มาร่วมกันใช้สิทธิของเราให้เกิดแสงสว่างแห่งความจริงที่เที่ยงธรรมกันเถอะ!

วิชญาดา เครือแก้ว

Day Breaker Network 

วันที่ 23 เม.ย. 2567 ศาลแขวงสุรินทร์ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีคาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 คดีนี้มี 2 จำเลยคน ได้แก่ นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับสองนักกิจกรรมในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ คนละ 30,000 บาท แต่สำหรับวิสณุพร ผู้เป็นจำเลยที่ 2 ได้ลดโทษเหลือปรับ 20,000 บาท เพราะเบิกความเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

ในครั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมสังเกตการณ์คดีดังกล่าวด้วย หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าการเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถ ‘ทำได้’ โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใดก่อน และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย 

อีกทั้งการเข้าไปนั่งเฝ้ามองการพิจารณาคดีก็จะทำให้เจ้าพนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ หรือบุคคลที่ทำงานในศาล หรือในห้องพิจารณาคดีนั้นมีความรอบคอบในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาจะตระหนักได้ว่ามี ‘สายตาจากประชาชน’ เฝ้ามองดูการทำงานของพวกเขาอยู่ ในส่วนนี้เองจะเป็นการสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ให้กับกระบวนการยุติธรรมไม่มากก็น้อย

เราเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในหลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ภายใต้โครงการ Daybreaker Network ผู้เขียนเห็นการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการทันที 

กิจกรรมจะเป็นการเข้าร่วมอบรมผ่านทางออนไลน์ ด้วย Zoom โดยจะมีพี่ ๆ หลายคนมาแลกเปลี่ยนความรู้ ได้รู้จักคนใหม่ ๆ รู้เรื่องราวใหม่ ๆ ทุกคนพูดคุยแบบเป็นกันเอง เปรียบได้ว่าเหมือนคนที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันเลยก็ได้ พวกเราคุยกันเรื่องภาพยนตร์ แลกเปลี่ยนข่าวสารในช่วงต่าง ๆ เป็นระยะเวลาโครงการ 1 เดือนที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และแน่นอนพวกเราไม่เพียงแต่คุยกันผ่านหลังคีย์บอร์ดเท่านั้น … 

ช่วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายของหลักสูตร พวกเราได้เดินทางลงพื้นที่ไปดู ‘ของจริง’ สังเกตการณ์สถานการณ์จริงในคดีที่เกิดขึ้นจริง เราเลือกที่ไปยังจังหวัดสุรินทร์ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประชาชน 2 รายถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 ประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตการณ์ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกปั่นป่วน ผู้คนเจ็บป่วย ล้มตาย เศรษฐกิจล้มละลาย ย่ำแย่ เกิดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือป้องกันเชื้อไวรัส และอีกหลายด้านตามมา 

กิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องวัคซีนป้องกันโรคโควิด ‘ที่ดีกว่า’ เพื่อชาวสุรินทร์ เรามีเพื่อนร่วมทางหนึ่งคนในการเดินทางมุ่งหน้าไปสุรินทร์ครั้งนี้ด้วย เราทั้งสองคนไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน พวกเราเดินทางโดยรถสาธารณะนานกว่า 4 ชั่วโมงและพักค้างคืนที่สุรินทร์ 1 คืน 

เมื่อถึงเช้าวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรากับเพื่อนก็ออกเดินทางจากที่พักไปยังศาลแขวงสุรินทร์แต่เช้าตรู่ เมื่อไปถึงและเข้าไปในศาลแล้ว ด้านหน้าศาลมีกระดานแสดงรายละเอียดนัดหมายคดีประจำวันของศาล ทว่าเราสองคนกลับไม่เห็นรายชื่อคดีที่ตั้งใจมาสังเกตการณ์ เราจึงไปสอบถามกับฝ่ายประชาสัมพันธ์โดยได้บอกหมายเลขคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบค้นว่าคดีนี้มีนัดพิจารณาที่ห้องไหน 

เจ้าหน้าที่ยืนกรานว่า ‘ในวันนี้ไม่มีคดีที่เราตั้งใจมาแน่นอน’ แต่เราสองคนก็ยังขอให้เจ้าหน้าที่ลองค้นหาให้อีกครั้งหนึ่ง แต่เขาก็ยืนยันว่า ‘ไม่มี’ 

จังหวะนั้นเองผู้เขียนหันไปเห็น ‘คุณลุงนิรันดร์’ จำเลยในคดีที่เรากำลังงมหาห้องพิจารณาคดีอยู่กำลังเดินเข้ามาภายในศาลพอดี โชคดีที่เราจำได้ในทันทีว่าคุณลุงคือจำเลยในคดีนี้จึงเข้าไปทักทายคุณลุงและขอติดตามเดินไปยังห้องพิจารณาคดี 

ก่อนเข้าไปในห้องพวกเรามีโอกาสได้นั่งคุยกับคุณลุงครู่หนึ่ง พอคุณลุงรู้ว่าพวกเราคือเยาวชนที่สนใจในการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้ในคดีทางการเมือง คุณลุงเล่าว่ายอมรับว่าตัวเองนั้นผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ทว่าค่าปรับที่ศาลชั้นต้นลงโทษนั้น ‘สูงมาก’ ลุงและเพื่อนจำเลยอีกคนจึงขอสู้คดีต่อด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษา 

ลุงจำเลยยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความจริงเขาไม่ใช่คนจัดกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าวด้วยซ้ำไป เป็นเพียงผู้ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวของตนเองและประชาชนคนสุรินทร์ 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าให้ลงโทษปรับตามเดิมนั้นสมควรแล้ว 

เหตุการณ์ต่อจากนั้นเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนพึ่งเคยพบเจอ หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ คุณลุงนิรันดร์ซึ่งยังจ่ายค่าปรับไม่ครบ โดยยังค้างอีก 7,000 บาทนั้น เขาได้ขอผ่อนจ่ายค่าปรับที่เหลือโดยศาลให้กล่าวสาบานตนว่า ‘จะนำเงินมาจ่ายให้ครบด้วย’ 

ประสบการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นโอกาสที่ผู้เขียนขอขอบคุณผู้จัดโครงการและทีมงาน รวมทั้งขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้กับคุณลุงนิรันดร์ ลวดเงิน และคุณลุงวิสณุพร สมนาม ที่ออกมาสู้เพื่อสิทธิของพี่น้องชาวสุรินทร์ พวกท่านกล้าหาญมาก สุดท้ายแล้วผู้เขียนได้แนบภาพน่ารัก ๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายการต่อสู้ของผู้ต่อสู้ทางการเมืองด้วย

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ 2 นักกิจกรรมคนละ 30,000 คดี ‘คาร์ม็อบสุรินทร์ 15 ส.ค. 64’ ชี้ โพสต์ชักชวน- ปราศรัยชี้นำขบวน ถือเป็นผู้จัดชุมนุม

X