ผู้ต้องขังการเมืองพุ่ง 42 คน เป็น ม.112 เกินครึ่ง มากที่สุดอย่างน้อยในรอบ 4 ปี ขณะไทยกำลังจะลงสมัคร UNHRC เป็นผู้นำสิทธิมนุษยชนโลก

ภายหลังที่ “ตะวัน – ทานตะวัน” และ “แฟรงค์ – ณัฐนนท์” ถูกฝากขังในคดี ม.116 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของพระเทพฯ นั้น ได้ทำให้จำนวนผู้ต้องขังการเมืองระลอกตั้งแต่ปี 2563 พุ่งขึ้นไปแตะที่ตัวเลข ‘อย่างน้อย 40 คน’ ซึ่งนับว่าการถูกคุมขังในช่วงเวลาเดียวกันเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบอย่างน้อย 4 ปี (2563 – 2566)


ปัจจุบัน (11 มี.ค.) มีผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 42 ราย โดยมี “อัฐสิษฎ” และ “ไบร์ท – ชินวัตร” ถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีมาตรา 112 เป็นคนที่ 41 และ 42 ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่าผู้ต้องขังการเมืองจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางโอกาสได้รับสิทธิประกันตัวที่ริบหรี่และยากเข็ญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ความเข้มข้นของการสั่งคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองและจำนวนคดีการเมืองที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ขณะเดียวกันก็เป็นการนับถอยหลังของประเทศไทยกับการลงสู่สนามระดับนานาชาติ เพื่อรับคัดเลือกเป็นสมาชิก “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” (United Nations Human Rights Council : UNHRC) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ จากการที่ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” จากกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้ประกาศเจตจำนงไว้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

หากประเทศไทยได้รับให้เป็นหนึ่งในสมาชิก “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” จะดำรงวาระอยู่นาน 3 ปี (2568 – 2570) และมีบทบาทสำคัญในการทำงานเป็นกลไกขับเคลื่อนขับประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับสากล เป็นผู้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนและรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ

ทว่า ประเทศไทยนั้นยังคงมีปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นที่ ‘คาราคาซัง’ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่แล้ว แต่ยังคงไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะประเด็นปัญหา ‘คดีการเมือง’ ที่มีปัญหาในหลายมิติ ทั้งกรณีนักโทษการเมือง, การบังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายอื่นเพื่อกดปราบการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, การจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง, การติดตาม-คุกคามประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ฯลฯ   

นี่เป็นเพียง ‘หนึ่ง’ ในอีกหลายประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย หากรัฐบาลยังคงไม่เข้ามาจัดการและแก้ไขให้มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมก็เรื่องน่าท้าทายที่ยากจะได้รับความเชื่อมั่น ความไว้ใจ และการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโอกาสที่จะ ‘ที่นั่ง’ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 

X