คดีฐนกร แชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง สืบพยานปากแรกเสร็จสิ้น ทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. ผู้กล่าวหาให้การว่า ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ประชาชนไม่จำเป็นต้องให้เกียรติหรือแสดงความเคารพต่อคุณทองแดง ส่วนกรณีข่าวลือการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ในข้อหายุยงปลุกปั่นนั้น ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตก็ไม่มีหน้าที่ต้องชี้แจงต่อประชาชน นัดสืบพยานปากต่อไปวันที่ 8 พ.ย., 27 พ.ย. และ 20 ธ.ค. 2561
- พ่อ “ฐนกร” เผยวินาทีรื้อค้นบ้าน เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตาม ม.44 ยึดโน้ตบุ๊กไปตรวจสอบด้วย
- แม่ “ฐนกร” กังวลเจ้าหน้าที่ยัดข้อมูลเสี่ยงใส่คอมพิวเตอร์ หลังถูกตำรวจยึดเอาไว้
23 ก.พ. 2561 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานปากแรก คดีที่นายฐนกร (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการกดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
พยานที่อัยการทหารนำเข้าให้การต่อศาลทหารกรุงเทพเป็นปากแรก ได้แก่ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดีกับฐนกร คดีนี้ศาลอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณาคดีแต่ไม่อนุญาตให้จดบันทึก
- คดีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยงส่งต่อ คกก.ชี้ขาด ศาลทหาร-ศาลยุติธรรมให้ข้อหา 112 อยู่ในศาลทหาร แต่ข้อหา 116 เห็นแย้งกัน
- คดีกดไลค์-หมิ่นหมา คกก.วินิจฉัยชี้ขาดให้ขึ้นศาลทหาร – เลื่อนฟังคำพิพากษาคดีธารา 112
พลตรี วิจารณ์ เบิกความว่า เมื่อปี 2558 รับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้เป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมาย มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน และกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ในคดีนี้ อาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เอาตัวจำเลยมาซักถามที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จำเลยรับว่า โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง ต่อมาได้รับมอบหมายให้กล่าวหาดำเนินคดีต่อจำเลย หลังอัยการถามพยานโจทก์เสร็จแล้ว ทนายจำเลยแจ้งว่า ติดภารกิจในคดีอื่น จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 2561
18 มิ.ย. 2561 ทนายความจำเลยถามค้าน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พยานผู้กล่าวหาให้การต่อศาลว่า ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ทราบเหตุในคดีนี้เพราะมีฝ่ายข่าวของ คสช. นำภาพมาให้ แต่ไม่ทราบว่าฝ่ายข่าวคนนั้นชื่ออะไร พูดคุยกับฝ่ายข่าวโดยไม่ได้ทำบันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องปิดลับ จำเลยไม่ใช่แกนนำทางการเมือง แต่มีประวัติเกี่ยวอะไรบางอย่างกับเสื้อแดง
พล.ต.วิจารณ์ เบิกความว่า ตอนที่ซักถามจำเลยและทำบันทึกถ้อยคำเอาไว้ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบก่อน ไม่ได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ ไม่ได้แจ้งกับจำเลยว่า มีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ เพราะขณะนั้นจำเลยยังไม่ใช่ผู้ต้องหา สถานที่ซักถาม คือ มทบ.11 แต่พล.ต.วิจารณ์ ไม่เคยเชิญบุคคลในภาพตามคำฟ้อง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร มาซักถามและบันทึกถ้อยคำ
ในแผงผังที่ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนเผยแพร่ ยังมีภาพของ พ.อ.คชาชาติ บุญดี อดีตผู้บัญชาการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับราชการแล้ว ไปอยู่ต่างประเทศ หลังจากมีหมายจับในข้อหามาตรา 112 จากการแอบอ้างในกิจกรรม Bike for Mom
พล.ต.วิจารณ์ รับว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไม่ดี คสช. ต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้ โดยการทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การทำอะไรต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เหตุของคดีนี้ พล.ต.วิจารณ์ เห็นว่าเป็นการใส่ร้าย ไม่อยูในกรอบของกฎหมาย
สำหรับกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นโครงการใหญ่ หากมีการทุจริตก็ให้ร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. ได้ ไม่ใช่มาเดินขบวน ถ้าหากมีการทุจริตก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่กรณีนี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วว่า ไม่พบหลักฐานการทุจริต ประชาชนสามารถเรียกร้องให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตออกมาชี้แจงได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของคนเหล่านั้นต้องออกมาชี้แจงต่อประชาชน
ทนายเปิดคลิปวีดีโอจากสำนักข่าวมติชน เป็นคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ไพบูย์ คุ้มฉายา ที่กล่าวว่า โครงการก่อนสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริต แล้วถามว่า คำพูดของพล.อ.ไพบูลย์ น่าเชื่อถือหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ท่านเป็นคนน่าเชื่อถือ เพราะเป็นองคมนตรี แต่คำพูดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบ จึงไม่น่าเชื่อถือ หลังจากนั้น พล.ต.วิจารณ์ ขออธิบาย เพิ่มเติมว่า พล.อ.ไพบูลย์ กับพล.อ.อุดมเดช เคยเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกด้วยกัน จึงอาจจะทำให้มีประเด็นนี้ด้วย แต่ศาลไม่บันทึกคำเบิกความส่วนนี้
ทนายเปิดคลิปวีดีโอจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ยอมรับว่า มีความผิดปกติในโครงการ มีการแอบอ้างเรียกเงินส่วนเกิน แต่แก้ไขแล้ว พล.ต.วิจารณ์เบิกความรับว่า พล.อ.อุดมเดช กล่าวเช่นนั้นจริงตามคลิป และพล.อ.อุดมเดชเป็นประธานโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ส่วนงบประมาณทั้งหมดในโครงการจะเป็นอย่างไร พล.ต.วิจารณ์ ไม่ทราบ
ทนายเปิดคลิปวีดีโอจากสำนักข่าว Springnews เป็นสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อต้นปาล์มในราคาสูงกว่าท้องตลาด ขณะที่เจ้าของสวนนงนุชบอกว่า บริจาคต้นปาล์มให้กับอุทยาน พล.ต.วิจารณ์ บอกว่า ข่าวนี้มีจริงแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันไปเอง ซึ่งตอนหลังตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่เป็นความจริง การวิจารณ์สามารถทำได้แต่ถ้าหากวิจารณ์โดยไม่ตรวจสอบก็ผิดกฎหมาย
พล.ต.วิจารณ์ ตอบคำถามทนายความต่อว่า บุคคลที่มีภาพปรากฏในแผนผังที่จำเลยเผยแพร่ ไม่มีใครมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และไม่มีใครมอบอำนาจมาให้ดำเนินคดี มีแต่การดำเนินคดีในนาม คสช. และทาง คสช. ไม่เคยดำเนินคดีกับสื่อมวลชนเหล่านี้ กองทัพบกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีข่าวการทุจริต แต่ไม่เคยเห็นรายงานการตรวจสอบ เพราะเป็นความลับของกองทัพบก ทราบเพียงผลว่า ไม่พบการทุจริต
สำหรับแผนผังที่จำเลยถูกฟ้องว่าเป็นคนเผยแพร่นั้น พล.ต.วิจารณ์ ทราบว่า จำเลยไม่ได้เป็นคนทำขึ้นเอง แต่เอามาเผยแพร่ต่อ และในแผนผังเขียนไว้ว่า “เป็นเรื่องที่รอการพิสูจน์”
เมื่อการสืบพยานดำเนินมาถึงเวลา ประมาณ 11.00 น. ทนายความแถลงต่อศาลว่า ยังเหลืออีกสองประเด็นที่จะต้องถามพยาน แต่ขณะนี้ถึงเวลาที่จำเลยซึ่งบวชเป็นพระอยู่ต้องฉันเพลแล้ว จึงขอพักการพิจารณาคดี ด้านตุลาการก็แจ้งว่าวันนี้มีประชุมต่อ จึงให้ยุติการสืบพยานวันนี้ไว้เพียงแค่นี้ และเลื่อนไปถามค้านพยานปากนี้ต่อในนัดหน้า อัยการไม่คัดค้านแต่ขอกำชับให้นัดหน้าทนายความมาถึงศาลเร็วขึ้น หลังจากนั้นทุกฝ่ายตกลงหาวันนัดกันได้เป็นวันที่ 17 ส.ค. 2561
17 ส.ค. 2561 ทนายความถามค้าน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์ผู้กล่าวหาต่อจากนัดที่ผ่านมา พล.ต.วิจารณ์ เบิกความว่า ไม่ทราบว่าคุณทองแดงซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขณะที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กถึงนั้น เสียชีวิตหรือยัง คุณทองแดงซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงไม่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ และประชาชนไม่จำเป็นต้องเคารพ ข้อความที่จำเลยโพสต์ถึงคุณทองแดงไม่มีส่วนใดกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 คำว่า “ซาบซึ้ง” ในโพสต์ของจำเลยนั้น พยานไม่ทราบว่า ซาบซึ้งจริง ๆ หรือประชด และความรู้สึกซาบซึ้งไม่ผิดกฎหมาย
สำหรับประเด็นที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า กดไลค์เพจเฟซบุ๊กชื่อ “ยืนหยัด ปรัชญา” พยานให้การว่า ทราบว่าการกดไลค์เพจกับการกดไลค์ข้อความในเพจนั้นต่างกัน เมื่อทนายความถามว่า จำเลยในคดีนี้กดไลค์เพจแต่ไม่ได้กดไลค์ข้อความใดๆ ในเพจใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ชี้ที่รูปปก (cover) ของเพจและอธิบายว่า เนื่องจากเพจนี้มีข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ การกดไลค์เพจที่มีภาพนี้จึงเป็นการกดไลค์ข้อความในภาพนั้นด้วย
ทนายความเอาภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของจำเลยให้ดูและถามว่า จำเลยกดไลค์เพจเฟซบุ๊กบีบีซีไทย หมายความว่า จำเลยเห็นด้วยกับบีบีซีไทยใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่ ทนายความถามว่า การกดไลค์หรือติดตามเฟซบุ๊กชื่อ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ผิดกฎหมายหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า หากเพจนั้นมีข้อความหมิ่นสถาบันฯ ก็จะเป็นความผิด ทนายความจึงถามต่อว่า จำเลยกดไลค์เพจ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ไม่
พล.ต.วิจารณ์ เบิกความว่าการกดไลค์เท่ากับเห็นด้วย ทนายความจึงถามต่อว่า ถ้าหากมีคนกดไลค์เฟซบุ๊กศาลทหารแล้ว วันหนึ่งเพจศาลทหารโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายคนที่กดไลค์เพจจะมีความผิดด้วยหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า มีความผิด แต่เพจของศาลทหารไม่โพสต์สิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ทนายความถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในทางเทคนิคการกดไลค์เพจหมายถึงการกดเพื่อติดตามข่าวสารจากเพจ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ทราบ
พล.ต.วิจารณ์ ยอมรับว่า ขณะที่พยานควบคุมตัวจำเลยไปซักถามในค่ายทหารและทำบันทึกการซักถามที่ส่งต่อศาลแล้วนั้น จำเลยไม่มีทนายความและผู้ที่ไว้วางใจเข้าร่วมการซักถาม และพยานไม่ได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบก่อนการซักถาม เพราะถือว่าจำเลยยังไม่ใช่ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หลังทนายความจำเลยถามค้านพยานโจทก์เสร็จสิ้น พล.ต.วิจารณ์ ตอบคำถามติงของอัยการทหารถว่า แม้พยานไม่ได้ให้ทนายความเข้าร่วมการสอบสวน แต่จำเลยก็ให้การด้วยความสมัครใจ และลงลายมือชื่อไว้
จากนั้น ทนายความแถลงต่อศาลว่า เดิมที่กำหนดวันสืบพยานนัดหน้าไว้เป็นวันที่ 7 ก.ย. 2561 จำเลยซึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่ยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ปรึกษาพระผู้ใหญ่ที่วัดแล้วเห็นว่า ยังไม่ควรออกจากวัดในช่วงนี้ จึงขอยกเลิกวันนัดที่กำหนดกันไว้เดิมและกำหนดวันนัดใหม่หลังออกพรรษาแล้ว อัยการทหารไม่คัดค้าน ศาลแจ้งว่า ให้กำหนดวันนัดต่อเนื่องกันไปเลยสามนัด แต่เว้นให้ศาลส่งหมายให้พยานได้ด้วย ทุกฝ่ายจึงตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานนัดหน้าเป็นวันที่ 8 พ.ย., 27 พ.ย. และ 20 ธ.ค. 2561