วันที่ 30 เม.ย. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งจาก “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ นักกิจกรรมฝั่งธนบุรี อายุ 37 ปี หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ว่า ถูกกลุ่มชายปริศนา 10 คน พยายามเกลี้ยกล่อมแกมข่มขู่ให้ช่วยติดตามและรายงานเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทางการเมือง
เจมส์เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 เวลากลางดึกประมาณ 21.00 – 22.00 น. ขณะเขากำลังขับรถมอเตอร์ไซค์ออกจากซอยมุ่งหน้าไปซอยจรัญสนิทวงศ์ 45 ได้พบกับชายคนหนึ่งยืนโบกเรียกรถของเขาอยู่บริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 โดยชายคนดังกล่าวยืนอยู่กับกลุ่มชายอีกเกือบ 10 คน เจมส์คิดว่าเป็นผู้โดยสารที่ต้องการเรียกใช้บริการ เนื่องจากเขาใส่เสื้อวินมอเตอร์ไซค์ จึงได้ขับรถเข้าไปหา
เมื่อเจมส์หยุดรถตรงหน้าชายกลุ่มดังกล่าว คนหนึ่งในกลุ่มได้เข้ามาทักทาย และแนะนำตัวว่า พวกเขามาจากหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้ระบุสังกัดชัดเจน จากนั้นได้เอ่ยชื่อของเจมส์ โดยถามว่าใช่คนเดียวกันกับที่โดนดำเนินคดี ม.112 หรือไม่ ทั้งยังกล่าวถึงคดีของเขาได้อย่างละเอียดและถูกต้อง ประกอบกับชายกลุ่มดังกล่าวหัวเกรียน แต่งกายมิดชิด ใส่เสื้อคลุมสีทึม บางคนสวมกางเกงลายพรางทหาร เจมส์จึงคาดว่า พวกเขาน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริง
ต่อมา กลุ่มชายปริศนาได้ควบคุมตัวเจมส์ลงจากรถมอเตอร์ไซค์ เจมส์เล่าว่า ถูกพาไปหลังซุ้มประตูวัดเพลงวิปัสสนา ที่หน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ซึ่งเป็นที่มืด ไม่มีคนผ่าน ก่อนยืนล้อมหน้าหลังเจมส์และสลับกันเข้ามาพูดคุยกับเขา โดยเกลี้ยกล่อมให้เขาหยุดโพสต์ หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง และขอให้มาเป็นสายคอยส่งข่าวเรื่องนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ให้กับทางเจ้าหน้าที่รัฐแทน
เจมส์ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอ แต่กลุ่มชายปริศนายังคงพยายามพูดคุยเกลี้ยกล่อมอยู่ราว 3 ชั่วโมง โดยมีการไปซื้อน้ำมาบริการเจมส์ด้วย เจมส์สังเกตว่า คนที่โบกเรียกรถของเขาน่าจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งระหว่างการพูดคุยคนในกลุ่มหลุดปากเรียกชื่อชายคนดังกล่าวว่า “หนึ่ง” ส่วนชื่อของคนอื่น ๆ เจมส์ไม่ทราบ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวพยายามปิดบังตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เจมส์บอกว่า สุดท้ายเริ่มมีคนสังเกตเห็นและเดินมาทางซุ้มประตูวัดที่เขาถูกล้อมอยู่ เขาจึงพยายามพูดให้เสียงดังขึ้นเพื่อให้คนสนใจ ทำให้กลุ่มชายปริศนาเริ่มถอนตัว โดยก่อนจะกลับไป กลุ่มคนดังกล่าวได้พูดกับเจมส์ว่า การที่เขาไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ อาจทำให้ตัวเองมีคดีเพิ่มขึ้นได้ ขอให้ระวังตัวไว้ดี ๆ และทิ้งท้ายว่า เราคงจะได้เจอกันบ่อย ๆ
ไม่กี่วันต่อมาคือ วันที่ 27 เม.ย. 2567 เพื่อนที่ขับไรเดอร์ด้วยกันได้สังเกตเห็นรถยนต์ CRV สีขาว ไม่ทราบรุ่น และไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ติดฟิล์มดำสนิท ขับรถติดตามเจมส์ ขณะที่เจมส์ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างวนเวียนไปมาแถวบ้าน และได้บอกกับเจมส์ว่ามีรถขับตาม แต่เขายังไม่ปักใจเชื่อ
วันถัดมา เจมส์ได้สังเกตเห็นรถลักษณะเดียวกับที่เพื่อนบอก จึงได้ลองขับรถลัดเลาะตามซอยต่าง ๆ และก็พบว่ารถยนต์คันดังกล่าวก็ขับตามไปทุกที่ จึงทำให้เจมส์มั่นใจว่า รถคันดังกล่าวติดตามเขาอยู่จริง แต่หลังจากนั้นเจมส์ก็ไม่ได้สังเกตว่ายังคงถูกรถคันเดิมติดตามอีกหรือไม่
นอกจากนี้ เจมส์ยังพบอีกว่า เมื่อต้นสัปดาห์ (29 เม.ย.) หลังกลุ่มชายปริศนาเข้ามาข่มขู่เขา กล้องวงจรปิดบริเวณซอยบ้านพักก็เสียโดยไม่ทราบสาเหตุ และยังไม่รู้ว่าสำนักงานเขตจะเข้ามาซ่อมแซมเมื่อไหร่
เจมส์เปิดเผยว่า เขากังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดทำงานตอนกลางคืนได้ เนื่องจากรายได้จากการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในชีวิตประจำ ทำให้เขาต้องรับงานไรเดอร์ในตอนช่วงกลางคืนเพิ่ม เพื่อจุนเจือรายจ่ายในครอบครัว
ในส่วนของคดี เจมส์ ณัฐกานต์ ถูกจับกุมที่บ้านพักย่านตลิ่งชันเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ตามหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุง ในคดีที่ถูก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดพัทลุงในวันที่ 8 พ.ย. 2566 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างสอบสวน ทำให้เจมส์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพัทลุงเรื่อยมา กระทั่งครบกำหนดฝากขัง 84 วัน แต่อัยการยังไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล เจมส์จึงได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 1 ก.พ. 2567 จนถึงปัจจุบันอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดีนี้