วันที่ 14 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีที่ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรม และอัมรา จานรัมย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ถูกมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา”
สำหรับเหตุในคดีนี้ย้อนไปช่วงเดือนมกราคม 2564 มีการพบป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ข้อความที่ปรากฏในป้าย เช่น “ค่าเทอม นศ.ก็โกง”, “ม.สารขัณฑ์อันดับ 1 แห่งภาคอีสาน?”, “มาลิณีออกไป” หลังเหตุการณ์มีผู้ถูกดำเนินคดี 5 ราย ได้แก่ 4 นักศึกษาคณะครุศาสตร์อย่าง กฤตพรต สุพรรณนอก, สุนิชา บัวแก้ว, สิรีธร สีหานาม, อัมรา และอีก 1 นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก อย่างจตุพร
โดยระหว่างต่อสู้คดีทั้งกฤตพรต, สุนิชา และสิรีธร ตัดสินใจเข้าขอโทษอธิการบดี หลัง เสาวรส ผัดโพธิ์ ทนายโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลว่า หากจําเลยยอมขอโทษ โจทก์ร่วมจะถอนฟ้อง ขณะที่จตุพรและอัมรายืนยันให้การปฏิเสธและขอสู้คดีต่อไป
กระทั่งเดือนกันยายน 2565 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษายกฟ้องจตุพรและอัมรา คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุไม่สามารถระบุได้ว่า คนที่อยู่ในภาพคืออัมรา โจทก์มีเพียงจิรเดช ประเสริฐศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เบิกความยืนยันว่า บุคคลในภาพดังกล่าวคืออัมรา แต่จิรเดชไม่เคยเป็นอาจารย์ในวิชาที่อัมราเรียน ประกอบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์มีจำนวนมาก จึงฟังไม่ได้ว่า จิรเดชรู้จักคุ้นเคยกับอัมราจนสามารถยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพคืออัมรา อีกทั้งพยานจำเลยทั้งสุนิชาและสิรีธรเบิกความยืนยันว่า บุคคลในภาพดังกล่าวไม่ใช่อัมรา แต่เป็นสุนิชา และอัมราเองก็ให้การปฏิเสธมาตลอด จึงพิพากษายกฟ้อง
ส่วนของจตุพร โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า ใครเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องในเพจบุรีรัมย์ปลดแอก ประกอบกับแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีหลายคน และจตุพรให้การปฏิเสธมาโดยตลอด เมื่อพยานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ก่อนที่วันที่ 1 มี.ค. 2566 มาลินี จุโฑปะมา โจทก์ร่วม โดยสุรกานต์ จันตั้งอัด ทนายโจทก์ร่วม จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3
.
อธิการฯ อ้าง ก่อนแจ้งความมีอาจารย์คณะครุศาสตร์ตรวจสอบยืนยันตัวอมราแล้ว – ไม่ปรากฏคนอื่นเป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมอ้างถึงคำเบิกความตอบทนายจำเลยของพยานโจทก์ปาก จิรเดช ประเสริฐศรี และคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เย็งประโคน ว่าสอดคล้องกัน และแสดงให้เห็นว่า หลังจากเกิดเหตุได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์แล้วพบในเบื้องต้นว่า หลังจากก่อเหตุกลุ่มผู้ที่นําป้ายผ้ามาติดได้ใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่ไปที่คณะครุศาสตร์ จึงทําให้ทราบว่าเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์
และก่อนที่จิรเดชจะชี้ยืนยันภาพถ่ายของอัมรา จําเลยที่ 4 ก็ได้ให้อาจารย์คณะครุศาสตร์หลายคนช่วยกันตรวจสอบ แม้ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จะมีนักศึกษาเป็นจํานวนมากและบุคคลในภาพสวมหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าไว้ก็ตาม แต่ผู้ที่ร่วมตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลนั้นเป็นอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ที่เคยพบเห็นหรือเป็นอาจารย์ของนักศึกษาทั้งสี่ที่เป็นจําเลยในคดีนี้ และหลังเกิดเหตุจําเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยอมรับว่าได้เป็นผู้นําป้ายผ้ามาติดในบริเวณที่เกิดเหตุจริง คําเบิกความของพยานโจทก์ปากจิรเดชและ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทําความผิดในคดีนี้
ในส่วนของจตุพรนั้น โจทก์ร่วมอ้างถึงรายงานการสอบสวน ซึ่งมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กเพจ “บุรีรัมย์ปลดแอก” อัพโหลดภาพวีดีโอไลฟ์สดเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 ปรากฏภาพใบหน้าแอดมิน พร้อมข้อความว่า “พูดคุยกับแอดมินนิวส์ จตุพร แซ่อึง” ทั้งมีการตรวจสอบข้อมูลโดยการสั่งซื้อสินค้าของเพจ พบว่าเพจดังกล่าวระบุให้โอนเงินค่าสินค้าไปที่บัญชีธนาคารชื่อ จตุพร แซ่อึง และเมื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรพบว่าแอดมินและจตุพรมีใบหน้าตรงกัน จึงสามารถยืนยันได้ว่า แอดมินเพจ “บุรีรัมย์ปลดแอก” คือ จตุพร จำเลยที่ 3 จริง
นอกจากนี้ โจทก์ร่วมยังอ้างถึงคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก เสาวรส ผัดโพธิ์ ที่ระบุว่า เท่าที่ทราบมีเพียงจําเลยที่ 3 เท่านั้นที่แสดงตัวเป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอก โดยลงภาพของจําเลยที่ 3 เพียงคนเดียว มิได้ลงร่วมกับบุคคลอื่นที่ทําให้เข้าใจว่าอาจมีบุคคลอื่นเป็นแอดมินเพจด้วย
โจทก์ร่วมระบุว่า การที่จําเลยที่ 3 นําสืบโดยกล่าวอ้างแต่เพียงลอยๆ และไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีจำนวนมากถึง 8 คน โดยไม่ได้นำเสนอรายละเอียดต่อศาลว่าผู้ใดเป็นแอดมินบ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยที่ 3 เป็นแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอกที่โพสต์ข้อความและภาพถ่ายหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในคดีนี้
ก่อนคำอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับเป็นลงโทษจตุพรและอัมรา
.
เพื่อนยืนยัน วันเกิดเหตุ อัมราอยู่ในห้องสอบ- ไม่ได้ร่วมติดป้าย
วันที่ 5 ก.ค. 2566 ทนายจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยืนยันว่า ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้นชอบแล้วและขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระบุเหตุผลว่า
ในส่วนของอัมรา จานรัมย์ ทนายจำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียง จิรเดช ประเสริฐศรี เพียงผู้เดียวที่ยืนยันว่า อัมราร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง โดยพยานเอกสารที่ระบุชื่ออัมรา และคำเบิกความของ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เย็งประโคน ล้วนเป็นพยานบอกเล่ามาจากจิรเดชอีกทอดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคำเบิกความของจิรเดชไม่มีความน่าเชื่อถือ ปราศจากพยานหลักฐาน ด้วยเหตุที่จิรเดชเบิกความตอบโจทก์ถามว่า ตนไม่รู้จักนักศึกษาที่ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุจิรเดชไม่ได้รู้จักหรือเคยพบเห็นอัมรามาก่อน อาศัยเพียงภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดซึ่งมีลักษณะไม่ชัดเจน ประกอบกับบุคคลในภาพสวมใส่หน้ากากอนามัย จึงไม่น่าจะสามารถดูและยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพเป็นใคร แต่จิรเดชกลับกล้ายืนยันว่าบุคคลในภาพคืออัมราในทันที โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดแก่อัมรา ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยของตน คำเบิกความของจิรเดชจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้คำเบิกความพยานปากอื่นของ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ที่ได้รับข้อเท็จจริงมาจากจิรเดชไม่น่าเชื่อถือตามไปด้วย
ส่วนที่โจทก์ร่วมได้กล่าวอ้างเพิ่มเติมว่า ก่อนมีการระบุตัวจำเลยในคดีนี้มีการตรวจสอบกันมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสอบสวนหรือนำตัวอาจารย์คนอื่น นอกจากจิรเดชที่ยืนยันว่าบุคคลในภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวคืออัมรามาเบิกความเป็นพยาน
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในส่วนนี้เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐาน ไม่ควรนำมารับฟังเพื่อสนับสนุนว่าบุคคลในภาพคืออัมรา
อีกทั้งอัมราให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนโดยละเอียดแล้วว่า ในวันที่เกิดเหตุประมาณ 12.10 – 15.00 น. อัมราอยู่ที่อาคาร 19 ชั้น 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อเตรียมตัวสอบวิชาภาษาอังกฤษวิชาการ 1 โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนเบิกความเป็นพยานยืนยัน ประกอบกับสุนิชาและสิรีธรเบิกความยืนยันว่า เป็นผู้นำป้ายข้อความไปติดที่ป้ายของมหาวิทยาลัย โดยอัมราไม่ได้ร่วมด้วย และบุคคลที่ถูกเขียนชื่อระบุว่า “อัมรา จานรัมย์” ในภาพหลักฐาน คือสุนิชา ไม่ใช่อัมรา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพสุนิชากับภาพที่ถูกระบุว่าเป็นอัมรา พบว่าแต่งกายใกล้เคียงกัน ข้อเท็จจริงจึงควรรับฟังได้ว่าบุคคลในภาพถ่ายที่ถูกระบุว่าเป็นอัมรานั้น แท้จริงแล้วคือสุนิชา
.
จำเลยแย้ง ระบุไม่ได้ ใครเป็นแอดมิน – ผู้โพสต์ข้อมูลลงเพจบุรีรัมย์ปลดแอก
ในส่วนของจตุพร จำเลยให้การยอมรับว่าเป็นแอดมินของเฟซบุ๊กเพจบุรีรัมย์ปลดแอกในขณะเกิดเหตุ แต่ไม่ได้เป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความตามฟ้อง และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ เนื่องจากเพจดังกล่าวมีแอดมินทั้งหมด 8 คน แต่ละคนสามารถโพสต์ข้อความหรือลงข้อมูลในเพจได้ทุกคนโดยไม่ต้องขอความเห็นจากแอดมินคนอื่น
ส่วนที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า ในเพจนั้นมีเพียงภาพของจตุพรเพียงคนเดียว ไม่ได้ลงร่วมกับบุคคลอื่นที่ทำให้เข้าใจว่าอาจมีบุคคลอื่นเป็นแอดมินเพจด้วย นั้นไม่เป็นความจริง เพราะเพจบุรีรัมย์ปลดแอกปรากฏภาพถ่ายของแอดมินเพจคนอื่นตามพยานเอกสารที่จตุพรบันทึกไว้และอ้างส่งต่อศาล
อีกทั้ง พยานโจทก์ปาก ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าเพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีแอดมินเพจกี่คนและแอดมินคนใดเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ซึ่งหมายความว่า ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นแอดมินเพจบ้าง และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว