ศาลเชียงใหม่พิพากษา จำคุก-ปรับ-คุมประพฤติ-บริการสังคม ผู้ร่วมคาร์ม็อบโพสต์คลิปตำรวจตรวจรถลง TikTok โดยให้รอการลงโทษ ในขณะที่อีกคดีคล้ายกันพิพากษารอกำหนดโทษ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จันทร์” (นามสมมติ) ชาวเชียงใหม่วัย 37 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 เหตุสืบเนื่องจากการโพสต์คลิปภาพเคลื่อนไหวที่มี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่น ๆ ขณะกำลังตรวจรถของประชาชนที่เข้าร่วมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์ ลงในแอพพลิเคชัน TikTok 

ย้อนกลับไปวันที่ 25 พ.ย. 2564 “จันทร์” และ “อังคาร” ถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ แจ้งข้อกล่าวหาจากพฤติการณ์โพสต์คลิปลงใน TikTok คนละหนึ่งคลิป โดยเป็นคลิปขณะตำรวจกำลังตรวจป้ายข้อความบริเวณรถของผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยคลิปวิดีโอที่จันทร์โพสต์ได้ใส่ข้อความ “ขี้ข้าเผด็จการ ผิดตรงไหนเอาปากกามาวง” และคลิปที่อังคารโพสต์ใส่ข้อความว่า “ขี้ข้าเผด็จการ คุณพรี่มีอะไรครับ” แต่ไม่ได้มีการตัดต่อภาพใด ๆ อีก

ทั้งสองถูกแจ้งข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย”

.

อังคารให้การรับสารภาพ – ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ – ศาลรอกำหนดโทษ 2 ปี

จากนั้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องคดีของ “อังคาร” ในทั้งสองข้อกล่าวหา ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยในตอนแรกเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

จนกระทั่งถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 มี.ค. 2566 หลังจากผู้พิพากษาได้สอบถามและได้พูดคุยเจรจากับผู้เสียหาย (พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน) ผู้เสียหายได้แถลงต่อศาลขอถอนคำร้องทุกข์ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 โดยขอให้อังคารโพสต์ข้อความแสดงความขอโทษลงในสื่อแอพพลิเคชั่น TikTok และให้การรับสารภาพในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกจากสารบบความ 

ก่อนศาลอ่านพิพากษาในวันเดียวกัน เห็นว่าอังคารมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 แต่เห็นว่าพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีก จำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดแล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี

หลังจากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ไม่อุทธรณ์คดีของอังคารต่อไป ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.

จันทร์ให้การรับสารภาพ – ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ – ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือน รอการลงโทษ ปรับ 5,000 บาท คุมประพฤติ+บริการสังคมฯ

ในขณะที่คดีของ “จันทร์” นั้น ดำเนินไปช้ากว่ากรณีของอังคาร เนื่องจากพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ (คนละเจ้าของสำนวนคดีกับของอังคาร) มีความเห็นว่าจะสั่งไม่ฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ก่อนส่งสำนวนไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา แต่ปรากฏว่าทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งกลับมาให้ฟ้องในทั้งสองข้อหาเช่นเดิม

จนวันที่ 9 ก.พ. 2567 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีคำสั่งฟ้องคดีของ “อังคาร” ในทั้งสองข้อหา ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 30,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ภายใต้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 19 มี.ค. 2567 หลังจากผู้กล่าวหา พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับจันทร์แล้ว จึงได้ยื่นขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 และยื่นคำแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เช่นเดียวกับกรณีของอังคาร ทำให้จันทร์ตัดสินใจให้การรับสารภาพในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาลจึงมีคำสั่งสืบเสาะพฤติกรรมของจำเลย ก่อนนัดฟังคำพิพากษา

วันนี้ 30 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 17 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังศาลนั่งพิจารณาคดี ได้เริ่มอธิบายแก่จำเลยก่อนว่าเนื่องจากผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์แล้ว จึงจำหน่ายได้เฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 แต่สำหรับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความกันได้ จึงจำเป็นต้องพิพากษา

เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า จำเลยมีความผิดข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ พิพากษาจำคุก 1 ปี ให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 2 ครั้ง ให้ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และปรับเป็นเงิน 5,000 บาท

หลังจากอ่านคำพิพากษาเสร็จ ศาลได้ว่ากล่าวตักเตือนเรื่องการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ให้มีความระมัดระวัง และระหว่างรอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อจ่ายค่าปรับ จันทร์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลควบคุมตัวลงไปขังไว้บริเวณใต้ถุนศาล ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.50 น.

ขณะที่ญาติได้ติดต่อขอจ่ายค่าปรับที่ห้องการเงินของศาล แต่ไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้เนื่องจากต้องรอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาล ทำให้จันทร์ต้องถูกควบคุมตัวจนถึงเวลาประมาณ 11.20 น. รวมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในการถูกขังเพื่อรอการจ่ายค่าปรับ

คดีนี้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินคดีเกือบ 3 ปี เนื่องจากพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีความเห็นไม่ฟ้องคดีเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ต้องส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ทำให้ใช้ระยะเวลารอคอยเนิ่นนานกว่าปี และจันทร์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่อำเภอจอมทอง มีภาระในการเดินทางมารายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง และสุดท้ายก็กลับมีคำสั่งให้ฟ้องทั้งสองข้อหาตามเดิม

น่าสังเกตในมาตรฐานการพิพากษาคดีของศาล แม้ว่าทั้งสองคดีจะมีพฤติการณ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง ทั้งสองให้การรับสารภาพ และผู้เสียหายแถลงขอถอนคำร้องทุกข์ พร้อมกับจำเลยไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใด ๆ มาก่อนเช่นเดียวกัน แต่ในคดีของอังคาร ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี โดยไม่ได้มีเงื่อนไขใดอีก  ในขณะที่จันทร์มีโทษจำคุกถึง 6 เดือน แม้ให้รอการลงโทษไว้ และต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง รวมทั้งจ่ายค่าปรับอีก 5,000 บาท ทำให้เกิดสภาพความแตกต่างกันถึงบรรทัดฐานของการใช้ดุลยพินิจรอการลงโทษหรือรอกำหนดโทษ ทั้งการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามคำพิพากษา

.

X