ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ขึ้นศาลทหาร คดีส่องโกงราชภักดิ์ยื่นโต้แย้งเขตอำนาจศาล

15 มิ.ย. 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีส่องโกงราชภักดิ์ จำเลยยื่นโต้แย้งเขตอำนาจศาล เนื่องจากความผิดไม่อยู่ในข่ายคดีที่ต้องพิจารณาในศาลทหาร ประกาศ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารต้องสิ้นผลไปตามกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจออกประกาศ

11.00 น. ตุลาการศาลทหาร ประกอบด้วย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู, น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ, และ พ.อ.สราวุธ จรัสพินิจ เริ่มพิจารณาคดีที่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นำภา, นายกิตติธัช สุมาลย์นพ, นายวิศรุต อนุกูลการย์, นางสาวกรกนก คำตา, และนายวิจิตร์ หันหาบุญ จำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ถูกฟ้องจากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง ฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  ข้อ 12 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ในการพิจารณาครั้งนี้ จำเลยที่ 1-5 ยื่นคำร้องขอโต้แย้งเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าคดีนี้ควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงตลิ่งชัน คำร้องขอโต้แย้งเขตอำนาจศาลระบุเหตุผล ดังนี้

1.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ข้อ 2 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

2.ประกาศ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้ เนื่องจากตามหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย คือการปกครองโดยกฎหมายและความยุติธรรม กฎหมายจะต้องตราขึ้นโดยความยินยอมของประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 25 ที่ไทยเป็นรัฐภาคี
คสช. เข้ามาเป็นผู้ปกครองโดยการยึดอำนาจปกครองประเทศผ่านการรัฐประหาร ไม่ผ่านการยินยอมจากประชาชน และเป็นการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ประกาศและคำสั่งที่ออกโดย คสช. มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและบังคับใช้กับประชาชนไม่ได้

3.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.4 ที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองบรรดาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตามพันธกรณีระหว่างปประเทศที่ไทยมีอยู่แล้ว
ประกอบกับ ICCPR ข้อ 14 (1) บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาอันบุคคลต้องหาว่ากระทำหรือการพิจารณาข้อพิพาททางสิทธิและหน้าที่ของตน ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลที่มีอำนาจมีอิสระและเป็นกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หนังสือพิมพ์หรือสาธารณชนอาจถูกห้าม รับฟังการพิจารณาคดีทั้งหมด หรือบางส่วนได้ก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือด้วยเหตุผลด้านความเป็นอยู่ ส่วนตัวของคู่กรณี หรือในกรณีศาลเห็นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นพฤติกรรมการณ์พิเศษ ซึ่งการเป็นข่าวอาจทำให้กระทบต่อความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือข้อพิพาททางแพ่งย่อมเป็นที่เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนการพิจารณาคดีเกี่ยวด้วย ข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรส หรือการเป็นผู้ปกครองเด็ก”
และข้อ 14 (5) บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนที่ถูกลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย” ทำให้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากองค์กรตุลาการศาลทหารมีผู้บังคับบัญชาเป็นรองหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับจำเลย ทำให้จำเลยขาดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง

4.ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีเนื้อหาเกินขอบเขตกฎอัยการศึกที่เป็นฐานในการประกาศให้อำนาจ เนื่องจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ไม่ได้บัญญัติความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.

5.ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นกฎหมายลำดับรอง ต้องสิ้นผล ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศ

อย่างไรก็ตาม อัยการศาลทหารได้แถลงขอคัดค้านคำร้องขอโต้แย้งเขตอำนาจศาล โดยจะทำความเห็นค้านภายใน 30 วัน ศาลทหารจึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไป เพื่อให้ศาลทหารกรุงเทพทำความเห็นส่งศาลแขวงตลิ่งชันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลต่อไป

X