ตร.ปอท.แจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มเติม กรณีเพจ “คนกลมคนเหลี่ยม” โพสต์การ์ตูน 2 ภาพ แม้ตีความเกี่ยวกับ ร.9 จากที่เคยแจ้งเพียง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

8 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)  “ตั้ม” (สงวนชื่อสกุล) นักวาดการ์ตูน วัย 46 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” และได้โพสต์รูปภาพการ์ตูนที่ถูกตีความว่าพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ จำนวน 4 โพสต์

คดีนี้มี “ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์” สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาเอาไว้ และตั้มได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 

ในครั้งแรก พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อโพสต์ของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวจำนวน 2 โพสต์ ที่ตีความว่าพาดพิงถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบันด้วย และแจ้งข้อหาเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต่อโพสต์อีก 2 โพสต์ที่ตีความว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ที่เป็นอดีตพระมหากษัตริย์

ต่อมาตั้มได้รับหมายเรียกจากตำรวจ บก.ปอท. ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ และพบว่าตำรวจได้แจ้งข้อหาเพิ่มตามมาตรา 112 ต่อภาพในทุกโพสต์

.

แจ้ง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ต่อทั้งโพสต์ 4 ข้อความ รวมโพสต์ที่ตีความว่าเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9

เวลา 10.00 น. ตั้มพร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รองสารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ตั้ม

ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุซ้ำอีกครั้งถึงการที่ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมคนเหลี่ยม” อันสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ตนเห็นเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ปรากฏข้อความและภาพการ์ตูนทำนองพาดพิงถึงกษัตริย์ ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นจำนวนทั้งหมด 4 ข้อความ

ข้อความแรก โพสต์เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เป็นภาพการ์ตูนล้อคล้ายว่าเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ เหมือนตระกูลชินวัตร ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัว

ข้อความที่สอง โพสต์เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เป็นภาพการ์ตูนล้อคล้ายรัชกาลที่ 9 ถกกับรัชกาลที่ 8 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าภาพดังกล่าวเป็นการใส่ความว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง

ข้อความที่สาม โพสต์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 การ์ตูนล้อคล้ายสื่อถึงกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า ภาพดังกล่าวต้องการเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง 

ข้อความที่สี่ โพสต์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 การ์ตูนคล้ายล้อเลียนเสียดสีรัชกาลที่ 10 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการด้อยค่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติสักการะ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาในแต่ละโพสต์ใหม่ โดยกล่าวหาว่าในทุกโพสต์เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยรวมโพสต์ที่บรรยายว่าเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 ด้วย และทุกโพสต์ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ทั้งมาตรา 14 (1) และ (3) 

ตั้มได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวตั้มไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทำให้ปัจจุบันมีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 287 คดี 

อ่าน 10 ข้อสังเกตในรอบ 3 ปี หลังการกลับมาของ ม.112

X