อัยการสั่งฟ้องคดี “ทวงคืนหอศิลป์ มช.” ก่อนศาลเชียงใหม่ให้ประกันตัว 3 อาจารย์-นักศึกษา

23 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ นัดหมายสั่งฟ้องในคดีของ ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์ภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขาวิชาเดียวกัน ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ จากกรณีที่อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาดังกล่าวร่วมกันตัดโซ่และเข้าไปใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีตามรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564

.

อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นไม่ฟ้อง แต่ตำรวจภาค 5 เห็นแย้ง

ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ได้พยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ มช. ตามระเบียบ เพื่อแสดงผลงานศิลปะตามวิชาที่ลงเรียน แต่ทางผู้บริหารไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว และอาจส่งผลต่อการเรียนการสอน จึงได้ประกาศร่วมกัน “ทวงคืนหอศิลป์” แต่พบว่าในวันที่นัดหมาย ทางหอศิลป์ฯ ได้มีการคล้องโซ่และกุญแจล็อกประตูไว้ ซึ่งปกติแล้วไม่มีการปิดกั้นในลักษณะดังกล่าว นักศึกษาและอาจารย์สามารถผ่านเข้าออกได้โดยอิสระ ทั้งยังมีการตัดน้ำตัดไฟ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์จึงได้ร่วมกันตัดโซ่เพื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่ และมีการจัดแสดงงานศิลปะจนเสร็จสิ้น

หลังเกิดเหตุ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น ได้ไปแจ้งความกล่าวหานักศึกษาและอาจารย์ ไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ภายใต้การพิจารณาและมีหนังสือมอบอำนาจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565

ทั้งสามคน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ และร่วมกันบุกรุก โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 และ 365

ทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และให้การต่อสู้คดีแล้ว ต่อมาตำรวจได้นัดส่งสำนวนคดีให้กับอัยการจังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในแต่ละเดือนตลอดปีที่ผ่านมา จนการนัดฟังคำสั่งครั้งที่ 8 อัยการแจ้งว่าจะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ทราบว่าเดิมอัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นไม่ฟ้องคดี แต่เมื่อสำนวนขึ้นไปที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้มีความเห็นแย้งให้สั่งฟ้องคดี

.

.

อัยการยื่นฟ้องคดี กล่าวหาจำเลยทำให้ทรัพย์สิน มช. เสียหายรวม 3,314 บาท อ้างเข้าไปใช้หอศิลป์โดยไม่มีเหตุอันควร

เวลา 10.00 น. อาจารย์และนักศึกษาทั้งสามคน พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปรายงานตัวที่อัยการเพื่อทราบคำสั่งฟ้อง ก่อนจะเดินไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทั้งนักศึกษา อาจารย์ และศิลปิน เดินทางไปให้กำลังใจ กว่า 20 คน

จากนั้น อาจารย์และนักศึกษาทั้งสามคนได้แถลงข่าวอยู่บริเวณหน้าศาล ก่อนเวลาประมาณ 11.30 น. จะถูกนำตัวไปรอการประกันตัวใต้ถุนศาล

สว่าง จันทะสาร พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เรียงฟ้องคดีนี้ พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 จำเลยทั้งสามกับพวกอีกหลายคน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันใช้คีมตัดเหล็กตัดกุญแจพร้อมโซ่คล้องประตูรั้ว จำนวน 4 ชุด ราคา 2,166 บาท ทุบทำลายกลอนประตู 2 ตัว ราคา 830 บาท และทุบทำลายสายยู 1 ตัว ราคา 318 บาท ทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้เสียหาย จนแตกหักเสียหาย 

อัยการระบุว่าเป็นการร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น และจำเลยทั้งสามกับพวก โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในหอศิลปวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ความครอบครองของคณะวิจิตรศิลป์ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข 

ฟ้องยังระบุว่า คดีเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว โดยมี อัศวิณีย์ หวานจริง เป็นผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย โดยหากจำเลยทั้งสามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล

ต่อมา เวลาประมาณ 17.10 น. หลังรอคำสั่งกว่า 5 ชั่วโมง ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสามคน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิต่อไปวันที่ 5 มี.ค. 2567 และนัดพร้อมคดีวันที่ 18 มี.ค. 2567

.

ภาพเหตุการณ์ตัดโซ่ประตูหอศิลป์ มช. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 (ภาพจากประชาไท)

.

นักศึกษาเคยร่วมกันฟ้องศาลปกครอง และ กสม. ก็มีความเห็นว่ามหาลัยละเมิดสิทธิ

ทั้งนี้ในระหว่างความขัดแย้งเรื่องการขอใช้หอศิลป์ มช. ทางนักศึกษาของสาขาวิชา Media Art and Design ยังได้มีการฟ้องร้องความล่าช้าของผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ที่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ จนอาจเกิดความเสียหายต่อนักศึกษา โดยได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ว่าการไม่ออกคำสั่งของผู้ดูและผู้บริหารของหอศิลป์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

แต่การพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้เข้าใช้งานพื้นที่หอศิลป์จนเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ศาลปกครองจึงได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากเห็นว่าล่วงพ้นเวลาที่ศาลจะมีคำสั่งใด ๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายของนักศึกษาได้แล้ว

อีกทั้ง ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้มีการหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาตรวจสอบประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 ได้พิจารณามีความเห็นว่าการที่คณะวิจิตรศิลป์ โดยคณะกรรมการฯ ไม่แจ้งผลการพิจารณาขอใช้พื้นที่หอศิลป์ มช. ให้นักศึกษาทราบในเวลาอันสมควร และขัดขวางไม่ให้อาจารย์และนักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการจัดแสดงผลงานศิลปะ จึงกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

สำหรับประเด็นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับอาจารย์และนักศึกษาที่ร่วมเข้าไปในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์นั้น หากอาจารย์และนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีเห็นว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ 

ทาง กสม. ระบุว่ายังได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ใช้ความระมัดระวัง ในการใช้ดุลพินิจที่อาจกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ และให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิจิตรศิลป์ปรับแก้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเกี่ยวกับขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานของนักศึกษา และกำหนดกรอบระยะเวลาในการยื่นคำขอและระยะเวลาในการพิจารณาคำขออนุญาตให้ชัดเจน รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำสาขาวิชาและ/หรือนักศึกษาที่ขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมได้เข้าชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอโดยให้คำนึงถึงเสรีภาพทางวิชาการด้วย

.

X