ตรวจพยานหลักฐานส่องโกงราชภักดิ์ 10 เดือนไม่คืบ เตรียมออกหมายจับ ‘การ์ตูน’

ตรวจพยานหลักฐานส่องโกงราชภักดิ์ 10 เดือนไม่คืบ เตรียมออกหมายจับ ‘การ์ตูน’

11 เม.ย. 2561 ศาลทหารกรุงเทพเลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดีส่องโกงราชภักดิ์ ที่นักศึกษา-นักกิจกรรม และประชาชนรวม 8 คน ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป พร้อมเตรียมออกหมายจับ ‘การ์ตูน’ ชนกนันท์ หลังขาดนัดเป็นครั้งที่ 2 และนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี

10.15 น. สิรวิชญ์ เสรธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, กิตติธัช สุมาลย์นพ, วิศรุต อนุกูลการย์, กรกนก คำตา, วิจิตร์ หันหาบุญ, และกรกช แสงเย็นพันธ์ จำเลยที่ 1-7 ที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง มาศาลทหารกรุงเทพตามนัดพร้อม โดย ‘การ์ตูน’ ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาล ตุลาการได้ตักเตือนกรกนก คำตา จำเลยที่ 5 ให้มาศาลตามนัดในครั้งต่อไป หลังนัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 จำเลยจำนัดผิดพลาดจนมาไม่ทันการพิจารณา

ส่วนชนกนันท์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาลตามนัดเป็นครั้งที่ 2 นายประกันและทนายความจำเลยแจ้งต่อศาลว่าไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงสั่งให้ปรับนายประกันเป็นเงิน 10,000 บาท หากนายประกันไม่ชำระค่าปรับจะยึดหลักทรัพย์ประกัน และให้อัยการทหารเตรียมข้อมูลเพื่อขออกหมายจับ หากไม่สามารถจับตัวจำเลยได้หลังออกหมายจับภายใน 1 เดือน ให้โจทก์รีบแจ้งต่อศาลเพื่อเตรียมจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 8 และให้เลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 11 ก.ค. 2561 เวลา 08.30 น.

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ศาลทหารกรุงเทพเลื่อนนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ แรกสุด ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้เมื่อ 19 มิ.ย. 2560 และต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากมีข้อโต้แย้งจากการที่ตุลาการศาลทหารพยายามจะตัดพยานฝั่งจำเลย (ดู นัดตรวจพยานคดี “ส่องโกงราชภักดิ์” ศาลสั่งตัดพยานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อ้างไม่เกี่ยวกับคดี) ต่อมาวันที่ 21 ก.ย. 2560 พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์, พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์, และ พ.อ.สืบพงษ์ นิลกุล องค์คณะตุลาการเริ่มการตรวจพยานหลักฐานด้วยการแจ้งว่าศาลจะไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยบางรายการ

บัญชีพยานจำเลยที่ศาลทหารกรุงเทพจะไม่รับ ได้แก่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และคลิปการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ พล.อ.ไพบูลย์และ พล.อ.อุดมเดช รวมถึงพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด

นอกจากนี้ ศาลยังตัดพยานเอกสารซึ่งเป็นสำเนาเอกสารสรุปการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพบก สำเนาเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ และสำเนาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 ชุด เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีนี้อัยการทหารฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ใช่คดีทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยได้คัดค้านว่ากระบวนการพิจารณาครั้งนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยโดยไม่ถามถึงประเด็นการนำสืบที่เกี่ยวข้องกับพยานเหล่านั้น อีกทั้งในคำฟ้องยังระบุว่า จำเลยชุมนุมกันโดยกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. จำเลยจึงต้องนำพยานเหล่านี้มาสืบเพื่อแก้ต่างฟ้องของโจทก์ และเป็นประเด็นโดยตรงในคดี

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘นิว’ จำเลยที่ 1 ลุกขึ้นมาขออนุญาตแถลงต่อศาลต่อจากทนายความว่า จำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาแก้ต่างฟ้องของโจทก์ หากศาลตัดพยานเหล่านั้นของจำเลยอาจจะไม่เกิดความยุติธรรมในกระบวนการพิจารณา ในเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยชุมนุมกันโดยกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. จำเลยจึงมีสิทธิต่อสู้ในประเด็นนั้น

จากนั้น ศาลให้อัยการทหารและทนายความจำเลยแถลงประเด็นที่จะนำสืบ โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ลำดับแรก คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา ลำดับที่ 2-8 เป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟที่พบเห็นเหตุการณ์ ลำดับที่ 9-11 เป็นนายทหารผู้จับกุม ลำดับที่ 12 คือ พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ทราบมูลเหตุการกระทำผิด ลำดับที่ 13-22 คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยฝ่ายจำเลยไม่อาจรับพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์ไม่นำคำให้การชั้นสอบสวนของพยานแต่ละคนมาให้จำเลยตรวจในนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยจริงไม่อาจทราบเนื้อหาที่พยานได้ให้การไว้

ด้านทนายความจำเลยแถลงว่า จำเลยที่ 1-5 และ 7-8 อ้างตนเองเป็นพยาน ลำดับถัดมาคือพยานผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการชุมนุม, พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน, ประจักษ์พยานในเหตุการณ์, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ซึ่งกรณีของ พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช หากโจทก์รับว่าบุคคลที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลในคลิปวิดีโอข่าวเป็น พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช จริง จำเลยก็ไม่ติดใจที่จะนำพยานทั้งสองปากมาให้การต่อศาล พยานลำดับที่ 11-12 คือคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อัยการทหารแถลงไม่รับพยานหลักฐานของจำเลย โดยเฉพาะในกรณี พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช โจทก์ยอมรับว่าในคลิปข่าวที่ให้สัมภาษณ์คือบุคคลทั้งสองจริง แต่ไม่อาจรับเนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ได้ ด้านศาลยังคงยืนยันที่จะไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร, คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และรายงานการตรวจสอบการทุจริต

เมื่อทนายความจำเลยถามว่าศาลใช้กฎหมายใดในการไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลย ตุลาการศาลทหารตอบเพียงว่า ศาลใช้อำนาจทั่วไปของศาล

ต่อมา โจทก์อ้างว่าติดภารกิจในช่วงบ่าย ศาลจึงให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2561 ซึ่งในนัดดังกล่าว ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาล จึงเลื่อนมาวันที่ 11 เม.ย. 2561

X