข้อ 4 กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดชายต้องสวม ก. เสื้อคอกลมแขนสั้นแค่ศอก และ ข. กางเกงขาสั้นเหนือเข่าพองาม

ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 กำหนดเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้เป็นทนายความไว้ว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์… (4) ในขณะว่าความทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย

เมื่อเราตามไปดู พ.ร.บ. เสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ. 2475 มาตรา 5 วางหลักว่า สามัญสมาชิก สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งเนติบัณฑิตยสภา มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในโอกาสอันควร แต่ห้ามมิให้สวมในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญา…”

การปะทะกันของระเบียบ ข้อบังคับ และพระราชบัญญัติข้างต้นนี้ ประกอบกับการเลี้ยงบอลส่งของกรมราชทัณฑ์ ศาลจึงให้เหตุผลในการห้ามอานนท์ทำหน้าที่ทนายความโดยการบอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของอานนท์ในฐานะทนายความ “อาจ” ขัดต่อมรรยาททนายความ และ “ไม่สมควร” ใส่ชุดนักโทษว่าความ

หากยกข้ออ้างว่าอานนท์ทำหน้าที่ทนายไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. ครุยเนติฯ ห้ามมิให้สวมครุยเนติฯ ในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญา เมื่ออานนท์ไม่มีสิทธิสวมครุย อานนท์จึงกำลังกระทำสิ่งที่ผิดต่อมรรยาททนายความ ข้อ 20 คือ อานนท์แต่งกายไม่เรียบร้อยและไม่สวมครุยเนติฯ ในขณะว่าความ อานนท์จึงไม่สามารถทำหน้าที่ทนายความได้ แน่นอนว่าหากพิจารณาตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายแล้ว พระราชบัญญัติเสื้อครุยเนติฯย่อมมีศักดิ์บังคับเหนือกว่าระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่บังคับใช้กับอานนท์ในฐานะผู้ต้องขัง และข้อบังคับของสภาทนายฯ ที่บังคับใช้กับอานนท์ในฐานะทนายความ

คำถามคือในวันที่อานนท์ต้องทำหน้าที่ทนายความให้แก่จำเลยในคดีอาญา สถานะสองอย่างของอานนท์ที่ซ้อนทับกันอยู่ภายในตัวคือความเป็นผู้ต้องขังและความเป็นทนายความ สถานะใดจะอยู่เหนือกว่าและควรให้ความสำคัญ

เหตุผลที่ทนายความต้องสวมครุยเนติฯ ในขณะว่าความ เมื่อเทียบกับเหตุผลของการมีทนายความของจำเลยในคดีอาญาแล้ว เหตุผลใดที่ควรรับฟัง 

การที่จำเลยในคดีอาญาไม่มีทนายความว่าต่างแก้ต่างให้ เมื่อเทียบกับผลกระทบของการที่ทนายความไม่สวมครุยเนติฯในระหว่างว่าความแล้ว สิ่งใดที่ร้ายแรงและกระทบสิทธิของบุคคลกว่ากัน

และหากกังวลเกี่ยวกับเรื่องความ “เหมาะสม” ในการแต่งกายของทนายความถึงขั้นส่งหนังสือสอบถามไปยังองค์กรวิชาชีพที่อานนท์สังกัด เหตุใดจึงไม่ตั้งเรื่องมรรยาททนายความว่าด้วยการแต่งกายแก่อานนท์เสียเลย

.

.

ทนายความ ศาล และการอำนวยความยุติธรรม

ทนายความคือผู้ที่ประกอบวิชาชีพเพื่อทำหน้าที่ในการใช้กฎหมาย เป็นตัวแทนของผู้มีอรรถคดี รักษาไว้ซึ่งสิทธิและประโยชน์ของลูกความให้ได้รับความยุติธรรมจากการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญาซึ่งมีกระบวนการและโทษกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ดังนั้น สิทธิการมีทนายความจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอำนวยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เป็นการรักษาสิทธิให้แก่จำเลย และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม

ในระบบกฎหมายไทย สิทธิในการมีทนายความปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา โดยกฎหมายให้สิทธิการมีทนายความแก่ผู้ต้องหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน (มาตรา 7/1 มาตรา 83 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง มาตรา 134/3 มาตรา 134/4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา) และในชั้นพิจารณาแก่จำเลยในคดีอาญาที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนพิจารณา ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องตั้งทนายความให้ หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการ ศาลต้องทนายความให้ (มาตรา 173 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา)

ในส่วนของในกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิในการมีทนายความปรากฏในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 14 เพราะสำหรับสากล สิทธินี้คือสิทธิมนุษยชนที่บุคคลมีแต่กำเนิด

อานนท์พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำหน้าที่ทนายความเพื่อให้จำเลยที่ไว้ใจและประสงค์ให้เขาเป็นทนายสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิในการมีทนายในคดีอาญาได้ แต่ก็มีความพยายามที่ยิ่งยวดกว่าของผู้คนในกระบวนการยุติรรมที่หยิบยกระเบียบและความเหมาะสมในการแต่งกายมาสกัดกั้นความพยายามนั้นของอานนท์

และในสมรภูมิการต่อสู้คดีระหว่างโจทก์และจำเลยคดีอาญาในชั้นพิจารณา ศาลผู้เป็นองค์กรตุลาการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่ความเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงต้องเป็นองค์กรที่ “อำนวย” ให้เกิดความยุติธรรมในการพิจารณาคดี ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง เปิดเผย เป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ก่อเกิดขึ้นแก่คู่ความในคดี แต่เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับอานนท์ แท้จริงแล้วศาลกำลังปฏิบัติหน้าที่นั้นอยู่หรือไม่ หากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลย อันจะอำนวยให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เหตุใดระเบียบของการแต่งกายจึงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาฉุดรั้งและสกัดกั้นการทำหน้าที่ทนายความของอานนท์ให้แก่จำเลยของเขา

ในคดีอาญา หากจำเลยไม่มีทนายความคอยว่าต่างแก้ต่างให้ เขาจะมีสิ่งใดเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ต่อสู้ความบริสุทธิ์ของเขาได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีการเมืองที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งทำหน้าที่ให้แก่รัฐผู้มีอำนาจมากกว่าและเป็นคู่ความกับจำเลยโดยตรง

.

อานนท์ยังคงได้รับสิทธิในการสันนิษฐานโดยกฎหมายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อสถานะยังเป็นเพียงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี

อีกหนึ่งสิทธิที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองและเป็นประกันให้จำเลยคดีอาญาในกระบวนการพิจารณาคือ สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญา เขาย่อมได้รับการสันนิษฐานโดยกฎหมายไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้ สิทธินี้ปรากฏทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง และในกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกับสิทธิในการมีทนายความ

การพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่เป็นภาระของโจทก์หรือผู้กล่าวหาที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าการกระทำใดของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิด และศาลเองก็ต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการพิจารณาเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความ “ยุติธรรม” แก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ความไม่เพียงพอของข้อเท็จจริงนั้นจะนำมาสู่ความสงสัยและการถูกยกให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย ศาลจึงควรพิพากษายกฟ้อง

เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าอานนท์คือผู้ต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดในคดีอาญา แม้เขาจะถูกศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนกว่า 4 คดี และมีจำนวนโทษจำคุกรวมกันกว่า 14 ปี แต่ในทุกคดีก็ล้วนยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ ดังนี้ อานนท์ย่อมได้รับการสันนิษฐานโดยกฎหมายว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เหตุใดปรากฏการณ์ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นกับอานนท์ เสมือนว่าเขาคือผู้กระทำความผิดไปเสียแล้ว

.

อีกครั้ง และอีกครั้ง

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้ ศาลอาญาโดยองค์คณะผู้พิพากษาในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ได้กำหนดนัดพร้อม เพื่อให้ตัวแทนจากสภาทนายความฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของอานนท์ นำภา ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ในคดีนี้ 

ร่วมจับตาว่าสภาทนายความฯ ผู้เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพของทนายความ จะชี้แจงต่อศาลด้วยคำตอบอย่างไร จะเป็นคำตอบที่ทำให้ “อานนท์ นำภา” ซึ่งเป็นคนในวิชาชีพสามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้หรือไม่ เพียงใด เมื่ออานนท์ยังยืนยันอย่างมาดมั่นว่าตนมีศักดิ์และสิทธิในการทำหน้าที่ทนายความให้แก่จำเลยในคดี 

แม้เขามีสถานะเป็นผู้ต้องขัง แต่อย่าลืมว่าสถานะทนายความของเขานั้นก็ยังคงอยู่

.

————————————–

อ้างอิง

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง

พระราชบัญญัติเสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ. 2479

.

X