วันที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต มีนัดไต่สวนเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว “บารมี ชัยรัตน์” นักเคลื่อนไหว และผู้ประสานงานสมัชชาคนจน จำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาตามข้อหา ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปตาม ม.215, ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่งตาม ม.216 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 จากการเข้าร่วมชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ซึ่งมีความพยายามเดินขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุม APEC 2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565
ในการไต่สวนเพิกถอนการประกันตัวในวันนี้ มีเหตุมาจากการที่ ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้ร้องขอให้ศาลถอนประกันตัวบารมี โดยมีรายละเอียดว่าจำเลยได้ทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน และกลุ่ม P-move ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคนจน ในระหว่างวันที่ 17 – 24 ต.ค. 2566 โดยกล่าวหาว่าพฤติการณ์ของจำเลยไม่เป็นการสำนึกในโอกาสที่ตนได้รับ และท้าทายละเมิดเงื่อนไขคำสั่งศาล โดยเข้าร่วมชุมนุม ยุยง ส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง
ในคดีที่บารมีถูกกล่าวหานี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้วางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางบริเวณถนนดินสอ ก่อนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 2 ระลอก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 25 ราย ซึ่งมีบารมีร่วมเป็นผู้ต้องหาอยู่ในจำนวนดังกล่าวด้วย ต่อมาตำรวจให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในชั้นสอบสวน โดยต้องวางเงินประกันคนละ 20,000 บาท
ในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 พนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง 3 ได้ยื่นฟ้องคดีกับบารมี และพวกรวม 25 ราย บรรยายฟ้องโดยสรุปว่าจำเลยทั้งหมดได้รวมตัวกันก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และมีการเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรื้อถอนป้ายการประชุม APEC 2022 ซึ่งเป็นการแสดงออกว่าต้องการจะหยุดการประชุม APEC
นอกจากนี้ อัยการยังได้บรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยทั้ง 25 ราย ได้ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยังคงมุ่งหน้าเดินขบวนชุมนุมไปตามถนนดินสอ จนกระทั่งไปเข้ามาพบกับแนวกั้นของตำรวจ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน และไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน และใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งมีการขว้างปาสิ่งของ ขวดแก้ว ก้อนหิน ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนหลายนาย
ศาลแขวงดุสิตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยให้สาบานตน และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างรอการสืบพยาน
ตำรวจแจ้งเหตุขอถอนประกัน เนื่องจากบารมีเข้าร่วมมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาคนจน ส่วนทนายจำเลยคัดค้าน ชี้คำร้องของ ตร. ไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 109 และบารมีไม่เคยมีเงื่อนไขการปล่อยตัวในชั้นพิจารณาคดี
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้ร้องขอถอนประกันตัวบารมี โดยมีรายละเอียดว่าจำเลยได้ทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน และ P-move ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคนจน ในระหว่างวันที่ 17 – 24 ต.ค. 2566 โดยกล่าวหาว่าพฤติการณ์ของจำเลยไม่เป็นการสำนึกในโอกาสที่ตนได้รับ และท้าทายละเมิดเงื่อนไขคำสั่งศาล โดยเข้าร่วมชุมนุม ยุยง ส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง
ต่อมาหลังศาลได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนคำร้องของพนักงสอบสวน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของบารมี ในวันที่ 14 ธ.ค. 2566 มีข้อชี้แจงหลัก 2 ประการ ดังนี้
- ศาลไม่มีอำนาจสั่งไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เนื่องจากจำเลยในคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และศาลได้ให้ประกันโดยให้จำเลยสาบานตนก่อนปล่อยตัวชั่วคราว และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมให้จำเลยได้ปฏิบัติตาม ทั้งพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ก็ไม่เคยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีนี้ การที่พนักงานสอบสวนยื่นขอเพิกถอนการประกันตัว ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีประกัน แต่กลับยื่นดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
- คดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาตามมาตรา 215, 216 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ทั้งนี้ ตามที่พนักงานสอบสวนได้อ้างความตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 109 เพื่อยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยมาด้วย จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาลได้ เมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวนได้
ในวันนี้ (17 ม.ค. 2567) เวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 512 บารมีและทนายความได้เดินทางมาศาล ก่อนจะพบว่า ร.ต.อ.เลิศชาย ผู้ร้องไม่ได้เดินทางมาตามนัดหมายในวันนี้ ทำให้ทนายได้ลุกขึ้นแถลงขอให้ศาลพิจารณายกคำร้องเพิกถอนของตำรวจ เนื่องจากผู้ร้องไม่มาปรากฏตัว และไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าแสดงต่อศาล ว่าจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวอย่างไร
บารมีได้ยืนขึ้นชี้แจงต่อว่า ในการมาศาลครั้งนี้มีความลำบาก เนื่องจากตัวเขาต้องเดินทางไกลมาจากจังหวัดตรัง แม้จะมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ แต่หน้าที่การงานกับกลุ่มสมัชชาคนจน ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานกับประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มาปรากฏตัวในศาล ทำให้การทำงานของจำเลยต้องติดขัดไปด้วย
ฝ่ายจำเลยจึงขอให้ศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาคดีว่า การที่ผู้ร้องไม่มาปรากฏตัว นอกจากจะไม่มีพยานหลักฐานมาชี้แจงแล้ว ยังส่งผลให้จำเลยได้รับผลกระทบจากการขาดงาน และทำให้ประชาชนที่ทำงานร่วมกับจำเลยเสียผลประโยชน์โดยใช่เหตุ ซึ่งศาลตกลงได้บันทึกไว้ตามที่จำเลยร้องขอ และแจ้งว่าหากมีการยื่นขอไต่สวนถอนประกันตัวจำเลยอีก ศาลจะพิจารณาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นคำร้องมาแล้ว ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะไม่มาตามนัดหมาย
ภายหลังเสร็จสิ้นการฟังรายงานกระบวนพิจารณาคดี บารมีได้เปิดเผยว่า “ผมคิดว่าตำรวจรู้อยู่แล้วว่าเขาไม่มีอำนาจในการมายื่นคำร้องนี้ แต่เราไม่ได้มีเงื่อนไขประกันตัว เพราะศาลสั่งให้เราสาบานตน การกระทำของตำรวจมันเป็นการกลั่นแกล้งให้เราเสียเวลา เสียงานเสียการ วันนี้เขาเลยเจตนาไม่มาศาล”
เมื่อถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น บารมีได้บอกว่าเขากำลังทำงานอยู่ที่ภาคใต้ การต้องเดินทางไปมาแบบนี้ ทำให้การทำงานของเขาติดขัด “ผมขึ้นมาจากตรัง แต่ปัญหาคือว่าแทนที่จะได้เดินทางทำงานภาคใต้หลายวันก็ต้องรีบกลับมา อย่างวันพรุ่งนี้พี่น้องพัทลุงเขาก็จะไปยื่นหนังสือกัน พอเรามาอย่างนี้มันก็ขาดคนให้คำปรึกษา ถ้าตำรวจทำแบบนี้บ่อย ๆ มันก็ส่งผลกระทบต่อการทำงาน”
“ถ้าผมออกมาชุมนุมอีก ตำรวจก็จะมาทำแบบนี้อีก ผมหวังว่าตำรวจจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ตนเอง ถ้าตำรวจไม่เข้าใจ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ไม่ควรจะใช้มันอีกต่อไป กฎหมายแบบนี้ การใช้อำนาจแบบนี้ มันเป็นการรังแกประชาชนไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วผมเห็นว่ามันควรมีการปฏิรูปกระบวนการตำรวจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งประชาชนแบบนี้”