จำคุก “สายน้ำ – ออย” 2 ปี  ฐานทำโบราณสถานเสียหาย ก่อนลดเหลือ 12 เดือน – ให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ กรณีพ่นสีฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า ปี 66 

9 ก.ย. 2567 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สายน้ำ” (จำเลยที่ 1) และ “ออย” สิทธิชัย (จำเลยที่ 2)  สองนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 20 และ 27 ปี ในข้อหาร่วมกันทำให้โบราณสถานเสียหายหรือเสื่อมค่าฯ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีจากกรณีการพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ เครื่องหมายอนาคิสต์ และข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า เมื่อปี 2566

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, พ.ร.บ.ความสะอาด มาตรา 12 และ 56 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม กรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี และกรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานเสาชิงช้า ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี ทั้งนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง รวม 2 กระทง คงจำคุก 12 เดือน ไม่รอลงอาญา 

ต่อมาในเวลา 16.25 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางเงินประกันคนละ 50,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ 

.

ที่มาที่ไปของคดีนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566  “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีจากกรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า โดยหมายจับของทั้งสองคนออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 1 เม.ย. 2566 ระบุข้อกล่าวหา 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ร่วมกันทำลายหรือทำให้โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเสื่อมค่า” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 และ “ร่วมกันขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ในที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12

กรณีของออย ถูกจับกุมในช่วงเช้าของวันที่ 6 เม.ย. 2566  และถูกนำตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์ (สถานีตำรวจเจ้าของคดี) ต่อมาสายน้ำที่ติดตามไปที่ด้านหน้า สน.สำราญราษฎร์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในลักษณะเดียวกัน จากนั้นตำรวจได้พาตัวออยแยกไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยไม่มีใครทราบ ขณะที่พาสายน้ำไปที่ สน.ฉลองกรุง โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องแยกไปสองสถานีตำรวจดังกล่าว

ต่อมา ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาทีละคน โดยระบุพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า ในช่วงคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 มีผู้พ่นสีสเปรย์ที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ ทั้งยังมีการพ่นสีสเปรย์ที่ฐานเสาชิงช้า เป็นข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” พร้อมสัญลักษณ์ลักษณะเดียวกันกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนจาก 3 สถานีตำรวจ ได้แก่ สน.พญาไท, สน.ดินแดง และ สน.ดุสิต ได้ทยอยเดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคนในคดีจากการพ่นสีสเปรย์ในพื้นที่ต่าง ๆ แยกเป็นอีก 3 คดี 

ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป ส่วนตำรวจยังควบคุมตัวทั้งสองคนไว้ เพื่อจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขังในวันรุ่งขึ้น (7 เม.ย. 2566)

วันถัดมา (7 เม.ย. 2566) ตำรวจได้ควบคุมตัวทั้งสองคนออกไปขอฝากขังที่ศาลอาญา ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังเฉพาะกรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า (คดีของ สน.สำราญราษฎร์) และกรณีพ่นสีสเปรย์รวม 5 จุดในเขตพญาไท (คดีของ สน.พญาไท) โดยคัดค้านการประกันตัว 

ต่อมา ศาลมีคำสั่งไม่ให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนในทั้งสองคดี โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายขัง แต่นัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวตามกำหนดนัด ทำให้วันดังกล่าวทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว 

.

กรณีพ่นสีสเปรย์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า ถูกฟ้องในข้อหา “ทำลายโบราณสถานฯ” ศาลพิพากษาจำคุกรวมสองกรรมเป็น 2 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะให้การรับสารภาพ คงจำคุก 12 เดือน ไม่รอลงอาญา

กรณีการพ่นสีสเปรย์ที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ และพ่นสีสเปรย์ที่ฐานเสาชิงช้า เป็นข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” พร้อมสัญลักษณ์ลักษณะเดียวกันกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566

โดยศาลอาญาได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 4 นัด ระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย. 2567 ซึ่งในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ทั้งสองคนได้ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

วันนี้ (9 ก.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 801 สายน้ำและออยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ โดยมีประชาชนและเพื่อนนักกิจกรรม ต่อมาในเวลาประมาณ 09.30 น. ศาลได้ออกพิจารณาคดี ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้อ่านรายงานสืบเสาะและพินิจของสายน้ำและออยตามลำดับ หลังจากนั้นจึงอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

หลังจากโจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ มีผู้ร้องที่รับมอบฉันทะจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน ได้มายื่นคำร้องให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 1,188.50 บาท 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, พ.ร.บ.ความสะอาด มาตรา 12 และ 56 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม

การพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง และฐาน “ร่วมกันขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ในที่สาธารณะฯ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี

การพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานเสาชิงช้า เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณ” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคสอง และฐาน “ร่วมกันขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ในที่สาธารณะฯ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี

รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี ทั้งนี้ จำเลยให้การรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้าง เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีมาก มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง กรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คงจำคุกคนละ 6 เดือน และฐานพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานเสาชิงช้า คงจำคุกคนละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 12 เดือน

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ พบว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้งในลักษณะคึกคะนองจนติดเป็นนิสัย สมควรลงโทษให้หลาบจำ จึงไม่รอการลงโทษ

ส่วนคำร้องของผู้ร้องที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1,180.50 บาท แก่ผู้ร้อง เห็นว่าในขณะพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองได้วางเงินต่อศาลแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนที่ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น เห็นว่า ในคดีอื่นศาลพิพากษาให้รอการลงโทษและไม่ปรากฏว่ามีโทษจำคุกแต่อย่างใด จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ประสงค์ ชุ่มจิตร และวรรณสิริ ศรีชัยเพชร

.

หลังฟังคำพิพากษา ทนายความสอบถามผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันจำเลยทั้งสองเองหรือไม่ ผู้พิพากษาตอบว่า ผู้บริหารศาลจะเป็นผู้พิจารณาสั่ง หลังจากนั้นสายน้ำและออย ถูกควบคุมตัวลงไปที่ห้องเวรชี้ ใต้ถุนศาลอาญา ระหว่างรอการประกันตัว

ต่อมาในเวลา 16.25 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางเงินประกันคนละ 50,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ 

.

ทั้งนี้ คดีที่สืบเนื่องกันอีก 5 คดี กรณีการพ่นสีสเปรย์ของ “สายน้ำ” และ “ออย” ในคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 นั้น ได้ทยอยไปสู่ชั้นอัยการ และชั้นพิจารณาคดีในศาล จนถึงวันนี้คดีความดังกล่าวได้มีคำพิพากษาชั้นต้นออกมาทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. กรณีพบการพ่นสีสเปรย์ในเขตดุสิต เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่า ทั้งสองคนมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12  ลงโทษตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี 

2. กรณีพ่นสีสเปรย์ในเขตพญาไท เมื่อวันที่ 15 ส.ค.​ 2567 ศาลอาญาพิพากษาว่า ทั้งสองคนมีความผิดฐานทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 โดยวินิจฉัยว่า แม้ว่าป้ายรถประจำทางที่ถูกสีสเปรย์พ่นทับจะมีข้อความว่า ‘ปิดปรับปรุง’ แต่เจตนาของป้ายดังกล่าวมีไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ 

ส่วนที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าการกระทำเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มิได้มีเจตนาในการทำลายทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เห็นว่าแม้จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเขียนข้อความต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 แต่ก็มิได้หมายความว่าบุคคลจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น  

ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 18,000 บาท รวม 2 กระทง การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 รวม 2 กระทง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 24,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 

3. กรณีพ่นสีสเปรย์ในเขตดินแดง รวม 4 จุด ได้แก่ บริเวณกำแพงโรงกรองน้ำ, กำแพงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร 2 แห่ง ซึ่งสายน้ำและออยถูกพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 แยกเป็น 3 คดี แต่ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องทั้งสองคน ในกรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณกำแพงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ทำให้คดีความในส่วนนี้เป็นอันยุติไป

ส่วนอีก 2 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือได้รวมพิจารณา และเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ได้มีคำพิพากษาว่า ทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ปรับคนละ 5,000 บาท รวม 2 กรรม ปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท

ซึ่งภายหลังฟังคำพิพากษาทั้งสามคดีเมื่อวันที่ 8, 15 และ 16 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น สายน้ำและออยได้ยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจจับ “สายน้ำ-ออย” สองนักกิจกรรม แจ้งข้อหากรณีพ่นสีสเปรย์ไม่เอา 112 ใน 4 คดีรวด ก่อนศาลไม่ออกหมายขัง

.

กรณีพบการพ่นสีสเปรย์ในคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ในพื้นที่เขตดุสิตรวม 2 จุด ได้แก่ บริเวณกำแพงและป้อมสัญญาณไฟจราจร  

หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 

ในวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 409 ของศาลแขวงดุสิต สายน้ำและออยเดินทางไปศาลตามนัดหมายไกล่เกลี่ย ก่อนที่จะเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ทำให้ในวันเดียวกันนั้นศาลมีคำพิพากษาว่าทั้งสองคนมีความผิดในฐาน “ทำให้เสียทรัพย์” ตาม ป.อาญา มาตรา 358 ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี 

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา สายน้ำและออยได้ยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ 

.

ในกรณีการพ่นสีสเปรย์เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ในเขตพญาไท จากเหตุคืนวันที่ 31 มี.ค. ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าของวันที่ 1 เม.ย. 2566 รวม 5 จุด ได้แก่ บริเวณป้อมจราจร, แผ่นป้ายโฆษณา, ตอหม้อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้า, ด้านข้างลิฟท์สถานีรถไฟฟ้า และป้ายรถประจำทาง โดยมีสองจุดที่เป็นทรัพย์สินของสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งได้มาร่วมร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีด้วย และได้ระบุค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 250 บาท  

หลังทั้งสองคนถูกพนักงานสอบสวน สน.พญาไท แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหา ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหายหรือเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ 360, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และ 35 

ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาในวันที่ 24 พ.ค. 2566

ในคดีนี้ศาลอาญาได้นัดหมายสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 3 นัด ในระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. 2567 โดยระหว่างการสืบพยาน ทั้งสองคนได้เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนในข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ หลังจากการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วศาลได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ส.ค.​ 2567

15 ส.ค.​ 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 สายน้ำและออยพร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา จนในเวลาต่อมาศาลออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า ถึงแม้ว่าป้ายรถประจำทางที่ถูกสีสเปรย์พ่นทับจะมีข้อความว่า ‘ปิดปรับปรุง’ แต่เจตนาของป้ายดังกล่าวมีไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ 

ส่วนที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าการกระทำเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มิได้มีเจตนาในการทำลายทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เห็นว่าแม้จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเขียนข้อความต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 แต่ก็มิได้หมายความว่าบุคคลจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และ 35 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ในฐาน “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตาม ป.อาญา มาตรา 360 และ “ฐานร่วมกันพ่นสีหรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความหรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงหรือติดกับถนนหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ติดอยู่กับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และฐาน “ร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ป้าย ศาลาที่พักหรือสิ่งอื่นใดที่ได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 เป็นกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 18,000 บาท รวม 2 กรรมเป็นจำคุก 3 ปี และปรับคนละ 36,000 บาท

การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรโทษ ลดโทษให้กรรมละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท รวมสองกรรมเป็นจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 24,000 บาท และให้ริบสีสเปรย์ของกลาง ทั้งนี้ เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับความเสียหายที่ต้องทาสีใหม่และใช้น้ำยาลบข้อความจากสีสเปรย์มีเพียงเล็กน้อยเป็นเงิน 250 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้นำเงินค่าเสียหายดังกล่าวมาวางต่อศาลแล้ว โทษจำคุกจึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 

ภายหลังฟังคำพิพากษา สายน้ำและออยได้ยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ

.

ในกรณีพ่นสีสเปรย์เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ในเขตดินแดง ในคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 รวม 4 จุด ได้แก่ บริเวณกำแพงโรงกรองน้ำ, กำแพงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร 2 แห่ง 

ต่อมาสายน้ำและออยถูกพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ซึ่งในกรณีนี้พนักงานสอบสวนได้แบ่งสำนวนคดีออกเป็น 3 คดีด้วยกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 นรินทร์ นินทิพานิชย์ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องทั้งสองคนในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 กรณีพ่นสีสเปรย์บริเวณกำแพงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ทำให้คดีความในส่วนนี้เป็นอันยุติไป 

แต่อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 สำนวนคดีจากกรณีพ่นสีสเปรย์อีก 3 จุดในเขตดินแดง ได้แก่ กำแพงโรงกรองน้ำและตู้ควบคุมไฟจราจร 2 แห่ง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 มีคำสั่งฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในวันที่ 25 มี.ค. 2567 

ต่อมาในวันสืบพยานนัดแรก (25 ก.ค. 2567) จำเลยทั้งสองได้เปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ทำให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ส.ค.​ 2567 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 20 สายน้ำและออย พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ต่อมาศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า ทั้งสองคนมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนกรรมละ 5,000 บาท รวม สองกรรมปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท

ภายหลังฟังคำพิพากษา สายน้ำและออยได้ยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ

.

X