ฐารดา ฉิมพลีพงศ์ลดา
Day Breaker Network
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ศาลอาญาได้นัดสืบพยานโจทก์ในคดีของมวลชนอาสา We Volunteer หรือการ์ดวีโว่ และประชาชน รวม 45 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มียุทธภัณฑ์และเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีที่วีโว่และประชาชนรวม 48 ราย ถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุม REDEM กำลังเดินจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา เพื่อทำกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล
จนถึงปัจจุบัน คดียังคงสืบพยานโจทก์และจำเลยไม่แล้วเสร็จ ทำให้ยังไม่มีคำพิพากษา โดยยังเหลือการสืบพยานอีกอย่างน้อย 9 นัด ในหลายช่วงเดือนของครึ่งปีหลัง 2567 นี้
สภาพแวดล้อมในห้องพิจารณาคดี
ห้องพิจารณาคดีค่อนข้างกว้าง เนื่องจากคดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก พยานฝ่ายโจทก์และจำเลยทยอยเข้ามาในห้องพิจารณาคดีตามเวลานัดหมาย 09.00 น. แต่เนื่องจากจำเลยมีจำนวนมาก หลายรายมีภาระงานและติดอุปสรรคการคมนาคมที่หนาแน่น ทำให้การพิจารณาคดีเริ่มล่าช้ากว่าเวลานัดหมายไปเกือบ 50 นาที
แม้จะไม่พบสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการสืบพยานในครั้งนี้ แต่ยังมีญาติของจำเลยหลายรายมาร่วมฟังการพิจารณาคดีอยู่ตลอดทั้งวัน ด้านทนายความมีการพูดคุยกับจำเลยเพื่อเตรียมตัวก่อนพิจารณาคดีในระหว่างที่รอจำเลยคนอื่น ๆ ภายในห้องเป็นไปด้วยความสงบ จำเลยทักทายพูดคุยกันโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่นั่งอยู่ด้านหลังหนึ่งท่านคอยตรวจสอบไม่ให้นำอาหารและน้ำดื่มเข้ามายังห้องพิจารณาคดี
ระหว่างการพิจารณาคดี
เมื่อคณะผู้พิพากษาเข้ามาในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาได้ตรวจนับจำนวนจำเลยเท่าที่มาถึงห้องพิจารณาคดีแล้ว ซึ่งขณะล่วงเวลานัดหมายคดีไปกว่า 1 ชม.แล้ว ทว่าจำเลยหลายรายยังเดินทางมาไม่ถึง หนึ่งในนั้นเป็นติดภารกิจ ‘การสอบนอกตาราง’ แต่สุดท้ายการพิจารณาคดีก็สามารถเริ่มขึ้นได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งผู้เป็นพยานฝ่ายโจทก์ได้กล่าวปฏิญาณแล้วนั่งลงที่คอกพยานหน้าบัลลังก์ การสืบพยานฝ่ายโจทก์จึงเริ่มต้นขึ้น
พยานปากแรกในวันนี้เบิกความโดยสรุปว่า ได้รับรายงานว่าจะมีการรวมกลุ่มมั่วสุมของกลุ่ม WeVO ที่ศูนย์การค้าเมเจอร์ รัชโยธิน กลุ่มนี้มีสมาชิกกว่า 600 คน พยานพร้อมกับตำรวจอีกหลายนายที่ได้รับคำสั่งจึงเข้าทำการจับกุมพวกจำเลยที่ชั้น 5 ของศูนย์การค้าดังกล่าว แต่พวกจำเลยได้หลบหนีและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการยิงลูกแก้วจากหนังสติ๊กเพื่อทำร้ายและทำการหลบหนีออกไป เมื่อจับกุมได้และทำการตรวจค้นได้พบเสื้อเกราะ วิทยุสื่อสาร 20 เครื่อง และพลุไฟ
ด้านจำเลยที่นั่งฟังอยู่ต่างก็บ่นเสียงระงมเหมือนว่าไม่เหมือนเหตุการณ์จริงต่อคำให้การของพยานปากนี้อยู่เป็นระยะ
“ทำไมเขารู้ดีกว่าพวกเราอีกเนี่ย …”
“เขาพูดอะไรของเขาเนี่ย …”
บางคนแม้จะไม่ได้พูดออกมา แต่ก็สบตาและส่ายหน้าให้กันและกัน แต่กับบางคนก็เลือกจะหลับตาไม่รับรู้รับฟังไปเลยก็มี
หลังจากนั้นคราวถามค้านของทนายความจำเลย บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีดูเหมือนจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง จำเลยหลายคนเริ่มเปลี่ยนไปนั่งแถวหน้า ๆ ญาติจำเลยบางคนที่เผลอหลับไปก็ต้องตื่นขึ้นเมื่อได้ยินเสียงดังและชัดเจนของทนายจำเลยที่ชื่อว่า “รอน” นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
การแก้ต่างโดยทนายจำเลยเริ่มต้นขึ้น สรุปได้ว่า กลุ่ม WeVO ที่พยานโจทก์อ้างว่าเป็นลักษณะการรวมกลุ่มกันนั้นเป็นการมั่วสุมราวกับพวกใต้ดิน ในความจริงแล้วกลุ่มมีการประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครสมาชิกใหม่อย่างชัดเจนต่อสาธารณะ และเป็นที่รู้จักอย่างวงกว้าง นอกจากจะมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการชุมนุมแล้ว กลุ่ม WeVO ยังทำหน้าที่คอยช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อีกด้วย
ส่วนในวันเกิดเหตุที่จำเลยถูกจับกุม ทนายจำเลยยืนยันว่าพวกจำเลยไม่ได้มีการหลบหนี นอกจากนี้ยังได้ร่วมเดินเท้าไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อรายงานตัวแสดงความบริสุทธิ์อีกด้วย แม้ว่าขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่นั้นจะยังไม่ทราบเรื่องการจับกุมที่เกิดขึ้นที่ห้างด้วยซ้ำไปก็ตาม
นอกจากนี้ ในการจับกุมมีจำเลยบางรายได้รับบาดเจ็บ ถูกละเมิดทางร่างกายและจิตใจ ตลอดการถามค้านของทนายจำเลยพยานโจทก์ตอบกลับเพียงสั้น ๆ ทำนองว่า เห็นด้วย ไม่รู้ และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ข้อสังเกต
- พยานฝ่ายโจทก์เบิกความให้ข้อมูลคลุมเครือ มีการหลงลืมบ้างเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยในตอนบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจพยานฝ่ายโจทก์มีการสืบพยานต่ออีกครั้ง แต่ยังให้การไม่ตรงกับในช่วงเช้า โดยได้เบิกความเปลี่ยนแปลงบางจุด เช่น ช่วงเช้าเบิกความว่าจับกุมจำเลยภายในชั้น 5 ของห้างฯ แต่ช่วงบ่ายเบิกความว่าการจับกุมเป็นลักษณะไล่จับกุมตั้งแต่ชั้น 1 แต่เมื่อจับได้แล้วจึงนำจำเลยมารวมไว้ที่ชั้น 5 ของห้างฯ
- หลายคนได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เป็นพยานฝ่ายโจทก์ที่อาจถูกทำร้ายในวันเกิดเหตุ โดยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าผู้ก่อเหตุเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม WeVO ไม่พอใจและนำมาสู่การดำเนินคดีนี้
- การนัดสืบพยานทำให้จำเลยทั้ง 45 คนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางอีก ทั้งยังทำให้ต้องขาดการทำงานหรือการเรียน
- มีญาติของจำเลยและประชาชนหลายรายที่สนใจอยากสังเกตการณ์คดีนี้ แต่ไม่กล้าเข้ามาสังเกตการณ์ โครงการนี้ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์คดีเท่านั้น แต่ยังนำพาให้ประชาชนผู้ที่สนใจคนอื่น ๆ เข้ามาในห้องพิจารณาคดีกับพวกเราด้วย
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง