เมื่อวันที่ 23 และ 27-30 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานในคดีของ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์ภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขาวิชาเดียวกัน ในเหตุที่ถูกกล่าวหาข้อหาว่าได้ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ฯ จากกรณีที่อาจารย์และนักศึกษาของสาขาวิชาดังกล่าวได้ร่วมกันตัดโซ่คล้องประตูและเข้าไปในพื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปี ตามรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564
ในช่วงก่อนเริ่มการสืบพยานโจทก์ตามนัด เช้าวันที่ 23 ส.ค. 2567 พนักงานอัยการโจทก์, อัศวิณีย์ หวานจริง ผู้รับมอบอำนาจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ทนายความผู้รับมอบอำนาจฯ, นิติกรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จำเลย และทนายความจำเลยทั้งสาม เดินทางมาศาล
ศาลได้พยายามให้คู่ความเจรจาไกล่เกลี่ยคดีกัน เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่ต้น จากนั้นฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้พูดคุยอยู่ตลอดครึ่งเช้าของวัน คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงประนีประนอมยอมความกันได้บางส่วน โดยจำเลยทั้งสามตกลงชำระเงินจำนวน 3,664 บาท แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น “ค่าทำนุบำรุงหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
ขณะที่โจทก์ร่วมได้แถลงไม่ติดใจในเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 148,874 บาทอีก ฝ่ายโจทก์ร่วมยังตกลงถอนคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1
นอกจากนี้ อัศวิณีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ทนายความโจทก์ร่วม และนิติกรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยทั้งสามในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และขอถอนคำร้องทุกข์ตามข้อหาดังกล่าว เมื่อศาลสอบถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาดังกล่าว ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับลง มีคำสั่งให้จำหน่ายความผิดฐานนี้ออกจากสารบบความ
สำหรับข้อหาร่วมกันบุกรุก โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365 นั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้เป็นคดีอาญาแผ่นดินไม่สามารถถอนคำฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ได้ หากจะถอนฟ้อง ฝ่ายอัยการโจทก์ต้องทำเรื่องไปยังอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาต่อไป ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ ศาลจึงให้มีการสืบพยานต่อไปในเฉพาะข้อหาดังกล่าว
การสืบพยานเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 23 ส.ค. 2567 เป็นต้นมา โดยการสืบพยานเป็นไปอย่างเข้มข้น ตลอด 4 วันครึ่ง สืบพยานโจทก์ไปได้จำนวน 5 ปาก ยังเหลือสืบพยานโจทก์อีก 2 ปาก และพยานฝ่ายจำเลยอีก 11 ปาก ศาลจึงให้คู่ความกำหนดวันนัดเพิ่มเติม จำนวนอีก 3 นัด คู่ความจึงตกลงวันนัดสืบพยานเพิ่มในวันที่ 15-17 ม.ค. 2568 ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์ในคดีต่อไป
.
สำหรับเหตุที่มาของคดีนี้ ในช่วงดังกล่าว นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ได้พยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ มช. ตามระเบียบ เพื่อแสดงผลงานศิลปะตามวิชาที่ลงเรียน แต่ทางผู้บริหารไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว จนใกล้จะถึงวันที่กำหนดจัดงาน จึงได้ประกาศร่วมกัน “ทวงคืนหอศิลป์ มช.”
แต่ในวันที่นัดหมายดังกล่าว ทางหอศิลป์ฯ ได้มีการคล้องโซ่และกุญแจล็อกประตูไว้ ซึ่งปกติแล้วไม่มีการปิดกั้นในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด นักศึกษาและอาจารย์สามารถผ่านเข้าออกได้โดยอิสระ ทั้งยังมีการตัดน้ำตัดไฟหอศิลป์ฯ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์จึงได้ร่วมกันตัดโซ่เพื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่ และมีการจัดแสดงงานศิลปะตามกำหนดการจนเสร็จสิ้น
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้มีคำสั่งฟ้องคดีจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และร่วมกันบุกรุก โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365
ต่อมาในวันที่ 18 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทนายความเข้ายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และยื่นคำร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 44/1 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน 15 รายการ อาทิเช่น ค่าไฟฟ้า กลอนประตู ค่าสีน้ำทาภายใน ฯลฯ รวมเป็นเงิน 148,874 บาท แต่หลังการถอนฟ้องและถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าว ทำให้คดีเหลือข้อหาร่วมกันบุกรุกฯ เพียงข้อหาเดียว
.