วันไบโพลาร์โลก: คุยกับ ‘วารุณี’ ผู้ถูกคุมขังคดี ม.112 กว่า 9 เดือน ผู้ป่วยกว่า 5 ปี

TW:  depression, suicidal thoughts 

.

กว่า 9 เดือนของการถูกจองจำ หลังศาลชั้นต้นพิพากษาสั่งให้จำคุกวารุณี เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ในคดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์ภาพพระแก้วมรกตสวมชุดราตรีแบรนด์สิริวรรณวลี ขณะ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง วารุณียื่นอุทธรณ์ และขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีการวมกันกว่า 8 ครั้ง แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างเกรงว่าวารุณีจะหลบหนี

วันที่ 27 มีนาคม 2567 เราเข้าเยี่ยม “น้ำ วารุณี” ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอมาในลุคสาวแว่น เราคุยกันเรื่องการรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของเธอ สถานการณ์ที่มีคนเข้าเรือนจำเพิ่มมากขึ้นเพราะคดีมาตรา 112  ส่วนการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น แม้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และวารุณีเองไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีเลย แต่ศาลปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวมาตลอด

.

ป่วยไบโพลาร์กว่า 5 ปี และหนักไปทางซึมเศร้า

ใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลที่รักษาวารุณีประจำ ระบุว่า วารุณีเป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดย “มีอารมณ์เครียด เบื่อ หงุดหงิดง่ายสลับกับอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร มักถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าทางอารมณ์ได้ง่าย ทำให้ยับยั้งชั่งใจลำบาก สมาธิไม่โฟกัส สมาธิลดลง” 

เราชวนวารุณีคุยเรื่องโรคไบโพลาร์ (โรคอารมณ์สองขั้ว) เนื่องในโอกาสที่ทุกวันที่ 30 มีนาคม เป็น World Bipolar Day วันดังกล่าวริเริ่มขึ้นโดยเครือข่ายโรคไบโพลาร์ของทวีปเอเชีย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และช่วยลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ 

สำหรับเหตุที่กำหนดเอาวันที่ 30 มีนาคมนี้ เนื่องจากเป็นวันเกิดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ศิลปินชาวดัตช์ ที่คาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ป่วยไบโพลาร์

“โรคไบโพลาร์ของหนูไม่ได้รุนแรงมาก ตอนนี้คือทรง ๆ หนูเป็น type 2 ไบโพลาร์มีสองประเภท ประเภทแรกคือ คนเป็นจะมีขั้ว mania นานกว่าช่วงซึมเศร้า (depress) น้อยกว่า ส่วนหนูเป็นประเภทที่สองคือ มีช่วงที่ซึมเศร้านานมากกว่าช่วง mania”

“อาการ mania ของหนูที่เป็นจะออกไปทางแนวใช้เงินเยอะ shopping กระเป๋าไม่หยุด ถ้าแฟนหนูไม่ตามไปใช้หนี้ให้ หนูน่าจะเป็นหนี้เยอะเพราะใช้เงินไม่คิด ขาดสติ แต่ไม่เคยใช้ความรุนแรงหรือสุดโต่งอะไรนะ แต่หนูเป็นซึมเศร้ายาว ช่วงซึมเศร้ามีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเอง หนูเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 4 ครั้ง โดยการกินยานอนหลับแบบ 50 เม็ดแบบนั้น เพราะมันมีช่วงที่ยาเอาไม่อยู่ อกหักหรือมีปัญหา แต่พอได้มากินยา 2 ตัวที่กินอยู่ปัจจุบันนี้ ก็ดีขึ้น”

“หนูว่าโรคไบโพลาร์รักษายากนะ เพราะว่าต้องกินยากดทั้งขั้วซึมเศร้า และขั้ว mania จะกดแค่ขั้วใดขั้วหนึ่งไม่ได้ อย่างหนูก็ต้องกินยากดไว้ทั้งสองขั้ว และต้องกินยานอนหลับ ทุกวันนี้ก็กินยาทุกวันตอนสองทุ่ม”

.

วารุณียังต้องจ่ายค่ายารักษาโรคเองเกือบ 6,000 บาทต่อเดือน

แม้วารุณีจะยื่นขอปล่อยตัวรวมกันถึงแปดครั้ง และเหตุผลหลักที่ศาลไม่ให้ประกันคือ “เกรงว่าจะหลบหนี” ก็ตาม แต่เหตุผลอีกประการหนึ่งในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคือ วารุณีมีโรคประจำตัวคือไรคไบโพลาร์ ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้ให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า “ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”  เราจึงถามถึงการดูแลโรคประจำตัวของเธอในรั้วราชทัณฑ์

วารุณีเล่าถึงเรื่องนี้ว่า หมอ (โรงพยาบาลประจำ) ของเธอบอกว่าโรคนี้ จาก 100 % จะมีคนที่หายขาด 30 %, รักษาไม่หายต้องทานยาไปเรื่อย ๆ 35% , รักษาหาย แต่กลับมาเป็นอีก 35%  ส่วนของเธอนั้นยังต้องทานยาเรื่อย ๆ เมื่อต้องถูกจำคุก

“มีอุปสรรคทำให้เป็นรุนแรงขึ้น เพราะอยู่ในนี้ชีวิตมันว่างเปล่า มีเวลาให้คิดมาก พอตกอยู่ในช่วงเศร้า ก็เศร้านาน เศร้าลึก แต่อยู่ในนี้หนูทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มียาอยู่กับตัว ถ้าไม่อย่างนั้นช่วงแรกหนูอาจกินยาไปแล้ว”

“ยาที่หนูกินจะมียานอนหลับ ยาขั้วซึมเศร้าและยาขั้ว mania ยานอนหลับหนูสามารถทานยาของทางเรือนจำได้เลย แต่ยาอีกสองตัวต้องให้น้องสาวซื้อจากโรงพยาบาลประจำส่งเข้ามา ทุกวันนี้ค่ายาตก 5,000-6,000 บาทต่อเดือน น้องสาวเป็นคนออกค่าใช้จ่าย มันเคยมีช่วงที่ส่งยาจากโรงพยาบาลประจำมาให้ไม่ทัน ต้องทานยาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์แทน ซึ่งเป็นยาคนละตัวทำให้มีอาการปวดท้องและเวียนหัว หนูเลยเลือกจะกินยาจากที่ประจำ ไม่รับยาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์”

.

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์

วารุณียังเล่าว่า “คนทั่วไปจะคิดว่าโรคนี้คนเป็นในหนึ่งวันจะร้องไห้ และเดี๋ยวก็ดีอารมณ์สลับไปมา แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น อาการไบโพลาร์จะมีช่วงระยะเวลาของมัน ในการเป็นขั้ว mania และซึมเศร้า อาจจะกินระยะเวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็แล้วแต่คน ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายในช่วงระยะเวลาแป๊บเดียวนั้นไม่ใช่ และคนที่ใช้ความรุนแรงก็เป็นเพราะเขาเป็นคนรุนแรง ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นโรคนี้จะใช้ความรุนแรง”

แม้จะอยู่ในเรือนจำ แต่วารุณียังส่งกำลังใจให้กับคนที่ป่วยเช่นเดียวกับเธอ “เป็นกำลังใจให้ คนข้างนอกมีวิธีรับมือมากกว่า โลกนี้มีทั้งดีและร้าย อยากให้มองโลกในแง่บวก ” เธอเองก็พยายามจะมองโลกนี้ในแง่บวกเช่นกัน

การรักษาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะอยู่ให้ได้ คนข้างในอย่างวารุณีต้องพยายามมองโลกในแง่บวก แต่สำหรับคนทำงานอย่างเราตอนนี้ เห็นแต่ตัวเลขผู้ต้องขังทางการเมืองที่บวกขึ้นไป 45 คน คือจำนวนล่าสุดของผู้ต้องขังคดีการเมือง วารุณีเป็นไบโพลาร์มา 5 ปี แต่ติดคุกมา 9 เดือน โดยไม่ได้ประกัน นี่อาจเป็นอาการกระบวนการยุติธรรมป่วยไข้ก็เป็นได้

.

หมายเหตุ การนำเสนอเนื้อหาอาการได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรื่องราวแล้ว

.

X