“3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย” ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ ในนาม “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58”

วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นวันครบรอบ 3 ปี ของการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  ซึ่งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า อำนาจที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล รุกคืบตีความกว้างขวางในทุกตารางนิ้วของสิทธิเสรีภาพผ่านคำสั่งฉบับนี้ ตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

เนื่องในวันครบรอบ 3 ปี ของคำสั่งที่ถูกใช้จนเสมือนกฎหมายนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอทบทวนกลไกบางประการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตามคำสั่งดังกล่าว และผลของการใช้คำสั่งนี้ ว่ามีผลอย่างไรต่อการสร้างบรรยากาศ “การรักษาความสงบเรียบร้อย และคืนความสุขให้ประเทศไทย” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่  3/2558  ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 โดยระบุเหตุผลในการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่า เมื่อมีการประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึก  สมควรมีมาตรการในการดำเนินการกับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงเห็นว่าเป็นการจำเป็น เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นลงโดยเร็ว  ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นฐานในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นมา

ในรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิด 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั่วราชอาณาจักรไทย และในการปฏิบัติเกี่ยวกับ 4 ประเภทความผิดข้างต้น เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด หรือกระทำการใด ๆ ก็ตาม “ตามคำสั่ง คสช.” รวมถึงสามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีทั้ง 4 ประเภทด้วย

กลไกดังกล่าวคล้ายกับโครงสร้างการใช้อำนาจของกองทัพและทหารตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนกระทั่งยกเลิกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 วันเดียวกับที่ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นี้ โดยกฎอัยการศึกมีเจตนารมณ์ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในทุกด้าน เพื่อกระทำการในนาม “การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย” รวมถึงการอนุญาตให้ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นทหารสามารถใช้อำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ คสช. ยังไม่ยกเลิกการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว การให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพของบุคคลได้อย่างกว้างขวาง จะนำไปสู่การคุกคามประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้

ตัวอย่างเช่น ในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป  โดยที่ในคำสั่งดังกล่าวมิได้นิยามคำว่า “ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง” ไว้ แต่กลับกำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องรับโทษทางอาญา ทั้งจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงพบว่า ฐานความผิดดังกล่าวถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งมักเป็นทหารและในบางกรณีได้รับมอบอำนาจโดยตรงจาก คสช. มักระบุว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งนี้ เป็นการพูด การปราศรัย การชูป้าย การประชุม หรือการชุมนุมที่ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” หรือ “ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล”

ในส่วนท้ายของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังได้กำหนดยกเว้นความรับผิดให้กับทหารซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ “โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น”  ให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย โดยให้สิทธิผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย “จากทางราชการ” ได้  แต่ไม่สามารถเรียกร้องโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้น นอกจากนี้ ในมาตรา 44 ซึ่งเป็นฐานทางกฎหมายให้คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ยังบัญญัติถ้อยคำในลักษณะเดียวกันไว้ คือ ให้ “ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด”  การยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ซ้อนไว้ถึง 2 ครั้ง เป็นผลที่แม้แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยังพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่ง “อ้าง” อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าที่ คสช.ที่ 3/2558 ใช้กำลังจับกุมผู้ที่ชุมนุมโดยสงบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จนผู้ชุมนุมบางคนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายว่า ไม่สามารถเรียกร้องให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ปฏิบัติการดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ชุมนุมได้

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างตลอด 3 ปี ของการบังคับใช้คำสั่งนี้เสมือนกฎหมาย

มีผู้ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. แล้วอย่างน้อย 330 ราย จำนวน 33 คดี[1] โดยมีหลายรายถูกดำเนินคดีจากคำสั่งดังกล่าวหลายคดีจากเหตุการณ์ที่ต่างกันออกไป จำนวนผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 เหตุการณ์หลัก ๆ คือ

  • การแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักศึกษา ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการรัฐประหารโดย คสช. ช่วงเดือนพฤษภาคม 2558  ที่แม้จะเป็นชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ก็นำมาสู่การจับกุมและดำเนินคดีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 16 ราย ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  จากกิจกรรมที่กลุ่มดาวดินออกมาชุมนุม คัดค้านการรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น  และการชุมนุมของนักศึกษาและนักกิจกรรมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมที่จัดกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์ กทม. (ภาพจากมติชนออนไลน์)
  • ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ในวันที่ 7 ส.ค.  2559  มีความพยายามสกัดกั้นโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพื่อจำกัดการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือกิจกรรมการรณรงค์ แม้กระทั่งการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติขึ้นมาติดตามการทำประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดำเนินการกดดัน ปิดกั้น จับกุม ดำเนินคดี จนกระทั่งยกเลิกการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ โดยใช้ทั้งการเรียกตัวแกนนำไปพูดคุย การบุกไปยังจุดที่จะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ หรือการข่มขู่จะดำเนินคดีด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งภายหลัง มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อประชาชนจากเหตุการณ์ในช่วงนั้นกว่า 178   ราย[2]

กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58
  • “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” สถานการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 61 จากการที่มีกลุ่มประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วและให้ คสช.หยุดสืบทอดอำนาจ ต่อมาก็ได้มีการชุมนุมตามมาอีกหลายครั้ง เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน  ซึ่งภายหลังผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนได้รับหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาว่าขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จนเป็นที่มาของคดี MBK39, RDN50, CMU06 และ Pattaya รวม 6 คดี ทำให้จนถึงขณะนี้ มียอดผู้ต้องหา “คนอยากเลือกตั้ง” กว่า 77 ราย[3]  โดยหลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

กิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน เมื่อ 10 ก.พ. 61

ทั้ง 3 เหตุการณ์ ล้วนแต่เป็นกรณีที่มีการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือเป็นการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งไม่ได้รบกวน และไม่เป็นการกระทบต่อ “ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ” แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวกลับถูกตีความว่า เป็นการ “ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  จากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งเป็นทหาร

นอกจากนี้ ยังมี 3 คดีที่น่าสนใจ ซึ่งอาจชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างของการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 บนดุลยพินิจและการตีความของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายเดียว ซึ่งใช้เหตุผลในการวินิจฉัยว่า การกระทำใดที่เป็นการ “มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง” ที่ขัดต่อมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และคุณค่าบางประการซึ่งสังคมในระบอบประชาธิปไตยยอมรับ ได้แก่

  • คดี “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นการรุกคืบเข้าไปยังพื้นที่ทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการของคำสั่งฉบับดังกล่าว  เพราะจากการที่นักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ออกแถลงการณ์ร่วมกันในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ระบุยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยืนยันว่าการจะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้ง เพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพไม่สามารถข่มขู่ด้วยการใช้อำนาจ  ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 58  ต่อมา กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีต่อนักวิชาการจำนวน 8 คน ที่ร่วมออกแถลงการณ์  โดยในตอนท้ายของข้อกล่าวหาระบุว่า “ผู้ต้องหากับพวก เพื่อประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ที่จะให้สื่อมวลชนนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปขยายผลทางการเมือง เป็นการปลุกระดมทางการเมืองให้ออกมาต่อต้านการทำงานของ คสช.”  การกระทำนั้น จึงเป็นการ “มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง”  ซึ่งฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  และแม้นักวิชาการที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเห็นทางวิชาการต่อสาธารณะ  แต่ก็ยังไม่พ้นที่จะถูกดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหาเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  หลักการที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการ ก็ไม่ถูกนำมาพิจารณาประกอบก่อนการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาแต่อย่างใด

ภาพการแถลงข่าวโดยเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่นำไปสู่การดำเนินคดี (ภาพจากสำนักข่าว North Public News)
  • คดี “We Walk” เมื่อการขายเสื้อและลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมาย เป็นการ “มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง” การจัดกิจกรรมของเครือข่าย  People GO Network ในชื่อ “We Walk เดินมิตรภาพ” เป็นกิจกรรมเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ นโยบายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน โดยก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมการเดินในวันที่ 20 ม.ค. 61 นั้น วันที่ 19 ม.ค. 61 ได้มีจัดเสวนาเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน กิจกรรมละคร ดนตรี การขายเสื้อยืด การเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานลงชื่อในการยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และฉายภาพยนตร์ รวมทั้งจัดตลาดอาหารปลอดภัย ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ซึ่งนำมาสู่การกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ทหารต่อผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 8 ราย โดยมีส่วนหนึ่งของข้อกล่าวหาว่า  การจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความ “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะ โดยมีป้ายข้อความ “ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.”  และ การมั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล ในวันที่ 20 ม.ค. 61 เป็นการกระทำมีลักษณะเป็นการ “มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ซึ่งการกระทำดังกล่าวข้างต้น หากมองจากมุมมองของคนทั่ว ๆ ไปแล้ว อาจจะไม่ได้มีสิ่งใดที่มากไปกว่าการจำหน่ายสินค้า การรวบรวมรายชื่อเพื่อการยกเลิกหรือเสนอกฎหมายใด ๆ อันเป็นสิทธิที่มีตามรัฐธรรมนูญ และการแสดงความคิดเห็นออกมาต่อสาธารณะ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตีความ ร้อยเรียงผูกโยงเป็นเรื่องราวว่าเป็นการ “มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง” ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ด้วยเช่นกัน

กืจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • คดี “ชาวบ้านดอยเทวดา” เมื่อการเดินสนับสนุน “We walk เดินมิตรภาพ” จากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง นำมาสู่การควบคุมตัวตลอดทั้งคืนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่จังหวัดพะเยา กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่า นักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชน 14 ราย ซึ่งจัดกิจกรรมเดินสนับสนุน  “We walk เดินมิตรภาพ ” และเรียกร้องให้มีกฎหมายสำหรับคนจน 4 ฉบับ (ธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชน และกองทุนยุติธรรม) ในวันที่ 5 ก.พ. 61 ภายในหมู่บ้านดอยเทวดา อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยานั้น เป็นการ “มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง” เป็นการใช้อำนาจที่นำมาสู่สถานการณ์ควบคุมตัวชาวบ้าน นักกิจกรรม และนักศึกษาไว้ภายในสถานีตำรวจตลอดทั้งคืน ก่อนที่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาจะเสร็จสิ้นลงในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 6 ก.พ. 61 โดยผู้ต้องหาจำนวน 10 คน ยังถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลต่อในเช้าของอีกวันหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวมีความเห็นว่า ควรสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แต่การกระทำทั้งหมดของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กลับไม่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นการกระทำลงไป “โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น” หรือไม่

กิจกรรมหนุน’เดินมิตรภาพ’ที่พะเยา

ท้ายที่สุดแล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 /2558 ซึ่งถูกทำให้เป็นเสมือนกฎหมายนี้ แม้จะขัดต่อหลักการทางกฎหมาย หรือหลักการสิทธิมนุษยชนเพียงใด การจะยกเลิกสิ่งเสมือนกฎหมายนั้น ก็ยังคงต้องอาศัยกฎหมายด้วยกันเท่านั้นเพื่อยกเลิกไป ดังนั้นแล้ว 3 สิ่งที่ควรจะกระทำต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  คือ

  • ประการแรก ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากการให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ทหารกระทำการ อันง่ายต่อการล่วงล้ำเขตแดนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ด้วยการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาลิดรอนสิทธิของบุคคลนั้นซ้ำสองโดยไม่สามารถเรียกร้องให้ตัวผู้กระทำโดยตรงรับผิดได้ คำสั่งดังกล่าวยังขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่บังคับใช้ขณะมีการประกาศคำสั่งฉบับนี้ เพราะเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบต่างได้รับการคุ้มครองทั้งตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้ ยังขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 ที่รับรองว่าบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอีกด้วย นอกจากข้อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งด้วยเหตุเพราะขัดกับกฎหมายซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าตามรายละเอียดข้างต้นแล้ว เฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เมื่อมีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บังคับใช้ คำสั่งฉบับดังกล่าวซึ่งถูกบังคับใช้เสมือนกฎหมายที่ควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงควรถูกยกเลิกไปตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าด้วย
  • ประการที่สอง ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อย่างรอบด้าน เป็นขั้นแรกของการคืนความสุขให้ประเทศไทย เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายดังกล่าว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเป็นความเสียหายทางกายภาพ ความเสียหายทางจิตใจ หรือความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการคุกคาม ละเมิด หรือก่อให้เกิดคดีความของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้อ้างการปฏิบัติตามคำสั่งฉบับดังกล่าว
  • ประการที่สาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเพียงการทำให้ความขัดแย้งถูกกดทับไว้โดย คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารด้วยอำนาจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมเพื่อหาทางออกร่วมกัน การเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและพูดถึงปัญหาที่มี  เพื่อหาทางออกบนกฎหรือกติกาที่ยอมรับร่วมกันในสังคม จึงจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า ทั้งควรมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดคำสั่งรูปแบบเดียวกันนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และประกาศ/คำสั่ง คสช. อื่นๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวม 35 ฉบับได้ที่ https://ilaw.or.th/10000sign

 

อ้างอิง

[1] https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged, https://tlhr2014.com/?p=6726, ข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯได้ติดตามอีก 5 คดี ผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 61)

[2] https://tlhr2014.com/?p=3924

[3] https://tlhr2014.com/?p=6726

X