ศาลก็ไม่ต่างอะไรกับโรงพยาบาลรัฐ

สลิณา จินตวิจิต
Day Breaker Network

ศาลก็ไม่ต่างอะไรกับโรงพยาบาลรัฐฯ

       ฉันคิดเช่นนี้เมื่อมองไปรอบ ๆ โถงศาลอาญา  มีคนมายมาย แม้ว่าอาจจะไม่มากเท่าโรงพยาบาล  แต่บางคนมานั่งรอประกันตัวใครสักคน บางคนมาหาคนสำคัญ ผู้หญิงคนนั้นที่อยู่ใกล้ ๆ ฉันอาจจะเป็นแม่ที่มาหาลูก ผู้หญิงอีกคนอาจจะเป็นภรรยาที่มาหาสามี ฉันไม่รู้หรอก แต่นั่นแหละ ชีวิตธรรมดาสามัญ ในสถานที่ที่ไม่ค่อยจะสามัญ บรรยากาศของการรอคอย บรรยากาศของครอบครัว บรรยากาศของความหวัง ชีวิตมนุษย์อยู่ที่นี่ ชีวิตคนธรรมดาอยู่ที่นี่

      แล้วก็มีคนอีกจำพวกหนึ่ง คนพวกนี้แต่งตัวดี ใส่เสื้อสูท แม้ว่าจะอยู่ในอากาศร้อนอบอ้าวของปลายเดือนเมษายน เคยมีคนบอกฉันว่าศาลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราจึงต้องแต่งตัวให้ดีอยู่เสมอเมื่อมาศาล 

ฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าอิฐและปูนที่ก่อสร้างเป็นศาลจะศักดิ์สิทธิ์และสมควรได้รับเกียรติมากกว่าสวัสดิภาพของมนุษย์สักคนที่อาจเป็นฮีทสโตรกเข้าโรงพยาบาลได้ทุกเมื่อได้อย่างไร แต่เอาเถอะ นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักของบันทึกนี้

       ในวันที่ 24 เม.ย. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดี 708 ฉันมาสังเกตการณ์ นัดสืบพยานคดีค้ามนุษย์หลอกไปเป็นคอลเซนเตอร์ที่กัมพูชา วันนั้นมีคณะทนายความจากประเทศลาว มาร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ฉันอยู่เป็นห้องเล็ก ๆ มีเก้าอี้ไม้สักยาว เพียง 7 ตัว สำหรับผู้ที่มาดู การพิจารณาคดี บัลลังก์ศาลอยู่ที่ข้างหน้าสุดของห้องพิจารณา ถัดมาเป็นโต๊ะของเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อยู่ทางซ้ายมือ และเป็นโต๊ะทนายโจทก์ที่อยู่ทางซ้ายเช่นเดียวกัน ส่วนโต๊ะของทนายจำเลยอยู่ทางขวามือ ส่วนคอกพยานอยู่กลางห้อง หลังบัลลังก์ศาลมีรูปภาพ 2 รูป ได้แก่ รูปของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 และกษัตริย์รัชกาลที่ 10 รูปของกษัตริย์ ร. 9 อยู่ที่กลางห้องพอดี และอยู่สูงกว่ารูปของ ร.10 เล็กน้อย

       เนื้อหาของคดีนี้ มีใจความสำคัญว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่โควิด –  19 กำลังระบาด จำเลยหลอกผู้เสียหาย 4 คนผ่านทางเฟซบุ๊ก ให้ไปทำงานที่กัมพูชาโดยเข้าเมืองไปแบบผิดกฎหมาย เมื่อผู้เสียหายขอลาออกจากงานก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออก แต่กลับถูกขายให้กับที่ทำงานที่อื่น ๆ กว่า 4 ที่ ก่อนจะหลบหนีออกมาได้ และในการดำเนินคดีครั้งนี้ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยด้วย  ฝ่ายทนายฝั่งจำเลยที่ศาลแต่งตั้งให้กล่าวว่า จำเลยเป็นเพียงคนรับสมัครงาน ไม่เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามคำฟ้อง

       ในเวลา 09.02 น. จำเลยมาถึงห้องพิจารณาคดี เขาอยู่ในชุดนักโทษ มีตำรวจศาลคอยควบคุมตัวตลอดเวลา ทีแรกฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้เครื่องพันธนาการ เพราะฉันไม่เห็นเขาใส่กุญแจมือ แต่จังหวะที่เขาก้าว ฉันได้ยินสียงกริ๊ง ๆ แต่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว จนเขาก้าวพ้นเก้าอี้ที่บังอยู่ แล้วฉันมองเห็นข้อเท้าของเขา ถึงได้เห็นว่าเขาใส่ตรวนอยู่ เสียงที่ฉันได้ยินคือเสียงโซ่ลากไปมากับพื้น

ฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่าก่อนหน้านี้ ฉันรู้สึกอย่างไรกับผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ อาจจะรู้สึกเกลียด กลัว หรือรู้สึกว่าผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์เป็นปีศาจมีเขี้ยวมีเล็บแหลมคม

แต่ตอนนี้ ฉันเห็นเพียงชายหัวเกรียนในชุดนักโทษ ใส่ตรวนที่ข้อเท้า นั่งก้มหน้าอยู่บนม้านั่งแถวแรกสุดฝั่งขวา มีตำรวจศาลนั่งคุมด้านหลังตลอดเวลา  อคติใด ๆ ที่ฉันเคยมีปลิวหายไปหมดสิ้น

ผู้พิพากษามาถึงในเวลา 09.17 น. ตอนนั้นทุกคนต้องยืนขึ้นทำความเคารพศาล ฉันอดคิดไม่ได้ว่าศาลเป็นสถานที่ที่กดให้คนตัวเล็ก ต่ำต้อย ด้อยอำนาจ ที่นี่เสริมความยิ่งใหญ่ให้แต่กับผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ยกสูง ในขณะที่คนอื่นอยู่ต่ำกว่า ทุกอย่างมีพิธีรีตรอง มีข้อห้ามมากมาย ขนาดแค่ไปนั่งดูเฉย ๆ ยังรู้สึกว่าตัวหดเหลือเล็กนิดเดียว

ในวันนั้นจะมีการสืบพยานฝั่งโจทก์ 3 ปาก จำเลยถูกแจ้งข้อหาจำนวน 4 ข้อหา เป็นข้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ จำเลยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้เปิดเฟซบุ๊กจริง แต่คนที่ชวนผู้เสียหายให้ไปทำงานคืออีกคนหนึ่ง

พยานปากที่ 1 เป็นชายอายุ 20 ปี รูปร่างผอม สวมเสื้อแขนยาว เป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมที่ 1 ในคดีนี้ ศาลถามพยานว่าเคยหลอกหลวงใครไหม นี่คือบทสนทนา ณ ตอนนั้นที่ฉันบันทึกไว้ได้

ศาล: เราเคยไปหลอกลวงใครไหม

พยาน: ไม่เคย

ศาล: รู้สึกยังไงที่ไปหลอกลวงคนอื่น

พยาน: รู้สึกแย่

ในฐานะคนที่ไม่คุ้นเคยกับการซักพยานเลย ฉันอดคิดไม่ได้ว่าศาลถามเหมือนนักข่าวตามช่องทีวีที่ชอบถามญาติคนตายว่ารู้สึกอย่างไร แต่นี่เป็นเพียงมุมมองจากคนนอกเท่านั้น

ผู้เสียหายกล่าวว่า ตัวเองทำงานมาประมาณ 4 เดือน และยืนยันตามคำให้การในชั้นตำรวจ

เวลา 09.36 น. ตำรวจศาลเข้าห้องมาอีกหนึ่งนาย ส่วนศาลยังคงซักพยานโจทก์ต่อไป พยานกล่าวว่า ตนได้รับการเชิญชวนจากนายโจทก์ร่วมที่ 2  ให้ไปทำงานที่กัมพูชา คนที่เปิดรับสมัครงาน คือจำเลยในคดีนี้ โดยเปิดรับสมัครงานตำแหน่งแอดมิน เงินเดือน 40,000 บาท สวัสดิการดี มีที่พัก หากพร้อมเริ่มงานให้รถมารับได้ทันที ซึ่งคนที่คุยรายละเอียดงานกับจำเลยในตอนนั้นคือโจทก์ร่วมที่ 2 

พยานขึ้นรถที่ตลาดพงษ์เพชร โดยรถยนต์คันดังกล่าวได้พาไปที่รีสอร์ท แถวอรัญประเทศ  จากนั้นก็ได้นั่งเรือข้ามฝั่งไปกัมพูชา เจอนายท็อป (เพื่อนของจำเลย) งานแรกที่พยานได้ทำคืองานตอบแชทลูกค้าที่มาเล่นการพนันออนไลน์ ที่ตึกซานโท พยานพักและทำงานอยู่ที่ตึกนั้นประมาณ 1 เดือน ระหว่างนั้น ทางผู้เสียหายได้โทรศัพท์คุยกับคนที่ชื่อนายท็อป 

ระหว่างอยู่ที่ซานโท พยานถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ไม่ให้รับประทานอาหาร และหากจะออกไปไหนต้องขออนุญาต โดยมีคนถืออาวุธคอยควบคุม แต่ที่พยานรู้สึกว่าเหมือนเป็นทาสคือการต้องไปทำงานที่ 3 และที่ 4

ในตอนนั้น พยานขอลาออก แต่กลับได้รับแจ้งให้ต้องจ่ายค่าไถ่ตัวเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท รวมค่ากินอยู่เป็นจำนวน 150,000 บาท ส่วนเงินเดือนก็ไม่ได้ตามตกลงไว้

ต่อมา กลุ่มมของพยาน หรือผู้เสียหายได้ติดต่อกับจำเลย ให้ช่วยพาออกจากที่นี่ แต่กลายเป็นว่ามีคนต้องการมาไถ่ตัวพยาน ชื่อเจ๊นี เป็นผู้หญิงชาวกัมพูชา ได้พาพยานและผู้เสียหายคนอื่น ๆ ไปขายต่อให้กับคนจีนไม่ทราบชื่ออีกทีหนึ่ง

ในที่ทำงานแห่งที่ 2 พยานได้รับหน้าที่ให้ทำงานประชาสัมพันธ์และตอบแชทลูกค้า พยานถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ต้องทำงานล่วงเวลา ถูกบังคับให้ทำงานให้ได้ตามเป้า หากไม่ทำก็จะถูกทำโทษ ส่วนเงินเดือนนั้นตกลงไว้ว่าจะได้รับ 25,000 บาท แต่ได้จริงเพียงแค่ 1,200 บาท

พยานเล่าต่อว่าตนเคยเห็นเพื่อนถูกตีในที่ทำงานแห่งที่ 2  หลังจากทำงานที่นี่ไปได้ประมาณ 1 เดือน พยานจึงขอลาออก โดยโจทก์ร่วมคนที่ 3 ได้วีดิโอคอลหาจำเลย แต่เพื่อนจำเลยที่ชื่อท็อปเป็นคนรับสาย นายท็อปส่งคนมารับผู้เสียหายทั้ง 4 ราย (โจทก์ร่วมที่ 1-4)

ที่ทำงานแห่งที่ 3 พยานทำงานรับโทรศัพท์ และต้องตอบข้อความอยู่บ้าง พยานถูกบังคับให้ทำงานให้ได้ตามเป้า คือการโทรหาคน 120 คนต่อวัน แต่เมื่อพยานไม่สามารถทำได้ ก็จะถูกห้ามไม่ให้ลุกไปรับประทานอาหาร โดยให้ล่ามมาพูดให้ฟัง พยานเองเมื่อถูกสั่งห้ามก็ไม่กล้าลุกออกไป เพราะกลัวถูกทำร้ายเหมือนอย่าง 2 ที่แรก

ต่อมา ก่อนที่ผู้เสียหายทั้งหมดจะหลบหนีได้ จำเลยได้โทรหาโจทก์ร่วมที่ 4 บอกว่าตำรวจไทยแฝงตัวเข้ามา ให้หนีไปที่โรงแรม เมื่อไปแล้วผู้เสียหายพบกับนายท็อปและจำเลย ขอให้ช่วยติดต่อกับสถานทูตไทยเพื่อขอกลับไทย พอได้เอกสารแล้ว จำเลยบอกว่าผู้เสียหายติดบัญชีดำ ไม่สามารถกลับไทยได้ และให้ผู้เสียหายทำงานในที่ทำงานแห่งที่ 4 รอให้หลุดจากบัญชีดำเสียก่อน จึงจะสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

ในที่ทำงานแห่งที่ 4 พยานทำงานเป็น Call Center หลอกลวงคนโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พยานถูกบังคับให้โทรให้ได้วันละ 200 คนต่อวัน แต่พยานทำไม่ได้ นอกจากนี้ พยานยังมีปากเสียงกับนายจ้างคนจีน จึงถูกตีด้วยเหล็กเส้น 2 ครั้ง ซึ่งมีหลักฐานคือรอยแผลเป็นที่แขนซ้าย ศาลจึงให้พยานเดินมาแสดงแผลเป็นให้ดูที่หน้าบัลลังก์ เมื่อศาลถามพยานว่ารักษาแผลอย่างไร พยานตอบว่า “ปล่อยให้หายเอง” ศาลให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อความตรงนี้ว่า “ข้าพเจ้ารักษาด้วยตัวเอง”

ในที่ทำงานแห่งที่ 4 พยานได้ค่าจ้างประมาณ 3,400 บาท จากที่ตกลงไว้ 15,000 บาท เมื่อทำงานครบ 1 เดือน จะสามารถออกไปข้างนอกได้ แต่จะมีเจ้าหน้าที่คอยประกบ เมื่อพยานทำงานครบ 1 เดือน จึงได้ออกมาซื้อของข้างนอกจริง พยานได้นัดแนะให้เพื่อนจากฝั่งกัมพูชาพาหนี และพาข้ามฝั่งกลับประเทศไทย 

ระหว่างซักพยาน ศาลยอมรับว่าตนเองถามนำเพื่อกระชับเวลา

หลังจากศาลซักพยานแล้ว ทนายฝั่งโจทก์จะเป็นผู้ถามคำถาม ตรงนี้มีประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง แต่จะเป็นส่วนของคดีแพ่งเสียมากกว่า นอกจากนั้นก็มีประเด็นเกี่ยวกับโทรศัพท์ของพยาน พยานมีโทรศัพท์ขณะทำงานในที่ทำงานที่ 1-3 ส่วนแห่งที่ 4 ถูกยึดโทรศัพท์ 

ซิมการ์ดของพยานถูกยึดตอนที่นั่งเรือข้ามฝั่งมากัมพูชา เรื่องเอกสารการทำงาน นายโจ้รับปากว่าจะทำให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยชื่อนายท็อปหรือว่าชื่อนายต้นนั้น พยานให้คำตอบว่า ตอนคุยกันผ่านไลน์ชื่อท็อป แต่ตอนเจอกันชื่อต้น

ทนายฝั่งจำเลยไม่มีคำถาม

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตรงนี้ ฉันได้ยินศาลถามพยานว่าทำงานอะไรอยู่ และพูดกับพยานประมาณว่าหากใครชวนไปทำงานอีก ไม่ต้องไปแล้วนะ

การสืบพยานปากแรกเสร็จสิ้นราวสิบเอ็ดนาฬิกาเศษ ฉันมีธุระต่อ จึงสังเกตการณ์การสืบพยานได้ปากเดียว ที่ตลกร้ายคือเมื่อฉันกลับถึงบ้านในวันนั้น มีสายโทรศัพท์เข้ามา บอกว่ามาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Tiktok

 .

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย

X