ยกฟ้อง “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวช คดี ม.112 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องตามศาลชั้นต้น หลักฐานโจทก์ยืนยันไม่ได้ว่า จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้อง 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัด “ชัยชนะ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและผู้ป่วยจิตเวช อายุ 34 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีซึ่งชัยชนะถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความ เมื่อวันที่ 5-6 ม.ค. 2564

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต่อหน้าชัยชนะและครอบครัวที่เดินทางมาจากลำพูนเช่นทุกครั้ง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ซึ่งมีเพียงภาพแคปหน้าจอจากโทรศัพท์เท่านั้น ไม่ได้จัดพิมพ์มาจากเว็บเบราว์เซอร์โดยตรง ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า บุคคลตามภาพและใช้ชื่อดังกล่าวเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่แท้จริง พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลย

.

คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เข้าแจ้งความที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ชัยชนะจึงต้องเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตร จาก จ.ลำพูน เพื่อไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส โดยทุกครั้งต้องเดินทางพร้อมผู้ปกครอง เนื่องจากชัยชนะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภท ทำให้เป็นภาระอย่างมากสำหรับชัยชนะและครอบครัว

ในระหว่างต่อสู้คดี ชัยชนะและญาติเคยแถลงต่อศาลถึงอาการป่วยจิตเภท ซึ่งมีประวัติการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลี้ และโรงพยาบาลลำพูนมาก่อน ศาลจึงให้มีหนังสือส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการตรวจ แพทย์โรงพยาบาลสวนปรุงรายงานความเห็นต่อศาลว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ 

นอกจากนี้ ทนายจำเลยยังเคยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอโอนย้ายคดีจากศาลจังหวัดนราธิวาสไปยังศาลอาญา รัชดาฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อลดภาระเดินทางไกลและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของจำเลย ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาสได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ก่อนศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยสามารถเดินทางไปต่อสู้คดียังศาลจังหวัดนราธิวาสได้ตามปกติอยู่แล้ว อีกทั้งผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่างก็พักอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ทำให้ชัยชนะและครอบครัวยังคงต้องเดินทางไกลไปศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี

ในการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภท โดยมีแพทย์ผู้ให้การรักษาจำเลย จาก 3 โรงพยาบาล รวม 3 ปาก มาเบิกความยืนยันตรงกัน นอกจากนี้ ยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาเบิกความยืนยันว่า พยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพแคปหน้าจอมือถือไม่มีความน่าเชื่อถือ และผ่านการตัดต่อแก้ไขมาแล้ว 

ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 ยกฟ้องคดีนี้ มีรายละเอียดโดยสรุปว่า จากการสืบพยานได้ข้อเท็จจริงว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้รูปภาพและชื่อของจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยได้เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลง หรือแก้ไขไปเป็นข้อมูลและหลักฐานเท็จได้ ซึ่งจำเลยได้เคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่ตำรวจตรวจยึดได้ขณะจำเลยถูกจับกุม ไม่พบว่ามีการเข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

อีกทั้งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณาคดี ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องและโพสต์ข้อความตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

ต่อมา โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุกจำเลย 

กระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษา ก่อนส่งให้ศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้อ่านให้จำเลยฟัง เนื้อหาคำพิพากษามีดังนี้

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า พสิษฐ์เบิกความยืนยันว่า เมื่อได้รับข้อความจากเพื่อนให้เปิดดูบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว มีรูปจําเลยเป็นรูปโปรไฟล์ และพบการโพสต์ข้อความและภาพตามฟ้อง จึงสอบถามถึงตัวบุคคลที่ใช้ชื่อ นามสกุลและภาพดังกล่าว ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อนส่งภาพหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งมีชื่อและนามสกุลตรงกับชื่อจําเลย เชื่อว่าจําเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว แม้จําเลยจะเบิกความว่าบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องไม่ใช่ของจําเลย แต่ในชั้นสืบพยานจําเลย จําเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยัน ประกอบคําเบิกความของจําเลยให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

เห็นว่า แม้จำเลยเคยเบิกความรับว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 1-2 ปี จําเลยเคยใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง แต่จําเลยปฏิเสธว่า ภาพโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ใช่บัญชีเฟซบุ๊กที่จําเลยเปิดใช้งาน จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนําพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว 

ได้ความจาก ร.ต.อ.วีรชัย พิเศษกุญชร พนักงานสอบสวนว่า พยานขอตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับบัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กตามฟ้อง จากสํานักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ และเมื่อตํารวจยึดโทรศัพท์ของจําเลยเป็นของกลางไปตรวจสอบก็ไม่ปรากฏข้อมูลการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์มีเพียงภาพที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอจากเฟซบุ๊กบนโทรศัพท์นํามาวางในโปรแกรมเวิร์ดแล้วพิมพ์ออกมาเท่านั้น 

ได้ความจากคําเบิกความของวรัญญูตา ยันอินทร์ นักเทคนิคคอมพิวเตอร์พยานจําเลยว่า ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือจะต้องจัดพิมพ์มาจากเว็บเบราว์เซอร์โดยตรง การแก้ไข ตัดต่อข้อความและภาพถ่ายกระทําได้ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลําพังจากภาพโปรไฟล์และชื่อบัญชีใต้ภาพยังไม่อาจยืนยันได้ว่าบุคคลตามภาพและใช้ชื่อดังกล่าวเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่แท้จริง เนื่องจากการปลอมแปลงเฟซบุ๊กสามารถทําได้โดยง่าย 

พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.

องค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้จัดทำคำพิพากษาประกอบด้วย ศุภชัย นารถพจนานนท์, ผจงธรณ์ วรินทรเวช และวสุพัชร์ จงเพิ่มวัฒนะผล

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชจากลำพูน ถูกดำเนินคดีถึงสุไหงโก-ลก กล่าวหาโพสต์ 4 ข้อความ พาดพิง ร.10-ราชวงศ์

X