เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่ศาลอาญารัชดาฯ พนักงานอัยการนัดหมายฟ้องคดีของ “กร” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดชัยนาท วัย 29 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุคอมเมนท์ใต้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “KTUK – คนไทยยูเค” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564
คดีนี้มี ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้ไปแจ้งข้อกล่าวหาไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยอ้างว่าได้เห็นการโพสต์ข้อความดังกล่าวของผู้ต้องหา จึงได้เข้ามาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี และตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 7 พ.ย. 2566
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 กรได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ปราโมทย์ จันทร รองผู้กำกับการสอบสวน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. ในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ขอตรวจค้นโทรศัพท์ และขอรหัสผ่านเข้าถึงข้อมูลโซเชียลมีเดียของเขา แม้จะไม่มีหมายศาล แต่ตำรวจอ้างว่าหากยินยอมให้มีการตรวจสอบข้อมูล เรื่องก็จะสิ้นสุดโดยเร็ว และกล่าวว่าทนายความมีหน้าที่แค่มาเข้าฟังกระบวนการเท่านั้น แม้ทนายความจะยืนยันว่ามีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ต้องหาได้
ภายหลังการยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลทางโทรศัพท์ ตำรวจได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ หลังจากนั้นตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการ และอัยการได้นัดหมายมาสั่งฟ้องคดีต่อมา
.
อัยการนัดฟ้องคดี ก่อนศาลให้ประกัน พร้อมติดกำไล EM แต่อยู่ในเรือนจำต่อ เพราะศาลแจ้งเบิกตัวมาติดกำไล EM วันจันทร์หน้า
ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยฟ้องกรใน 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 ฉบับที่ 2 มาตรา 8
พฤติการณ์บรรยายโดยสรุปว่า วันที่ 1 มี.ค. 2564 จำเลยได้ทำการคอมเมนต์ใต้ภาพของรัชกาลที่ 10 ในโพสต์ของเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ที่สื่อได้ว่าเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่พบเห็นข้อความที่จำเลยโพสต์สามารถเข้าใจได้ว่าป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่นพระเกียรติกษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคมได้
ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. ทนายความได้ยื่นประกันตัวกร ก่อนที่ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมมีกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว 6 ประการ ดังนี้
1. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
2. ให้จำเลยยินยอมมอบหนังสือเดินทางไว้ต่อศาล ยึดหนังสือเดินทางดังกล่าว
3. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกเดือน
4. ให้จำเลยยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยจำเลยมีหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในการที่จะระบุตำแหน่งที่อยู่ติดตามตัวจำเลยได้และให้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
5. ห้ามจำเลยกระทำผิดคดีอาญาอื่นใดอีกโดยเฉพาะความผิดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้อีก
6. ห้ามจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมใดใดอันเป็นการแสดงออกหมิ่นเหม่หรือไม่บังควร อันอาจถูกฟ้องร้องตามคำฟ้องในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับนายประกันและทนายความว่า ถึงแม้ในเบื้องต้นจะได้ทำสัญญาประกันแล้ว แต่เงื่อนไขในการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) จำเป็นต้องมีญาติที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และอยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันมาลงลายมือชื่อในเอกสารการติดอุปกรณ์
แต่เนื่องจากกรมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและวันนี้กรได้เดินทางมารับฟังคำสั่งฟ้องเพียงลำพัง ทำให้ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ได้สมบูรณ์ ทำให้กรถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอญาติเดินทางมายื่นเอกสารในวันถัดไป (13 ก.ย. 2567)
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ในการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวดังกล่าว มีแนวโน้มจะเพิ่มข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่ในคำฟ้องของอัยการเองก็ไม่ได้ระบุคัดค้านการประกันตัว
ในวันนี้ (13 ก.ย. 2567) เวลา 11.00 น. น้องสาวของกร ได้เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อยื่นเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านตามเงื่อนไขประกันตัวของจำเลยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่งานประกันตัวได้แจ้งว่าศาลต้องการเอกสารของมารดาเพิ่มเติมอีก เพื่อจะได้ยืนยันว่าจำเลยอยู่บ้านเดียวกัน และแจ้งว่าจะเบิกตัวออกมาติดกำไล EM ในวันจันทร์หน้า (16 ก.ย.) แทนที่จะเบิกตัวในวันนี้
ผลจากคำสั่งของศาล ทำให้กรยังต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป เพื่อรอทำการเบิกตัวมาติดกำไล EM ในวันที่ 16 ก.ย. 2567 แม้ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว และญาติได้เดินทางมาเพื่อยื่นเอกสารสำคัญตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดในเวลาราชการแล้วก็ตาม