อีกครั้ง! ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ ‘พิมพ์สิริ’ เดินทางออกนอกประเทศ ไปฝึกอบรม-ดูงานที่สหรัฐฯ ระบุ ประชุมออนไลน์แทนได้

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน  1 ใน 8 นักกิจกรรมที่ตกเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #29พฤศจิกาไปหน้าราบ11 “ปลดอำนาจศักดินา” ที่หน้ากองพันทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 เข้ายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 19 เม.ย. – 2 พ.ค. 2567 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากในระหว่างชุมนุม #29พฤศจิกาไปหน้าราบ11 “ปลดอำนาจศักดินา” พิมพ์สิริเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัย และนำข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ (UN Special Rapporteurs) ที่มีต่อการบังคับใช้มาตรา 112 มากล่าวปราศรัย ซึ่งใจความสำคัญโดยสรุปทำนองว่าในประเทศประชาธิปไตย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องถูกยกเลิกไปได้แล้ว  นอกเหนือจากนี้แล้วพิมพ์สิริก็ไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

หลังการชุมนุม พิมพ์สิริถูกแจ้งข้อกล่าวหาและถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ รวมทั้งหมด 10 ข้อหา 

อย่างไรก็ดี พิมพ์สิริได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขคือห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ล่าสุด หลัง “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อีกหนึ่งจำเลยในคดีนี้ ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของนักกิจกรรม 7 คน ที่เหลือ และให้อัยการยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ โดยนัดทั้งเจ็ดรายงานตัวในวันที่ 27 ก.พ. 2567 โดยในวันดังกล่าว ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องทั้งเจ็ดเข้ามาใหม่แล้ว ศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยวงเงินประกัน 100,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขเพียงห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต เท่านั้น

.

เปิดคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ ระบุเป็นงานสำคัญต่อวิชาชีพ สามารถนำความรู้มาใช้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ 

สำหรับสาเหตุในการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศครั้งนี้ เนื่องจากพิมพ์สิริได้รับคำเชิญให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ 1 ใน 60 ผู้เชี่ยวชาญภาคประชาสังคมที่ทรงคุญวุฒิจากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมงานของ “CANVAS U.S.” ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไรตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานด้านวิชาการการศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี 

โดยพิมพ์สิริได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาพิเศษและเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการฝึกอบรมในโครงการ “วิทยาลัยกิจกรรมเพื่อสังคม” (CANVAS People Power Academy) และเข้าร่วมการประชุมดูงานขององค์กรดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเพิ่มพูนความรู้ระหว่างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างวันที่ 20 – 30 เม.ย. 2567 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา 

พิมพ์สิริระบุในคำร้องว่า ตนมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปร่วมงานดังกล่าว เนื่องจากเป็นการร่วมงานและอบรมในกรณีที่เป็นเนื้อหาสำคัญและตรงต่อวิชาชีพของตนโดยเฉพาะ และยังเป็นกรณีที่ช่วยให้ตนสามารถนำความรู้ความสามารถที่ได้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยได้  

พิมพ์สิริจึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตในตนเดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 19 เม.ย. – 2 พ.ค. 2567 โดยระบุด้วยว่า หากศาลเห็นสมควรที่จะมีมาตรการใด เช่น ให้รายงานตัวต่อศาลภายหลังเดินทางกลับเข้าประเทศ ตนก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ

นอกจากนี้ หลังยื่นคำร้องในวันที่ 12 มี.ค. 2567 แล้ว ต่อมาในวันที่ 14 มี.ค. 2567 พิมพ์สิริยังได้เข้ายื่นคำร้องขอวางหลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มอีก 100,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นไม่อนุญาตให้พิมพ์สิริออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่า จำเลยสามารถร่วมประชุมโดยใช้ระบบออนไลน์ได้ 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในช่วงวันที่ 27 ก.พ. – 4 เม.ย. 2566 พิมพ์สิริในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสถานะที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council หรือ ECOSOC Consultative Status) มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เคยยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อเข้าร่วมประชุมดังกล่าวรวม 3 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตอีก 1 ครั้ง แต่สุดท้ายพิมพ์สิริก็ไม่ได้เดินทางไป เนื่องจากศาลไม่อนุญาต

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

จับตา “พิมพ์สิริ” นักปกป้องสิทธิผู้ถูกฟ้องคดี 112 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมประชุม UN

ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาไม่ให้ ‘พิมพ์สิริ’ เดินทางออกนอกประเทศ ชี้คำสั่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นระหว่างพิจารณา ไม่มีสิทธิอุทธรณ์

X