วันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 2567) เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของอานนท์ นำภา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา พนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาทั้งสองในขณะที่อานนท์ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 คดีอื่น โดยพบว่าคดีนี้ ร.ต.อ.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2565 ณัฐพล รัตนทัศนีย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นผู้เรียงฟ้อง คดีต่อศาลอาญา โดยกล่าวหาว่า
1. วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 21.42 น. เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” โพสต์ว่า “การที่ในหลวงวชิราลงกรณ์ลงมาบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง นี่ขัดกับหลักประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีใครบอกเลยหรือว่ามันผิด และถ้าไม่มีใครบอก ก็จะทําผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูด ก็โดน 112 แบบนี้ สังคมมีแต่จะพากันเดินลงเหว”
2. วันที่ 3 ก.พ. 2564 เวลา 20.25 น. เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” โพสต์ว่า “ย้ายลูกจากอัยการไปเป็นทหาร นี่แหละตัวอย่างของการทําตัวอยู่เหนือระบบระบอบทั้งปวง ทําอะไรตามใจ และใช้อํานาจบริหารประเทศอย่างแท้จริง ไม่ทําตนให้เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้คนเคารพในฐานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะชิบหายไปมากกว่านี้”
ในคดีนี้อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีแยกเป็น 2 กระทง แบ่งเป็นข้อความละ 1 กระทง โดยเฉลี่ยคดีมาตรา 112 ในช่วงปัจจุบัน ศาลมักลงโทษจำคุกอยู่ที่กระทงละ 3 – 4 ปี และปัจจุบัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 3 คดี ทำให้เขาถูกลงโทษจำคุกรวม 10 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 10 ปี 2 เดือน 20 วัน
แม้คดีทั้งหมดยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่ได้ถึงที่สุด แต่หากคดีที่กำลังจะตัดสินใหม่นี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกรวมกันเกินกว่า 5 ปี อาจทำให้อานนท์มีโทษจำคุกสะสมเพิ่มเกินกว่า 15 ปี และทำให้เขาจะต้องถูกย้ายตัวไปอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษเกินกว่า 15 ปี
สรุปภาพรวมการสืบพยาน
คดีนี้มีการสืบพยานรวม 2 นัด ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มิ.ย. 2567 มีพยานโจทก์เข้าเบิกความ 3 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก โดยศาลมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ปากที่เป็นพยานความเห็นรวม 4 คน ออกทั้งหมด ระบุว่า ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้พยานบุคคลดังกล่าวมาเบิกความให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม อัยการได้แถลงคัดค้านคำสั่งตัดพยานโจทก์ไว้ด้วย
ในการสืบพยานอัยการโจทก์นำสืบว่า โพสต์ข้อความของอานนท์ทั้งหมดทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงด้วยตนเอง และทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารประเทศตามอำเภอใจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียชื่อเสียง
ด้านอานนท์มีข้อต่อสู้ว่า โพสต์ข้อความตามฟ้องเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
คำเบิกความของ ‘อานนท์’ จากห้องพิจารณาคดี
ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 อานนท์อ้างตัวเองเป็นพยานจำเลยเข้าเบิกความ โดยกล่าวถึงการตีความมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า การที่อัยการฟ้องโดยระบุข้อกฎหมายข้างต้นมาด้วยกันนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน การที่ระบุว่า เราไม่สามารถติชมหรือฟ้องร้องกษัตริย์ได้นั้น ขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้สัตยาบันและเข้าร่วมเป็นสมาชิกกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เพื่อรองรับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ในการพูดหรือแสดงความเห็นของตนทุกครั้งก็แสดงออกไปด้วยความสุจริตใจ อานนท์บอกกับศาลว่า แล้วแต่ท่านว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมต้องมีหน่วยกล้าตายเช่นนี้ เพื่อให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้าได้
“ผมขอต่อท่านทั้งหลายว่า ในการพิพากษาคดี ม.112 ขอท่านอย่าได้สถาปนาคำพิพากษาเช่นในคดีที่ผ่านมาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเมื่อสังคมอารยประเทศเขามองเข้ามา มันน่าละอาย การพิพากษาเช่นนี้ไม่ได้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อารยประเทศเขาใช้กัน”
อ่านคำเบิกความฉบับเต็มของอานนท์ : “THE KING CAN DO NO WRONG” ผ่านปากคำในคดี 112 คดีที่ 4 ของ อานนท์ นำภา