ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง คดีติดป้ายวิจารณ์อธิการ มรภ.บุรีรัมย์ หลัง นศ.-นักกิจกรรม ต่อสู้คดีนานกว่า 2 ปี ยืนยันไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์-ไม่ได้โพสต์

วันที่ 14 พ.ย. 2566 “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรม และอัมรา จานรัมย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เดินทางไปยังศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องทั้งสองและนักศึกษาอีก 3 คน ในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” โดยมีมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นโจทก์ร่วม หลังพบป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ช่วงต้นปี 2564 

เมื่อเดือนกันยายน 2565 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ก่อนที่มาลินีในฐานะโจทก์ร่วมจะให้ทนายความยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 เวลา 09.45 น. คัคนางค์ เอมราช ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ออกนั่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลย ทนายจำเลย และตัวแทนโจทก์ร่วมฟังเพียงสั้น ๆ ว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานและวินิจฉัยคล้ายคลึงกัน ก่อนจะให้คู่ความเซ็นเอกสาร จึงเสร็จการพิจารณาความในวันนี้ 

สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยชัยวัฒน์ วิสานนท์, อุเทน วิภาณุรัตน์ และอนุภาพ สุวรรณโชติ เป็นองค์คณะผู้พิพากษา สรุปใจความได้ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมคงมีเพียง จิรเดช ประเสริฐศรี เป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า เป็นผู้ชี้ยืนยันบุคคลในภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดให้แก่ตำรวจชุดสืบสวนและยืนยันว่า อัมรา คือ บุคคลในภาพถ่ายตามเอกสารนั้น โดยจิรเดชไม่รู้จักอัมรามาก่อน แต่ชี้ภาพของอัมราจากภาพกล้องวงจรปิดเปรียบเทียบกับลักษณะของบุคคลที่ปรากฏในรูปภาพตามข้อมูลทะเบียนราษฎรของอัมรา ที่ตำรวจนำมาให้ดูเท่านั้น 

ซึ่งเมื่อพิจารณาบุคคลในภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดที่จิรเดชเขียนชื่ออัมราไว้นั้น บุคคลในภาพดังกล่าวสวมหน้ากากอนามัยอยู่ ทำให้ไม่สามารถเห็นใบหน้าได้ชัดเจน และไม่ปรากฏว่ามีบุคลิกหรือลักษณะเด่นชัดอย่างไรที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเป็นอัมรา ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์มีนักศึกษาเป็นจำนวนมากและผู้คนพลุกพล่าน จิรเดชไม่เคยเป็นอาจารย์สอนอัมรามาก่อน ย่อมเป็นการยากที่บุคคลที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้ากันมาก่อนจะจำบุคคลที่สวมหน้ากากอนามัยได้ กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจิรเดชจะจดจำและชี้ยืนยันอัมราได้ไม่ผิดตัว 

พยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากอื่นก็ไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ หรือยืนยันว่าบุคคลในภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดมีภาพของอัมราร่วมอยู่ด้วย ทั้งอัมราให้การปฏิเสธมาโดยตลอด และมีเอกสารมาแสดงว่า จำเลยสอบกลางภาคอยู่ในวันเกิดเหตุช่วงเวลาบ่าย ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอรับฟังลงโทษอัมราได้ 

ส่วนจตุพร แม้จำเลยรับว่าเป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง อีกทั้งจตุพรยังเบิกความว่า เพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีแอดมินเพจทั้งหมด 8 คน ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จตุพรมีส่วนร่วมในการนำป้ายไปปิดในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ด้วย และจตุพรเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีเพียงจตุพรคนเดียวที่เป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก อันจะชี้ให้เห็นว่าจะต้องเป็นจตุพรเท่านั้นที่เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว 

ส่วนเหตุที่ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เย็งประโคน ตำรวจชุดสืบสวนเชื่อว่าจตุพรเป็นผู้โพสต์ข้อความ เนื่องจากพบว่าจตุพรเคยโพสต์ข้อความและคลิปวีดีโอแสดงตัวเป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก แต่ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า ไม่ทราบว่าเพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีแอดมินเพจกี่คน และแอดมินเพจคนใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แม้ขณะเกิดเหตุจตุพรเป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก แต่เมื่อเพจอาจมีแอดมินได้หลายคนเช่นนี้ ลำพังการที่ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ใช้วิธีส่งข้อความไปขอซื้อเสื้อจากเพจดังกล่าวแล้วพบว่าแอดมินเพจให้โอนเงินชำระค่าเสื้อโดยใช้ชื่อบัญชีของจตุพร จะรับฟังเป็นยุติว่าจตุพรเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมไม่ได้ 

ทั้งจตุพรก็ปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จตุพรร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดี อัมราที่ยืนยันปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้ทำผิดตามฟ้องมาตลอดกว่า 2 ปีที่ถูกดำเนินคดี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 อัมรากล่าวสั้น ๆ ว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่อยู่ชั้นปี 3 จนตอนนี้ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว เหลือเพียงฝึกสอนอีก 1 เทอม หลังจบการศึกษาคงจะมุ่งมั่นในการสอบเข้ารับราชการครูตามที่ตั้งใจต่อไป  

ย้อนไป คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีอีก 3 ราย เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้แก่ กฤตพรต สุพรรณนอก, สุนิชา บัวแก้ว และสิรีธร สีหานาม โดยระหว่างชั้นพิจารณาคดีทั้งสาม ตัดสินใจเข้าขอโทษอธิการบดี หลังทนายโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลว่า หากจําเลยยอมขอโทษ โจทก์ร่วมจะถอนฟ้อง 

สำหรับคดีนี้เหตุมาจาก มีการพบป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อเดือนมกราคม 2564 ข้อความที่ปรากฏในป้าย เช่น “ค่าเทอม นศ.ก็โกง”, “ม.สารขัณฑ์อันดับ 1 แห่งภาคอีสาน?”, “มาลิณีออกไป” 

หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีเคยเปิดเผยว่า เรื่องที่พวกเขาต้องการอธิการบดีที่โปร่งใสสั่งสมมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ที่เคยทวงถามเรื่องการคืนค่าเทอมนักศึกษาปี 1 และอยากให้มหาวิทยาลัยออกประกาศหรือชี้แจงเรื่องที่เคยถามเกี่ยวกับเงินค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่เขาเสียไปตั้งแต่ปี 2562 นั้นถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง 

X