มองโลกกว้าง
คิดสร้างสรรค์
เคารพความแตกต่าง
ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย
นี่คือคำขวัญวันเด็กปี 2567 จาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่ส่งมอบให้กับเด็กไทยทั้งประเทศ นับเป็นคำขวัญที่มีการกล่าวถึงคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อีกครั้งในรอบกว่า 23 ปี และยังเป็นการกล่าวถึง ‘ความแตกต่าง’ ครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่มีการมอบคำขวัญวันเด็กจากผู้นำของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2499 อีกด้วย
ความคาดหวังให้เยาวชนตระหนักกับคุณค่าของ ‘ความแตกต่าง’ และ ‘ประชาธิปไตย’ นั้นนับเป็นสิ่งดี แต่รู้หรือไม่ว่าแม้จะผลัดเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2563 กว่า 138 คดียังคงไม่สิ้นสุด และปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 คน กำลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชาย ‘บ้านเมตตา’ ในคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมือง
เขาคือ “ภูมิ” และ “ภัทรชัย”
ภูมิ หัวลำโพง นักกิจกรรมและอาสากู้ภัย ปัจจุบันอายุ 20 ปี ถูกดำเนินคดีจากเหตุเมื่อต้นปี 2564 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 17 ปีเศษ กรณีเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย ที่ตอนนั้นถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง ในคดีมาตรา 112
จากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ภูมิถูกฟ้องหลายข้อหาด้วยกัน แต่มีข้อหาสำคัญเป็นมาตรา 112 โดยถูกฟ้องจากการปาอาหารสุนัขไปที่รูปของรัชกาลที่ 10 และปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10
เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาลภูมิกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลเยาวชนฯ ได้วินิจฉัยให้ใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาคดี ส่งตัวภูมิไปสถานพินิจฯ นาน 1 ปี และให้อบรม ‘หลักสูตรวิชาชีพ’ อย่างน้อย 2 หลักสูตร
เมื่อถูกคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตาผ่านไปเกือบ 1 เดือนแล้ว ตั้งแต่ 18 ต.ค. 2566 ภูมิยังไม่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพ ทำให้เขาตัดสินใจ ‘อดอาหารประท้วง’ นาน 6 วัน เนื่องจากบ้านเมตตายังไม่สามารถจัดการอบรมให้เขาได้ และต้องรอเวลาระยะหนึ่ง โดยภูมิคิดว่าหากเขาได้รับการฝึกอบรมตามที่ศาลสั่งสำเร็จ เขาอาจจะมีโอกาสร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ และไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวจนครบ 1 ปี
“ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่ทำงานกับกรณีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในคดีอาญาต่าง ๆ มากว่า 20 ปี ได้ให้ความเห็นกรณีของภูมิไว้ว่า กระบวนการยุติธรรมและการมีคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่สั่งให้ภูมิต้องฝึกวิชาชีพนั้นมีปัญหาอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่
- สถานแรกรับฯ ของสถานพินิจฯ อย่างบ้านเมตตานั้น ‘ไม่ใช่’ สถานที่เหมาะสมสำหรับการฝึกอาชีพตามคำสั่งของศาล เนื่องจากตามโครงสร้างแล้ว สถานแรกรับเป็นสถานที่รองรับเด็กและเยาวชนที่ศาลยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จึงไม่ได้มีทรัพยากรและความพร้อมที่จะให้การฝึกอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งมีทรัพยากรและโครงสร้างรองรับการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนมากกว่าสถานแรกรับฯ ขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขรองรับเฉพาะเด็กและเยาวชนที่คดีมี ‘คำพิพากษาถึงที่สุด’ เท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับคดีความของภูมิ
- ข้อสรุปสุดท้าย คือ ยังไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมกับในรองรับแนวทางที่ศาลสั่งให้ควบคุมตัวตามมาตรา 132 วรรคสอง
กรณีของภูมิจึงกลายเป็นโจทย์คำถามสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมของคดีเด็กและเยาวชนที่ต้องกลับไปพิจารณาถึงความเป็นจริงและประสิทธิภาพในการมีคำสั่งตามมาตราดังกล่าวอีกครั้ง
ป้ามลได้ความเห็นส่วนหนึ่งไว้ว่า “สถานพินิจฯ หรือสถานแรกรับ มันไม่ใช่ที่ฝึกอาชีพฯ แต่เป็นสถานที่พักตัวชั่วคราว ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดูแลเด็กระยะยาว อาจจะมีให้ทำกิจกรรมวาดรูป ระบายสี ทดสอบ สัมภาษณ์พูดคุย แต่จะบอกให้ไปเรียนอาชีพนั่นนี่ มันไม่มี ในเชิงบุคลากร ก็จะมีแค่คุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ก็วนแค่นั้น”
สำหรับป้ามล เธอเห็นว่าสิ่งที่สำคัญนั้นไม่ใช่การฝึกอาชีพ แต่เป็นสร้างการเรียนรู้วิชาชีวิต และความคิดที่ดี เพื่อให้เยาวชนกลับออกไปใช้ชีวิตอย่างดี ซึ่งนั่นหมายถึงกระบวนกล่อมเกลาและฟื้นฟูพวกเขาจะต้องมีประสิทธิภาพและเหมาะสมด้วยเช่นกัน
อย่างก็ตาม ปัจจุบันภูมิได้ฝึกวิชาชีพแล้ว 1 หลักสูตร ด้านการทำกาแฟ และเขาวางแผนว่าจะฝึกอาชีพต่อในหลักสูตรตัดทรงผมสไตล์วินเทจ ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกหลักสูตรตัดผมเบื้องต้นก่อนจึงจะเรียนได้
ด้านความคืบหน้าทางคดีความและความหวังในเกี่ยวกับการได้ปล่อยตัวนั้น ล่าสุดที่ปรึกษากฎหมายได้ขออนุญาตอุทธรณ์คำสั่งของศาลที่ให้อยู่สถานพินิจเพื่อฝึกอบรมนาน 1 ปี ซึ่งอธิบดีศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งได้ คาดว่าจะมีคำสั่งในเร็ววันนี้
ส่วน “ภัทรชัย” เยาวชนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตาอีกคนหนึ่งนั้น ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เช่นเดียวกัน จากกรณีถูกฟ้องว่าร่วมวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางด่วนดินแดง ระหว่างชุมนุม #ม็อบ12กันยา2564 โดยขณะเกิดเหตุเขามีอายุ 14 ปี เศษเท่านั้น
คดีนี้ ที่ปรึกษากฎหมายทราบข้อมูลในภายหลังว่าเยาวชนให้การรับสารภาพ และศาลเยาวชนฯ สั่งให้เข้ามาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรค 2 โดยให้ส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2566 ฉะนั้นคาดว่าภัทรชัยจะได้รับการปล่อยตัวประมาณช่วงกลางเดือน มี.ค. 2567 ที่จะถึงนี้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำความเข้าใจมาตรา 132 วรรค 2 ของศาลเยาวชนฯ และอ่านความเห็นของป้ามล
“ภูมิ หัวลำโพง” จากเด็กกู้ภัย สู่เยาวชนไทยที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง
เด็กชายอายุ 14 ปี ถูกจับกุมแจ้ง ม.112 เหตุกล่าวหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติดินแดง