จับตา “พิมพ์สิริ” นักปกป้องสิทธิผู้ถูกฟ้องคดี 112 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมประชุม UN

วันที่ 9 มี.ค. 2566 พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทยขององค์กร ARTICLE 19 และหนึ่งในจำเลยคดี มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #29พฤศจิกาไปหน้าราบ11 “ปลดอำนาจศักดินา” ที่หน้ากองพันทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 จะเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระยะเวลาจำกัด หลังขอเดินทางไปร่วมงานประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการยื่น 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 13 และ 24 ก.พ. 2566 ศาลไม่อนุญาตทั้งสองครั้ง โดยระบุว่าไม่มีเหตุจำเป็นให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเหตุผลใดๆ

เกี่ยวกับคดี พิมพ์สิริถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, เททิ้งปฏิกูล มูลฝอยลงบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งหมด 10 ข้อหา

อย่างไรก็ดี พิมพ์สิริได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขคือห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

สำหรับเหตุผลในการยื่นคำร้อง เนื่องจากพิมพ์สิริมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และจบลงในวันที่ 4 เมษายน 2566 ในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสถานะที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council หรือ ECOSOC Consultative Status) โดยบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสถานะดังกล่าว คือการร่วมติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล หากแต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้พิมพ์สิริไม่สามารถเดินทางได้ 

ในการยื่นคำร้องทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พิมพ์สิริได้แถลงเหตุผลต่อศาลว่าตนเองมีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง และการไปร่วมการประชุมในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และได้แนบเอกสารท้ายคำร้อง ประกอบไปด้วยจดหมายเชิญจากองค์กร กำหนดการงานประชุม และเอกสารหน้าเว็บไซต์ขององค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่ 

ส่วนในการยื่นเอกสารครั้งที่ 2 นั้น ยังได้แนบเอกสารประกอบ ซึ่งประกอบด้วยหนังสือเชิญ หนังสือรับรองการทำงาน กำหนดการประชุม รวมถึงหนังสือรับรองโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และยังได้อ้างถึงคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่เคยอนุญาตให้จำเลยบางส่วนในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอย่างจำกัดมาแล้ว โดยเป็นการไปประชุมด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนที่ประเทศสาธารณรัฐเช็ค ในเดือนกันยายน 2565 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแถลงต่อศาลว่าตนเองไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี แต่ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาต ทำให้พิมพ์สิริเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล

ทั้งนี้ จากคดีชุมนุม #29พฤศจิกาไปหน้าราบ11 “ปลดอำนาจศักดินา” พิมพ์สิริเป็นเพียงผู้ปราศรัยคนหนึ่ง และถ้อยคำปราศรัยในวันดังกล่าวก็เป็นข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ (UN Special Rapporteurs) ที่มีต่อการนำมาตรา 112 มาใช้ ซึ่งใจความสำคัญโดยสรุปทำนองว่าในประเทศประชาธิปไตย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องถูกยกเลิกไปได้แล้ว  นอกเหนือจากนี้แล้วพิมพ์สิริก็ไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

.

X