2 พ.ย. 2559 พยานผู้เชี่ยวชาญเข้าให้การคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ที่ สภ.เมืองขอนแก่น เน้นว่าการทำประชามติต้องมีเสรีภาพให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม การจัดเวทีพูดเพื่อเสรีภาพฯ เป็นไปตามหลักการ และได้รับการรับรองตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แต่การดำเนินคดีนี้อาจถูกมองเป็นการคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะทำให้การออกเสียงประชามติไม่มีความชอบธรรม
นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย ของมูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง หรืออันเฟรล (ANFREL) และที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch เครือข่ายเยาวชนที่ทำกิจกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ เดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ
เนื้อหาคำให้การ
พงษ์ศักดิ์ให้การว่า ไม่รู้จักผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 6 ได้แก่ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ณรงฤทธิ์ อุปจันทร์, ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ, ณัฐพร อาจหาญ, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, และนีรนุช เนียมทรัพย์ และผู้ต้องหาที่ 10 ถึงที่ 11 ได้แก่ ไนซ์ ดาวดิน’ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และ “เอ” (นามสมมติ) รวมถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ประสานงาน ANFREL อธิบายว่า กระบวนการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยทั่วไปถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพและความโปร่งใสของการเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์มีส่วนช่วยในการพัฒนาการเลือกตั้งด้วยการสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณะ ในเรื่องความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง อีกทั้งช่วยรณรงค์ ปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องหรือปัญหาทางการเลือกตั้งในระยะยาว เนื่องการจากสังเกตการณ์การเลือกตั้งสามารถยับยั้งการกระทำผิด การครอบงำของผู้มีอิทธิพลทางการเลือกตั้ง และสามารถหยิบยกประเด็นปัญหาของการเลือกตั้งในแต่ละครั้งให้สังคมได้รับรู้ โดยใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ
พงษ์ศักดิ์ยังเห็นว่า การสังเกตการณ์จะเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย และเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ในท้ายที่สุดแล้ว รายงานและข้อเสนอแนะที่ได้จากการสังเกตการณ์ของภาคประชาชน จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องการจัดการการเลือกตั้ง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งในอนาคตมีความสมบูรณ์ โปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
จากการที่พงษ์ศักดิ์ได้ติดตามเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การประชามติดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปรากฏว่า นายกฤช เอื้อวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ได้ให้ความหมายของการออกเสียงประชามติ ไว้ว่า เป็นกระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนออกเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า หนึ่งในหลักการของการทำประชามตินั้น รัฐหรือผู้รับผิดชอบจัดการออกเสียงประชามติต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากบุคคลได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนในทุกด้าน จะทำให้การตัดสินใจนั้นถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้ประสานงาน ANFREL เห็นว่า ความเห็นข้างต้นเป็นไปตามหลักการสากลของการลงประชามติและการเลือกตั้ง คือต้องมีเสรีภาพ (Free) ความเที่ยงธรรม (Fair) เสรีภาพทางความคิด และการแสดงความคิดเห็น และการสื่อสารต่อสาธารณะ รัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มรการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ประชาชนสามารถตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างอิสระ ด้วยเหตุผลของตนเอง ซึ่งสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในภาพรวมได้ ถือเป็นหัวใจหลักและเป็นหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งและการลงประชามติทั่วโลก เพื่อประกันว่าประชาชนจะมีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตย ดังที่มีการบัญญัติไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 โดยไม่ได้ตั้งข้อสงวนแต่อย่างใด และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2540
ในข้อบทที่ 1 ของ ICCPR ระบุว่า ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน และในข้อบทที่ 19 ได้ระบุไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง มีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก โดยสิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท
อีกทั้งในหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UDHR) ยังได้เน้นย้ำในข้อที่ 20 โดยระบุว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ และข้อ 21 ได้ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตนโดยตรง หรือผ่านผู้แทนซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน
พงษ์ศักดิ์ให้การอีกว่า การลงประชามติครั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ได้บัญญัติรับรองหลักการที่เป็นหัวใจของการออกเสียงประชามติดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”
พงษ์ศักดิ์เห็นว่า การจัดเวทีพูดเพื่อเสรีภาพฯ เป็นกิจกรรมที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและประชามติพึงกระทำได้ และได้แสดงถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกเสียงประชามติ เป็นไปตามหลักการระหว่างประเทศและมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ เนื่องจากเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และสร้างความตื่นตัวให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการออกเสียงประชามติของตน และการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย
อีกทั้งปรากฏว่ากิจกรรมได้ดำเนินเป็นไปโดยสงบและสันติ มีนักวิชาการมาแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ มีตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจมาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญต่อสิทธิชุมชน มีการเล่นดนตรี แสดงให้เห็นถึงการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ โดยทางผู้จัดกิจกรรมได้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่สถาบันการศึกษา ที่ควรสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้สิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และสถาบันการศึกษาควรสนับสนุนให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมประเภทนี้
ผู้ประสานงาน ANFREL ให้การต่อว่า ในระหว่างช่วงก่อนการออกเสียงประชามติ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง และภาครัฐอื่น มีข้อจำกัดในการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และผู้มีสิทธิออกสียงประชามติจำนวนมากไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ
พงษ์ศักดิ์เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่กระทำได้ และไม่ใช่การต่อต้านการออกเสียงประชามติ อีกทั้งมิใช่กิจกรรมที่มีจุดประสงค์ในการปลุกระดม หรือสร้างความไม่สงบแต่อย่างใด แต่เป็นกิจกรรมเชิงบวกที่ส่งเสริมการออกเสียงประชามติดังเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงไม่เห็นสมควรที่จะใช้การจัดกิจกรรมนี้เป็นเหตุผลในการจับกุมนักศึกษาด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังที่เกิดขึ้น
พงษ์ศักดิ์ให้การอีกว่า การห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการดำเนินคดีข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง เขาเห็นว่าการออกเสียงประชามติก็ถือเป็นการเมืองด้วยตัวมันเอง และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถือว่ามีความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง ดังนั้นประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน มิใช่เพียงด้านดีของเนื้อหาเพียงด้านเดียว แต่จำต้องได้รับข้อมูลที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านที่เป็นข้อบกพร่องด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างแท้จริง หากมีการห้ามมิให้แสดงความคิดเห็นหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ได้เลย จะทำให้ประชามติเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ทั้งยังทำให้ภาพการลงประชามติเป็นไปโดยไม่มีความโปร่งใส มีการตั้งคำถามจากสังคมมากมาย จะตอกย้ำถึงปัญหาและความไม่จริงใจของภาครัฐในการจัดประชามติ
ผู้ประสานงาน ANFREL เห็นว่า ในประเทศที่มีอารยะและดำเนินตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตนทั้งในด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน มีการจัดการสังเกตการณ์และตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย และไม่ปรากฏว่าประเทศใดจะมีการห้ามมิให้ประชาชนของตนแสดงความคิดเห็น นอกจากกรณีของประเทศพม่าในช่วงเวลาการทำประชามติภายใต้รัฐบาลทหาร ได้มีการห้ามมิให้ประชาชนใช้คำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งก็เป็นการลดคุณค่าและความชอบธรรมในการปกครองของตนเอง จนถูกประณามและต่อต้านจากประชาคมโลก
ก่อนการลงประชามติ พงษ์ศักดิ์เคยเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ คสช. ขอให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติได้อย่างเสรี เพราะเชื่อว่าทั้งสององค์กรจำเป็นต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะหากไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกจะเกิดการขัดแย้งและทำให้การลงประชามติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เพราะไม่เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ก่อนการออกเสียงประชามติ กกต. มีความเห็นต่อสาธารณะชัดเจนว่าผู้ใส่เสื้อรับ ไม่รับ ไม่มีความผิด โพสต์ในเฟซบุ๊กว่ารับ ไม่รับ ก็ไม่มีความผิด เพราะถือเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว การรณรงค์และให้ความเห็นตามข้อเท็จจริงก็ไม่ถือเป็นความผิด ดังนั้นในกรณีนี้เจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่น ๆ ควรรับฟังความเห็นของ กกต. ในฐานะที่ กกต. เป็นผู้รับผิดชอบจัดการการลงประชามติให้เป็นไปโดยเสรีและเที่ยงธรรม
กกต. ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงประชามติต้องร่วมสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย โดยต้องเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เปิดให้มีการมีส่วนร่วมและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จากที่ไปมาเกือบ 20 ประเทศ แม้การเมืองไทยซับซ้อน แต่เข้าใจว่าอย่างน้อยที่สุด กระบวนการการเลือกตั้งและการลงประชามติจำเป็นต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ประชาชนจะต้องได้รับสิทธิในการรับรู้ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น และได้รับการเคารพในความเท่าเทียมของหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง มิใช่การออกพระราชบัญญัติหรือกติกาที่จำกัดสิทธิของประชาชนโดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นไปเพื่อความสงบและป้องกันการปลุกระดมหรือยุยงทางการเมือง
พงษ์ศักดิ์ให้การว่า ในการประชาสัมพันธ์เรื่องประชามติที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้เห็นชัดเจนตรงกันว่า ภาครัฐ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้พยายามให้ความรู้และข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว คือ ข้อมูลในด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังระดมครู ก ข ค ให้เป็นผู้ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในวงจำกัด ประชาชนส่วนมากมิได้รู้ข้อมูลอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก
ผู้ประสานงาน ANFREL เห็นว่า การที่นักศึกษาและผู้ที่มีความสนใจทางการเมืองได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และข้อมูลแก่ประชาชนและเยาวชนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ รัฐจะต้องได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าว
พงษ์ศักดิ์เห็นว่า ผู้ที่ทำการขัดขวางหรือแจ้งความนักศึกษา หรือการก่อให้เกิดบรรยากาศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ สร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้างต่อการแสดงออก หรือแม้กระทั่งการพูดคุยเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวในช่วงก่อนประชามติ ควรถูกมองว่าเป็นผู้ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย และไม่เคารพในสิทธิของประชาชน ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เนื่องจากฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญสามารถพูดถึงความคิดเห็นของตนเอง และข้อดีของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ โดยที่มิได้มีการตรวจสอบ หรือมีการปิดกั้นมิให้มีการตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงและส่งผลร้ายต่อประเทศและทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะยาว
ผู้ประสานงาน ANFREL ย้ำว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นได้ แต่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่มาแสดงออกแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่ากระทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังเช่นคดีนี้ เป็นการขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ
พงษ์ศักดิ์เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 7 ได้ ซึ่งจะทำให้ขัดหลักการออกเสียงประชามติดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งการดำเนินคดีก็อาจมองว่าเป็นการคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะทำให้การออกเสียงประชามติไม่มีความชอบธรรมในสายตาของสังคมไทยและสังคมโลก