ประมวลไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ “นรินทร์” เหตุแต่งชุดซานต้า ชูป้ายข้อความ ‘พระราชทาน’ ก่อนศาลสั่งลงโทษจำคุก 10 วัน ปรับ 200 บาท รอลงอาญา 1 ปี 

วันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำสั่งในคดีของ “นรินทร์” (สงวนนามสกุล) ที่ถูกศาลตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล จากกรณีแต่งชุดซานต้าคลอสชูป้ายคำว่า #พระราชทาน เข้าร่วมให้กำลังใจ “ตะวัน-บุ้ง” เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566

เกี่ยวกับคดีนี้ นรินทร์และเพื่อนได้แต่งชุดในธีมซานต้าคลอส เดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อให้กำลังใจกับนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง “ตะวัน – บุ้ง” ซึ่งเดินทางไปฟังคำสั่งถอนประกันตัว ในคดีทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างพารากอน โดยนรินทร์ได้ชูป้ายข้อความว่า ‘พระราชทาน’ ลงมาจากหน้าต่างบนอาคารศาล ซึ่งตำรวจศาลได้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวของนรินทร์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของศาล

ในคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วจากคำเบิกความของตำรวจศาลที่เป็นผู้กล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของศาล และเป็นการกระทำที่ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม ลงโทษจำคุก 15 วัน ปรับ 300 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 10 วัน ปรับ 200 บาท ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี 

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดไต่สวนในคดีนี้ โดยมี ส.ต.อ.ชิษณุพงษ์ เพชรคอน ตำรวจศาล เป็นพยานผู้กล่าวหา ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลาประมาณ 09.40 น. ในขณะที่พยานเดินตรวจตราอยู่บริเวณอาคารศาล ได้รับแจ้งจาก รปภ. ที่ชั้น 5 ของอาคารว่ามีกลุ่มบุคคลแต่งกายด้วยชุดสีแดง และมีบุคคลสวมใส่หน้ากากสีทองถือป้ายกระดาษมีข้อความว่า ‘พระราชทาน’ ยื่นออกมาทางหน้าต่างของตัวอาคาร 

หลังจากนั้น พยานได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบการกระทำดังกล่าวแล้ว และไม่พบตัวกลุ่มบุคคลที่แต่งกายด้วยชุดสีแดงที่ได้รับแจ้งเข้ามา 

แต่เวลาต่อมา พยานได้พบเห็นภาพถ่ายบนสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นบุคคลแต่งกายด้วยชุดสีแดง และใส่หน้ากากสีทอง ยื่นกระดาษออกมานอกบริเวณหน้าต่าง จึงได้รายงานต่อผู้อำนวยการสำนักงานศาล จึงได้มีคำสั่งให้พยานตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อสืบทราบตัวบุคคลว่าเป็นผู้ใด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ เรื่องมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564

ทนายความถามค้าน

ทนายความผู้ถูกกล่าวหา ถามต่อ ส.ต.อ.ชิษณุพงษ์ ว่าในวันเกิดเหตุมีการพิจารณาคดีของทานตะวันและบุ้งอยู่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และในวันดังกล่าวก็มีสื่อมวลชนอยู่จำนวนมาก แต่อยู่นอกบริเวณรั้วของศาล ทั้งนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้กล่าวหาในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงผู้ได้รับแจ้งเหตุเท่านั้น

ทั้งนี้ พยานได้ยอมรับตามที่ถามว่า ในตอนที่ผู้ถูกกล่าวหาเดินเข้ามาในอาคารศาล ผู้ถูกกล่าวหาได้ยินยอมให้ตรวจบัตรประชาชน เพื่อแสดงตัวตน และยอมรับว่าในขณะที่เดินเข้ามาในอาคาร ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แต่งกายด้วยชุดสีแดงแต่อย่างใด รวมถึงการตรวจค้นสิ่งของในกระเป๋าก็ไม่พบเจอสิ่งของผิดปกติใด ๆ 

ทนายความถามต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ที่ออกตามความในข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อย กับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ในการตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติการณ์ในคดีนี้ ไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ก่อความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีในวันดังกล่าวล่าช้า ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

และยอมรับว่านอกจากผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ กลุ่มบุคคลที่มากับผู้ถูกกล่าวหาไม่มีใครโดนดำเนินคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาล แต่พยานอธิบายเพิ่มเติมว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี ก็เนื่องจากชูป้ายข้อความแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ของศาล ให้ปรากฏภาพออกทางสื่อออนไลน์ ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดของศาลที่ได้ประกาศไว้ว่า มิให้มีการเผยแพร่ภาพและเสียงในบริเวณอาณาเขตของศาล 

แต่ ส.ต.อ.ชิษณุพงษ์ ได้ยอมรับตามที่ถามต่อว่า ในการเผยแพร่ภาพที่เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์ พยานไม่ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้จะเป็นคนทำหรือไม่ เนื่องจากภาพดังกล่าวพยานได้เห็นผ่านเว็บไซต์ข่าวออนไลน์

จากนั้น นรินทร์ อ้างตัวเองเป็นพยาน ขึ้นเบิกความชี้แจงยอมรับว่าบุคคลตามภาพถ่ายคือพยานจริง และถึงแม้ในบริเวณดังกล่าวจะมีตำรวจศาลอยู่ด้วย 3 – 4 นาย แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาตักเตือนหรือห้ามปรามการกระทำของพยานในขณะนั้นแต่อย่างใด

ตลอดจนในวันดังกล่าว การพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในอาคารศาล ก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย การกระทำของพยานไม่ได้เป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และยืนยันว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ภาพถ่ายที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ และไม่เคยเกี่ยวข้องกับผู้ถ่ายภาพ หรือมีความสัมพันธ์กันมาก่อน

ในวันนี้ (22 ก.พ. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 501 นรินทร์ และทนายความเดินทางมาพร้อมกันที่หน้าห้องพิจารณา โดยศาลได้เรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาลุกขึ้นแสดงตัว ก่อนอ่านคำสั่งมีใจความสำคัญโดยสรุป ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามข้อกำหนดศาล ในเรื่องมิให้กระทำการใด ๆ ให้เกิดการเผยแพร่ภาพและเสียง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีศาล ตามประกาศเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 ของศาลอาญากรุงเทพใต้

แม้ในทางไต่สวน จะไม่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เผยแพร่ภาพ แต่การกระทำที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

แต่ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเพียงชูป้าย “พระราชทาน” ในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้กระทำการอื่นใดที่เป็นการรบกวนการพิจารณาคดี ให้ลงโทษสถานเบา พิพากษาให้จำคุก 15 วัน และปรับ 300 บาท การเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เหลือจำคุก 10 วัน ปรับ 200 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้มีข้อน่าสังเกตว่าผู้กล่าวหาในคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ที่ขึ้นเบิกความยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนเห็นเหตุการณ์ เป็นเพียงผู้ได้รับแจ้งเหตุเท่านั้น ในภายหลัง ก็ได้พบเจอภาพของผู้ถูกกล่าวหาบนสื่อออนไลน์ แต่ไม่ปรากฏว่านรินทร์เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ภาพอย่างไร

X