เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ทนายความเข้าเยี่ยม มงคล ถิระโคตร หรือ “บัสบาส” นักกิจกรรมชาวเชียงรายวัย 31 ปี ภายหลังฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 3 ของเขา ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเพิ่มจากคดีเดิมอีก 4 ปี 6 เดือน ทำให้รวมโทษในทุกคดีของเขาอยู่ที่จำคุก 54 ปี 6 เดือน แล้ว แต่ทุกคดียังไม่สิ้นสุดลง
บัสบาสพูดถึงความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษามาเพียงสั้น ๆ ว่า “ผมคิดถึงประเทศไทยว่าประเทศน่าจะดีกว่านี้ ประเทศเสียโอกาสตรงนั้นไป ส่วนตัวบาสเองไม่ได้กังวลอะไร และจะต่อสู้คดีให้ถึงศาลฎีกา”
บัสบาสยืนยันว่า เขายังมีความหวังกับนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่เสมอ และเชื่อว่าหากมีพื้นที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผยจะสามารถหาทางออกกันได้ แม้ว่าหลายคนจะกลัวในการพูดถึง แต่ก็ควรจะมีเสรีภาพให้คนสามารถถกเถียงกัน สำหรับตัวของบัสบาสเองไม่ได้กังวลว่าจะถูกลงโทษจำคุก เขามีความหวังกับเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ และอยากจะให้ตนเองเป็นกรณีสุดท้ายที่ถูกพิพากษาจำคุกอย่างยาวนานถึง 54 ปี
การยกเลิกมาตรา 112 อาจจะยังเป็นเรื่องที่ยาก แต่เขาคิดว่าควรจะสามารถแก้ไขได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคม และสายตาของนานาชาติมองว่าประเทศไทยล้าหลัง ป่าเถื่อน โดยบัสบาสยกตัวอย่างกรณีโฆษณาโทรศัพท์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งคนไทยส่วนหนึ่งเข้าไปด่าบริษัทเจ้าของ จากเนื้อเรื่องที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำภารกิจในประเทศไทย โดยทำสีโฆษณาโทนซีเปีย ราวกับว่าจะไปไหนก็ลำบาก ซึ่งมันเป็นความจริงที่คนไทยยอมรับไม่ได้
บัสบาสให้ความเห็นว่า กรณีที่เขาถูกลงโทษจำคุกสูงถึง 50 ปี ก่อนที่จะเพิ่มอีก 4 ปี รวมเป็น 54 ปีแล้ว และกรณีของบุ้ง เนติพร ที่เสียชีวิตภายในเรือนจำ อาจกลายเป็นว่าถูกสังคมมองเป็นเรื่องเฉย ๆ ไปแล้ว แม้ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครถูกจำคุกสูงขนาดนี้ หรือจากการอดอาหารประท้วงจนเสียชีวิตในเรือนจำ หากเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ จะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้นำประเทศจะต้องรีบแก้ไข แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรามันโหดร้าย ตรงข้ามกับคนที่มีบารมี แม้จะทำผิดกฎหมายก็ไม่ผิดกฎหมายได้
บัสบาส ยังฝากให้กำลังใจต่อผู้ทำงานผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ทุกคน และขอส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน เขารับว่าเป็นเรื่องยาก แต่มันจะมีทางไป ประเทศไทยเคยมีนิรโทษกรรมในยุค 6 ตุลา และ 14 ตุลา คนในยุคนั้นยังกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้ ซึ่งก็รวมคดีมาตรา 112 ด้วย เขายังเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ว่าจะร่วมแก้ไขความขัดแย้งนี้จนผ่านไปได้ด้วยดี
บัสบาสยังเห็นว่าในระยะยาว สถาบันกษัตริย์ยังคงจะต้องมีการปฏิรูป ต่อสถานการณ์โลกและบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จะเห็นได้ว่าสถาบันฯ ในประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่นมีการปรับตัวและเข้าหาประชาชนตลอด เขาเพียงอยากให้ประเทศไทยเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น
บัสบาสยังคงกังวลเรื่องจดหมายที่คนทั่วไปส่งไปหาเขา แต่เหมือนว่าจะไม่ได้รับเลยแม้แต่ฉบับเดียวในช่วงหลายเดือนมานี้ และเมื่อเขาพยายามจะเขียนจดหมายส่งออกนอกเรือนจำ 2 ฉบับ ฉบับแรกเขาเขียนเรื่องหลักการใช้บังคับมาตรา 112 ส่วนฉบับที่สองเขาเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า “ผม (บัสบาส) ดูเหมือนอาชญากรด้วยหรือไม่” ซึ่งจดหมายทั้งสองฉบับนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำวินิจฉัยว่าเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปข้างนอกได้
บัสบาสยังย้ำว่าหากจะส่งหนังสือมาให้เขาอ่าน ขอให้ส่งมาในชื่อของ “แดน 1 ควบคุมพิเศษ เรือนจำกลางเชียงราย” โดยไม่ต้องระบุชื่อของตน เพราะก่อนหน้านี้เขาทราบมาว่ามีคนบริจาคหนังสือเข้ามา แต่ถูกส่งกลับอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะระบุชื่อของบัสบาสเป็นผู้รับ
สำหรับอาการโรคซึมเศร้าแม้ว่าบัสบาสจะบอกว่าเขาสบายดี แต่ตอนนี้หมอปรับยารักษา ทำให้วัน ๆ หนึ่ง เขาต้องกินยาหลายเม็ดอยู่เหมือนกัน ตอนนี้อาการยังคงที่ แต่ยังต้องพบแพทย์อยู่เรื่อย ๆ บัสบาสยังเฝ้ารอจดหมายและหนังสือบริจาคอยู่เสมอ
.
สามารถส่งจดหมายถึงบัสบาสไปที่ มงคล ถิระโคตร แดน 1 เรือนจำกลางเชียงราย เลขที่ 222 หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 สามารถบริจาคหนังสือส่งไปที่ แดน 1 เรือนจำกลางเชียงราย เลขที่ 222 หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 |
.