วันที่ 22 พ.ค. 2567 เวลา 15.30 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดตัวหนังสือ “ผู้ต้องหาเสรีภาพ” 1 ทศวรรษรัฐประหาร 2557 กับการต่อสู้ของผู้ต้องคดีการเมือง นพพล อาชามาส บรรณธิการหนังสือ ร่วมเปิดวงเสวนากับผู้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ ได้แก่ “ป้าเปีย” ประพันธ์ อดีตผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไทย, มีมี่ ณิชกานต์ เยาวชนผู้ต้องคดีการเมือง และณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยมี ภูริณัฐ ชัยบุญลือ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นพพล อาชามาส เริ่มต้นเล่าที่มาของหนังสือว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เล่มแรกของศูนย์ทนายฯ ก่อนหน้านี้ได้มีการผลิตหนังสือชื่อ “ราษฎรกำแหง” ที่รวบรวมคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการรัฐประหาร 2557 พอถึงโอกาสครบรอบ 10 ปีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราก็มีความตั้งใจที่จะรวบรวม และถ่ายทอดงานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ คือการเล่าเรื่องของผู้คนที่เผชิญกับคดีการเมือง ที่มันจะอ่านง่ายขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย แต่เป็นชีวิตจิตใจของผู้ที่เผชิญหน้ากับการถูกดำเนินคดีทางการเมือง
ทำให้เป็นที่มาในการเลือกเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดี และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวน 18 เรื่องที่เคยเผยแพร่ในช่วงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงยุค คสช. จนถึงปัจจุบันที่ตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงดำเนินอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
นพพลกล่าวต่อว่า หนังสือผู้ต้องหาเสรีภาพได้ทำร่วมกัน ระหว่างทีมฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนาย และ วีรพงษ์
สุนทรฉัตราวัฒน์ นักเขียนอิสระที่เข้ามาช่วยงานบรรณาธิการให้ด้วย โดยความยากของการทำหนังสือเล่มนี้คือการคัดเลือกเรื่องราวของผู้ถูกละเมิดสิทธิกว่า 100 เรื่องให้เหลือ 18 เรื่อง โดยนพพลกล่าวว่าหลายเรื่องก็ต้องตัดออก และมีเนื้อหาที่น่าเสียดายเหมือนกัน แต่เราก็ต้องการเรื่องราวที่หลากหลาย เพื่อให้หนังสือได้สะท้อนภาพรวมของปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ได้
ทั้งนี้ นพพลได้ปิดท้ายว่า ความคาดหวังจากผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงจะเป็นเรื่องของการได้เข้าใจชีวิต จิตใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น และเมื่อนักกฎหมายได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็คงจะได้เห็นในมิติอื่น ๆ นอกจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ได้เห็นผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายมากขึ้น
“ป้าเปีย” ประพันธ์ กล่าวว่าเรื่องราวของเธอในหนังสือยังคงสะเทือนใจทุกครั้งที่ได้อ่าน และอยากให้ทุกคนได้เห็นเรื่องราวการต่อสู้ของคนจน
ประพันธ์ หญิงวัย 65 ปี หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองจากการครอบครองเสื้อ ‘สหพันธรัฐไท’ โดยเธอเล่าว่า ตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เมื่อครั้งตอนที่ตัวเธอถูกดำเนินคดีสหพันธรัฐไท เธอกล่าวว่าตัวเองติดคุกอยู่ 2 ปีในทัณฑสถานหญิงกลางฯ ซึ่งการใช้ชีวิตในคุกช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงเวลาในตอนนั้น เธอไม่มีญาติหรือมิตรที่จะสามารถมาเยี่ยม หรือมารับเธอตอนที่พ้นโทษได้
เธอเดินออกมาตัวคนเดียวจากเรือนจำด้วยเชื้อโควิด – 19 มีเพียงเงินติดตัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิเพียงน้อยนิด ที่แม้แต่จะจ่ายค่าโรงแรมก็ยังเป็นไปไม่ได้ ทำให้เธอต้องตรงดิ่งไปที่สำนักงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อขอความช่วยเหลือในการทำบัตรประชาชน และที่อยู่อาศัย
เธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อเช้าเธอได้รับหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เมื่อได้ย้อนเห็นเรื่องราวของตัวเอง ก็ยังคงทำให้เธอรู้สึกอยากร้องไห้ทุกครั้ง และคิดว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ทำให้เธอเห็นว่านี่แหละการต่อสู้ของคนจน
ประพันธ์ เล่าต่ออีกว่า ชีวิตที่อยู่ในหนังสือกับปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้มีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว มันก็ต้องดีขึ้น เราต้องสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พยายามประคับประคองให้การเลือกตั้งแบบนี้อยู่ไปนาน ๆ ไม่ให้มีการทำรัฐประหารอีก
ณัฐชนนท์ กล่าวว่าเรื่องราวการต่อสู้ทางคดียังไม่สิ้นสุด แม้การรัฐประหารจะผ่านมา 10 ปี เราก็ยังต้องเดินต่อไป
ณัฐชนนท์ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เล่าในเรื่องของตัวเองให้ฟังว่า บทสัมภาษณ์ของเขาเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ใกล้ถึงวันพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของตัวเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกัน เขาถูกชวนให้มาเล่าเรื่องราวของตัวเอง
ปัจจุบัน ณัฐชนนท์ยังคงทำงานอยู่ในวงการทางการเมือง ส่วนตัวเขายังมีคดีความอีกหลายคดีที่ยังไม่สิ้นสุด โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลยกฟ้องคือคดีที่เขาได้เล่าอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นคดีที่มีชื่อเรียกว่า ‘หนังสืกปกแดง’ ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112
ณัฐชนนท์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าเปิดหนังสือเล่มนี้ จะเจอเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการถูกดำเนินคดีของเขา ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ในตอนนั้นมีการปราศรัย และมีการเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า หนังสือปกแดง
เขาเปิดเผยว่าตัวเองและเพื่อนได้ถูกดักจับ พร้อมทั้งถูกยึดหนังสือปกแดงที่ขนมากว่า 45,000 เล่ม ซึ่งต่อมาเขาถูกฟ้องในคดีมาตรา112 และครอบครองหนังสือโดยผิดกฎหมาย ถึงแม้ศาลจะยกฟ้อง แต่คดีดังกล่าวก็ยังไม่สิ้นสุด
มีมี่ ณิชกานต์ คาดหวังอีก 10 ปี ต่อจากนี้ การดำเนินคดีกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องสิ้นสุดลง
มีมี่ ณิชกานต์ นักกิจกรรมเยาวชนเล่าว่า ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับหนังสือเล่มนี้ ตอนที่เธอเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563 โดยการขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกในการชุมนุม #ม็อบ15ตุลาไปราชประสงค์ ซึ่งเธอได้กล่าวเรียกร้องสิทธิทางการเมืองให้กับผู้หญิง และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น
เธอเปิดเผยว่า การถูกดำเนินคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเพราะว่าเธอหน้าเหมือนกับ ‘มายด์ ภัสราวลี’ นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคดีเยาวชนคดีที่ 7 ของตัวเอง หลังจากนั้น เธอก็ได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ประเด็นเฟมินิสต์ กับเพื่อน ๆ เรื่อยมา โดยในการครบรอบรัฐประหารปีที่ 7 มีมี่และเพื่อน ๆ ได้รวมตัวกันทำ Performance Art ที่หน้ากระทรวงศึกษา
ในหนังสือผู้ต้องหาเสรีภาพ เธอได้เปิดเผยเรื่องราวทางกระบวนการยุติธรรมของเยาวชน และผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีทางการเมืองในฐานะเยาวชน นอกจากนี้บทสัมภาษณ์ดังกล่าว ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่า คดีของตัวเองจะเป็นคดีเยาวชนคดีแรกของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีการฟังคำพิพากษาด้วย
จากการรัฐประหารปี 2557 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ประพันธ์ได้กล่าวว่า ส่วนตัวของเธอรู้สึกมีความหวังมากขึ้น ที่ในโทรทัศน์เด็กและเยาวชนออกมาชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วกันมากขึ้นกว่าสมัยที่เธอเคลื่อนไหว เธอรู้สึกว่ามันเหมือนการได้ส่งต่ออุดมการณ์ การต่อสู้ของเราได้ผลมากขึ้น แม้มันจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาของเรา แต่มันจะประสบความสำเร็จในรุ่นหลานของเราก็ได้
ส่วนณัฐชนนท์ ได้กล่าวความรู้สึกว่า เขาได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเขารู้สึกว่าการต่อสู้ที่ผ่านมามีเรื่องราวให้เราได้คิดทบทวนมากมาย เราได้คิดว่าเราจะทำยังไงให้การต่อสู้ชนะ และได้ทบทวนว่าทำไมตัวเองถึงได้มีชีวิตแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เขาคิดว่าการต่อสู้เพื่อให้ชนะ ก็ต้องมีคำตอบให้ได้ว่าเราจะชนะไปเพื่ออะไร
มีมี่ เธอกล่าวความรู้สึกของตัวเอง จากการต่อสู้ในฐานะเยาวชน และกำลังจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา สิ่งที่เธออยากเห็นต่อจากนี้ คืออยากเห็นกระบวนการของศาลเยาวชนที่เป็นธรรมกับเยาวชนมากขึ้น เธอผ่านกระบวนการตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ สถานพินิจ และศาล เธอได้เห็นกระบวนการมากมายที่ไม่เป็นธรรมกับเยาวชน การต่อสู้ทางคดีของเธอถูกปฏิบัติในแนวเดียวกันกับผู้ใหญ่ และถูกตีตราว่าคือเด็กเลว เด็กที่ต้องถูกแก้ไขพฤติกรรม
เธอคิดว่าในอนาคตเธออยากให้กระบวนการยุติธรรมของเด็กจะต้องไม่เป็นแบบที่เธอเผชิญอยู่ และไม่อยากเห็นเยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีกแล้ว ทั้ง เธอยังอยากเห็นว่าเด็กในอนาคตหลังจากนี้จะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และปกป้องสิทธิในการแสดงออกของตัวเองได้
นอกจากนี้ ในเวลา 16.20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดกิจกรรมประมูลหนังสือข้อความ และลายเซ็นของอานนท์ นำภา โดยการปิดประมูลราคาอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะถูกสมทบทุนเพื่อเป็นค่าสนับสนุนการต่อสู้คดีทางการเมืองต่อไป
ซึ่งในเวลา 17.00 น. รังสิมันต์ โรม และชลธิชา แจ้งเร็ว ในฐานะอดีตผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ได้นำทัวร์เหตุการณ์การชุมนุม ในเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลปกรุงเทพมหานคร โดยมีประชาชนได้เข้าร่วมรับฟังอย่างครึกครื้นตลอดกิจกรรมในช่วงเย็นวันนี้