เรื่อง: พชร คำชำนาญ
ภาพ: เมธาวจี สาระคุณ
ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ยื่นขอให้ยกเลิกการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา–กระบี่หน้าองค์การสหประชาชาติ ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมย้ำมีเสรีภาพที่จะชุมนุมอย่างสันติ พร้อมปักหลักต่อสู้จนกว่าโครงการฯ จะยุติ
16 ก.พ. 2561 เวลาประมาณ 14.30 น. พ.ต.ต. อรรถวิท เรืองโภควิทย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นำหมายนัดของศาลแพ่งมาติดประกาศบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่–เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความว่า ให้นายสมยศ โต๊ะหลัง และ น.ส. จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ และกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่น เข้ารับฟังการไต่สวนคำร้องเรื่อง “ขอยกเลิกการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติการณ์การชุมนุม” ในวันที่ 20 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น.
ประกาศดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2561 สน.นางเลิ้ง ได้นำประกาศเรื่องให้แก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาประกาศ อ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) คือ กีดขวางและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าและประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนอันพึงคาดหมาย อาทิ เมื่อผู้ชุมนุมลงไปเดินบนถนน อาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ โดยมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ภายใน เวลา 16.00 น. ของวันนั้น
หลังจากนั้น เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่–เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เพื่อยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมในสถานที่เดิม และขอให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว ให้เหตุผลว่า การชุมนุมครั้งนี้ปราศจากอาวุธและความรุนแรงทุกรูปแบบ และการปักหลักชุมนุมในบริเวณนั้นไม่ได้กีดขวางการจราจรบนพื้นผิวถนน การเดินสัญจรไปมาบนทางเท้าก็สามารถทำได้ตามปกติ อีกทั้งยังไม่กีดขวางทางเข้าออกของอาคารสำนักงานใดๆ บริเวณนั้น
นอกจากนั้น ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ที่ว่าอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวชนก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ต้องดูแลการชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 ที่จะต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุมที่ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา ในวันที่ 15 ก.พ. 2561 สน.นางเลิ้งได้แจ้งผลอุทธรณ์ว่าไม่รับอุทธรณ์ เจ้าพนักงานจึงดำเนินการร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ทางเครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม โดยทางเครือข่ายฯ ต้องเข้ารับฟังการไต่สวนคำร้องในวันที่ 20 ก.พ. 2561 ต่อไป
ทั้งนี้ วันนี้เป็นวันที่ห้า นับตั้งแต่ชาวบ้านจากเทพาและกระบี่ย้ายจากทำเนียบรัฐบาลมาปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านั้นกลุ่มผู้ชุมนุมถูกสั่งเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 วรรคท้าย ว่าการชุมนุมดังกล่าวกีดขวางการจราจรและทางเดินเท้า จึงห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา