ธนกฤต ศรีสุวรรณ
Day Breaker Network
1.
เมื่อวานนี้แดดก็แรงมากโข แต่ดูวันนี้แดดเหมือนจะแรงกว่าหลายขุม หลังขับรถออกมาจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีด้วยระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร เราก้าวเท้าลงจากรถพร้อมทนายบุญช่วย (นามสมมติ) ผู้ที่ยินดีอนุญาตให้เราติดตามในฐานะ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ในคดีที่เขารับผิดชอบเป็นทนายจำเลย เราทั้งสองคว้าเครื่องมือเครื่องไม้ ทั้งปากกา สมุด และสำนวนคดีแล้วเดินย่ำเท้าเข้าสู่อาคารของ “ศาลจังหวัดเวียงสระ” ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยนี่เป็น ‘ครั้งแรก’ ที่เราได้มาสังเกตการณ์คดีในศาลต่างอำเภอ
ตอนแรกเราคิดว่าวันนี้คงมีเพียงคดีของทนายบุญช่วยคดีเดียว ทว่าเมื่อชำเลืองขึ้นมองข้างผนังหน้าห้องพิจารณาคดี เราพบว่าวันนี้ (23 เม.ย. 2567) มีนัดหมายรวมทั้งสิ้น 4 คดี เราเห็นแล้วก็สงสัยว่าศาลคงจะอลวนวุ่นวายน่าดู โดยคดีพระเอกของเราในวันนี้ คือ การนัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่จำเลย 2 คนถูกฟ้องว่า ‘สมคบกันค้ายาเสพติด’ ซึ่งมีทนายบุญช่วยเป็นทนายจำเลยที่ 2 นั่นเอง
ในห้องพิจารณาที่ 7 ไม่ได้มีเราเป็นผู้สังเกตการณ์เพียงคนเดียว ตลอดการนั่งตัวเกร็งสู้กับลมเย็นยะเยือกของเครื่องปรับอากาศในห้องพิจารณาคดี เราพบว่ามีบุคคลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่จะพิจารณาในวันนี้ทั้ง 4 คดีหมุนเวียนมานั่งและรับฟังโดยตลอด ทั้งทนายความ พนักงานอัยการ โจทก์ จำเลย และญาติของจำเลยอีกหลายคน
ครอบครัวหนึ่งที่มาร่วมนั่งฟังด้วยกัน 3 คน เป็นครอบครัวของจำเลยที่ 2 ในคดีที่ทนายบุญช่วยให้ความเหลือ หนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายสวมใส่เสื้อสีเขียวสด พร้อมผมสีทองสลับดำ มีรอยยิ้มเริงร่าบนใบหน้าไร้เดียงสา การพูดคุยทักทายกันทำให้รู้ว่าเด็กน้อยคนนี้เป็น ‘หลาน’ ของจำเลยที่ 2 นั่นเอง
2.
ห้องพิจารณาคดีดูเล็กจ้อยไปเลย เมื่อมีคนแน่นขนัดขนาดนี้ ผู้พิพากษามาถึงห้องพิจารณาคดี เวลา 09.45 น. บรรยากาศดูเงียบงันและเย็นยะเยือกกว่าเก่า แม้เครื่องปรับอากาศทั้ง 3 ตัวจะทำงานเป็นปกติ ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีแรก และคดีที่ 2 จนแล้วเสร็จ ส่วนคดีที่ 3 ปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาล ผู้พิพากษาจึงสั่งให้ออกหมายจับเพื่อตามตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาในนัดต่อไป
ห้องพิจารณาคดีดูเหมือนว่าหายใจสะดวกขึ้น ตอนนี้เหลือเพียงนัดหมายคดี “สมคบกันค้ายาเสพติด” เป็นคดีสุดท้ายแล้ว ในห้องตอนนี้มีพนักงานอัยการเจ้าของคดี ทนายความจำเลยที่ 1 และ 2 ญาติของจำเลยที่ 2 รวม 3 คน ตำรวจซึ่งเป็นพยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และเราในฐานะผู้สังเกตการณ์
เราคิดว่าการสืบพยานโจทก์ในคดีวันนี้คงจะยืดเยื้อและยาวนานจนถึงเย็นแน่นอน ทว่ากลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อศาลเริ่มพิจารณาคดี ความอลวนที่แท้จริงได้เริ่มต้นขึ้น อย่างแรกจำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงได้พิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของพนักงานอัยการต่อไป ระหว่างนั้นทนายบุญช่วยในฐานะทนายความจำเลยที่ 2 ได้แจ้งต่อศาลว่า คำขอท้ายฟ้องของพนักงานอัยการนั้นขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอยู่
กล่าวคือ พนักงานอัยการขอให้ “นับโทษ” ของจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีก่อนหน้าที่ถูกตัดสิน และถูกคุมขังมาแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทว่าข้อเท็จจริง ซึ่งทนายบุญช่วยได้เสาะหามานั้น ในคดีดังกล่าว อัยการมีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ตั้งแต่ต้น ทว่าประวัติอาชญากรรมก็ยังคงอยู่ในสารบบ ทนายความจำเลยจึงเห็นว่าควรยกคำขอเรื่องการเพิ่มโทษจากคดีเดิม
ผู้พิพากษาจึงถามต่อพนักงานอัยการว่า “ประวัติอาชญากรรมยังคงมีอยู่จริงหรือไม่” อัยการตอบกลับว่า “แม้ไม่ถูกฟ้องคดี แต่เมื่อพิมพ์ลายนิ้วมือไปแล้ว ก็ยังคงขึ้นประวัติอาชญากรรมอยู่”
เราที่เป็นผู้สังเกตการณ์ฟังแล้วก็สงสัยยิ่งนัก พึ่งทราบเอาวันนี้ว่าแบบนี้ก็มีด้วย ไม่เคยถูกฟ้อง ไม่มีความผิด แต่ประวัติอาชญากรรมก็ยังคงไม่ถูกลบล้าง ทำให้นึกถึงเนื้อเพลงดังที่ร้องว่า “ฉันมันประวัติไม่ดี…” ทันใด แล้วแบบนี้หากกรณีคนอื่น ๆ ที่ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวนไป แต่ไม่ถูกฟ้องในชั้นอัยการ พวกเขาจะรอดพ้นหรือไม่ กรณีแบบนี้ในไทยมีมากน้อยแค่ไหน เราได้แต่เก็บคำถามไว้ในใจต่อไป
จากนั้นศาลจึงมีคำสั่งไม่ให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยอีกต่อไป เพราะจำเลยทั้งสองในคดีนี้ให้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพแล้ว โดยศาลได้ให้ค่าตอบแทนกับนายตำรวจที่ตั้งใจมาเป็นพยานโจทก์ด้วย จากนั้นศาลแจ้งว่าให้จำเลยและโจทก์อยู่รอในห้องพิจารณาก่อน เพราะศาลจะจัดทำคำพิพากษาและอ่านให้ฟังภายในวันนี้เลย จากนั้นผู้พิพากษาทั้งสองท่านได้ออกไปจากห้องพิจารณา ในเวลาประมาณ 10.33 น.
ครั้นผู้พิพากษาเดินลับสายตาไป ญาติที่มาร่วมฟังคำตัดสินในวันนี้ก็เข้าไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง พวกเขาได้พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ใบหน้ายิ้มแย้ม เพราะไม่บ่อยนักที่จะได้พบกันนอกเรือนจำ ทันใดนั้นจำเลยที่ 2 ก็กวักมือเรียกเด็กชายตัวน้อยที่นั่งเงียบกริบและสงบเสงี่ยมตลอดการพิจารณาเข้ามาลูบหัว เด็กชายวิ่งแจ้นเข้าใกล้จำเลยที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังหุบยิ้มต่อท่าทีอันไร้เดียงสาของเด็กน้อยไม่ได้
ส่วนเราก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับแม่ของเด็กชายที่ยังไม่ได้เข้าไปหาจำเลยที่ 2 แต่คอยเฝ้ามองอย่างเงียบ ๆ เมื่อเด็กชายเลี้ยวตัวมานั่งข้าง ๆ เรา เขาก็หยิบรถกระดาษสภาพรุ่งริ่งออกมาเล่น ทั้งชวนเราให้ดีดรถพุ่งไป ๆ กลับ ๆ เพื่อประชันว่าใครดีดได้ไกลกว่าอย่างร่าเริง ลุงและหลานเคยพบหน้าจำเลยอยู่บ้างที่อยู่เรือนจำในเมื่อนานมาแล้ว แต่ตอนนั้นเด็กชายยังเล็กมาก จำความไม่ค่อยได้ วันนี้มีโอกาสจะได้เจอลุงอีกครั้งแม่เลยพามาด้วย
คุณลุงจำเลยที่ 2 ยิ้มตลอดเวลาที่มองมายังหลานตัวน้อยที่ซนเกินวัย ขณะเดียวกันเราเองก็รู้สึกเห็นใจเด็กคนนี้ไปด้วย เพราะไม่รู้เลยว่าเมื่อเห็นลุงของตัวเองใส่ตรวนข้อเท้าเดินเข้าในห้องพิจารณาเขารู้สึกอย่างไร จะรู้ไหมว่าทำไมลุงถึงถูกให้โกนหัว ทำไมต้องถูกใส่กุญแจมือ หรือจะรู้ไหมว่าวันนี้เมื่อมีคำพิพากษาในอีกไม่กี่อึดใจ ลุงของเขาจะต้องอยู่ในเรือนจำต่อไปอีกหลายปี
3.
เวลา 12.56 น. ศาลกลับมายังห้องพิจารณาคดีเพื่ออ่านคำพิพากษาอย่างไม่รีรอ โดยตัดสินให้จำเลยที่ 1 และ 2 ได้รับโทษจำคุกคนละ 5 ปี แต่ด้วยประโยชน์แห่งการรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน พร้อมกับปรับเงินอีกคนละ 175,000 บาท
เมื่ออ่านจบ ทุกอย่างก็อันตรธานสลายหายไปอย่างรวดเร็ว ทนายความจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความที่เรียกกันว่า “ทนายขอแรง” ศาลได้สั่งให้ใช้ค่าทนายด้วย และเธอก็เดินจากไป ผู้ต้องขังทั้งสองก็เดินหายวับเข้าไปหลังบัลลังก์พร้อมเจ้าหน้าที่ ในขณะที่เราและญาติ ๆ พร้อมทนายบุญช่วยก็เดินออกมาจากตัวอาคาร
ก่อนเรากับทนายบุญช่วยจะเดินขึ้นรถ ญาติ ๆ ของจำเลยได้เข้ามาขอบคุณที่ทนายบุญช่วยช่วยเหลือคดีความของจำเลยที่ 2 พร้อมขอคำแนะนำเล็กน้อย เมื่อพูดคุยเสร็จ เราและทนายบุญช่วยเดินทางกลับสู่เมืองสุราษฎร์ธานี
วันนี้ถือว่าครบจบที่เดียว จากที่นัดสืบพยาน กลับไม่มีสืบพยาน จากที่คาดหวังมาสังเกตการณ์ในคดีเดียว แต่กลับเจอหลายคดีในวันเดียว และนั่งฟังคำพิพากษาทันทีไม่มียืดเยื้อ เสมือนดูละครแล้วจบในตอน
นอกจากนี้ วันนี้เรายังเห็นบทบาทของทนายบุญช่วยที่หาช่องว่างและความผิดพลาดในคำขอท้ายฟ้องของพนักงานอัยการจนพบว่า คดีนี้คำขอท้ายฟ้องไม่สมเหตุสมผลตามที่กล่าวมาจนจำเลยได้รับความยุติธรรม และเรายิ่งรู้สึกตกใจไปอีกเมื่อได้อ่านคำฟ้องคดีนี้อีกครั้ง โดยพบว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ส่งหลักฐานให้กับตำรวจแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่พนักงานสอบสวนกลับเพิ่งส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อปี 2566 นี้เอง การต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี แม้จะยังอยู่ในอายุความ แต่เราอดตั้งคำถามไม่ได้ นี่เรียกได้ว่า ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้า’ หรือไม่
อย่างนี้จะเรียกว่าวันนี้เป็นการตัดสินคดีที่ ‘ม้วนเดียวจบ’ และไม่มีอะไรคาใจได้หรือไม่ เมื่อเราเดินทางถึงห้องเช่าของตัวเองแล้วกลับมานอนคิดในตกเย็นวันนั้นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้รับ เรียกว่าความยุติธรรมจริงหรือ?
__________________________________________________________________
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย