“แม่หวังว่าศาลจะยุติธรรม” ความหวังของแม่ ‘ปุญญพัฒน์’ เมื่อลูกชายที่เป็นผู้ป่วยพัฒนาการช้า ต้องถูกดำเนินคดี ม.112

ในฐานะแม่คนหนึ่ง คำกล่าวที่ว่า “ลูกของแม่เป็นเด็กพิเศษ” คงเป็นคำกล่าวที่ทำให้คนเป็นแม่รู้สึกทุกข์ใจ กระอักกระอ่วน สับสน และไม่อยากที่จะยอมรับความจริง แต่ไม่ว่าลูกจะเป็นเช่นไร หน้าที่ของคนเป็นแม่ก็คือการเลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด เช่นเดียวกับแม่ของ “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยสมาธิสั้นและพัฒนาการช้า วัย 31 ปี หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 4 ปี 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

หลังจากที่ปุญญพัฒน์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ที่ สภ.บางแก้ว กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” โดยข้อความกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และการพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ชีวิตของเขาก็ต้องวนเวียนอยู่กับการขึ้นศาล โดยมี ‘แม่’ คอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด 

ไม่ว่าจะเป็นการขับรถรับส่งเขาจากจังหวัดกำแพงเพชรมายังศาลจังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ที่เขาถูกกล่าวหา การพาเขาเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงบอกเล่าอาการของเขาให้คนรอบข้างฟัง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงความคิดและพฤติกรรมที่ “พิเศษ” กว่าคนอื่นของลูกชาย

ทั้งนี้ ก่อนที่ปุญญพัฒน์จะเดินหน้าฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 นี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนพูดคุยกับ “แม่” ของเขา ถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวและการใช้ชีวิตของปุญญพัฒน์หลังถูกดำเนินคดี รวมถึงลูกชายคนนี้เป็นเช่นไรในสายตาของแม่ 

(หมายเหตุ ต่อมาศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปวันที่ 30 ม.ค. 2567)

.

จุดเริ่มต้นของ ‘ความพิเศษ’ 

“น้องเป็นมาตั้งแต่เกิดแล้วค่ะ”

แม่ของปุญญพัฒน์ในวัย 57 ปี ประกอบอาชีพเปิดร้านขายของชำ ได้บอกเล่าถึงปุญญพัฒน์ เกี่ยวกับอาการพัฒนาการช้าของเขาว่าเป็นมาอย่างไร

“ตอนนั้นแม่กำลังจะคลอด แล้วสะดือพันรอบคอน้อง คลอดออกมาไม่ได้เลยต้องผ่าฉุกเฉิน ในช่วงที่สะดือพันคอ น้องขาดออกซิเจนไปประมาณ 1-2 นาที พอผ่าคลอดฉุกเฉินออกมา หมอก็บอกว่าน้องอาจจะพัฒนาการช้า ช้าทุกอย่าง พูดช้า เดินช้า และจะช้าไปตลอด

“โดยรวม ดูภายนอกเด็กพวกนี้เหมือนปกติ แต่เราจะรู้ได้เมื่ออยู่กับเขา คือเขาจะช้าทุกอย่าง ไม่ว่องไวเหมือนคนปกติ อย่างตอนนี้เขาอายุ 31 แล้ว แต่เขาช่วยเหลือตัวเองได้บ้างบางอย่าง ชีวิตประจำวันเขาปกติทุกอย่าง แต่เขาจะออกไปไหนมาไหนเองไม่ได้ ขับรถเองไม่ได้ เวลาเขาข้ามถนนก็จะเดินตรงไปเลย ไม่ได้มองซ้ายมองขวา ไม่ได้ฉับไวหรือระแวดระวังเหมือนคนทั่วไป แม่ต้องคอยดูแลเขาตลอด”

“ปกติคนเจอปัญหาก็จะแก้ปัญหาฉับไวเฉพาะหน้าได้ แต่เขาเป็นคนตรง ๆ ถ้าใช้เขาทำอันนี้เขาก็จะทำ ถ้าไม่ใช้เขา เขาก็จะยืนมองเฉย ๆ ตอนเอาน้องไปทดสอบความผิดปกติ หมอก็บอกว่า เขาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้เลย” 

“อีกอย่าง คือเขาเป็นคนเชื่อง่าย ทุกวันนี้ดูโฆษณาขายของอะไรที่บอกว่าดี เขาก็สั่งมาหมดเลยเต็มบ้าน ไม่ค่อยมีวิจารณญาณเท่าไหร่ ถ้าเราอยู่กับเขา สัมผัสกับเขา เขาไม่ได้มีความสามารถในการแยกแยะเลย เขาเห็นชอบอะไรก็สั่ง ๆ มาส่งมาที่บ้าน”

“ตอนแรกแม่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แม่ก็ไม่ได้รักษาอะไรเขาเลย จนพอเขาโต ลูกพี่ลูกน้องเป็นคุณหมอ บอกให้ไปหาหมอ แม่ก็พาไปหาที่คลินิก แต่ค่ารักษาแพง ต้องไปรักษาสองอาทิตย์ต่อครั้ง หมดไปครั้งละ 3,500-4,500 บาท แม่คิดว่ามันแพงไป แม่ก็เลยไปหาสามสองเดือนแล้วหยุดเลย ไม่ได้ไปหาอีก แม่คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาไร เพราะเขาอยู่กับแม่ตลอด ไม่ได้คิดว่าจู่ ๆ เขาจะไปก่อคดี”

.

คำให้การของแม่ต่อชั้นศาล ถึงชีวิตประจำวันของ “ปุญญพัฒน์”

ตั้งแต่วันแรกที่เจอปุญญพัฒน์ที่ห้องพิจารณาคดี เมื่อเดือนเมษายน 2565 เขามีลักษณะนิ่งเงียบ ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า และยืนตัวติดกับแม่ของเขาตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่คณะผู้พิพากษาเรียกตัวเขาไปสอบถามถึงเหตุแห่งคดีนี้ที่หน้าบัลลังก์ สายตาของปุญญพัฒน์ยังคงวนเวียนอยู่ที่ร่างของแม่ ซึ่งรออยู่ฝั่งตรงข้ามของเก้าอี้ในห้องพิจารณา 

ปุญญพัฒน์พยายามตอบคำถามผู้พิพากษาอย่างยากลำบาก เขาถามคำตอบคำ ไม่สามารถอธิบายเป็นประโยคที่ยาวเหยียดได้ว่าเขาเป็นใคร และทำไมเขาถึงโพสต์ข้อความไป ระหว่างนั้นปุญญพัฒน์ก็หันหน้ามาหาแม่ตลอด ราวกับต้องการความช่วยเหลือ จนกระทั่งแม่จำเป็นต้องเดินมาที่หน้าบัลลังก์เพื่อช่วยเขาตอบคำถาม

แต่คดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่ได้วิกลจริตถึงขนาดไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่จำเป็นต้องส่งตัวไปพบแพทย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถพูดโต้ตอบและเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตนเองให้ศาลฟังได้ ก่อนทางจำเลยพร้อมครอบครัว จึงได้ตัดสินใจรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

“ศาลชั้นต้นถามแม่ว่า ถ้าน้องเป็นเด็กพิเศษ ทำไมถึงเล่นคอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่ว แม่ก็บอกไปว่าลูกชายแม่เรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจมา 3 ปี”

“เวลาเขาไปเรียนสารพัดช่าง ครูส่วนมากจะเอ็นดูเขา เขาไม่ได้เกเร เขาไปโรงเรียนได้ คุยกับเพื่อนได้ แม่ก็ฝากกับคุณครูว่าน้องเป็นแบบนี้นะ ดังนั้นแค่น้องส่งงานครบ คุณครูก็จะให้ผ่าน แต่วิชายาก ๆ อย่างวิชาบัญชี น้องก็เรียนติด 0 เหมือนกัน เรียนก็ไม่ได้เก่ง ได้เกรด ประมาณ 2.0 คุณครูหลายคนก็ช่วยให้เขาผ่าน”

“แม่อยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมงเลย อยู่บ้านเดียวกัน ไม่ได้ออกนอกบ้าน เว้นแต่แม่ออกไปไหน เขาก็จะออกด้วย บ้านแม่เปิดร้านขายของชำ เขาก็จะคอยช่วยแม่ใส่ของ หยิบของ เติมน้ำมันให้ลูกค้า พอเขาช่วยงานแม่เสร็จ แม่ก็จะเห็นเขาเล่นพวกคอมพิวเตอร์ แต่แม่ไม่ได้ไปดูว่าเขาเล่นอะไร

“น้องไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เรียนแค่ ปวช. คอมพิวเตอร์ น้องอายุจะ 31 แล้ว แต่น้องไม่ได้สมัครงาน เพราะเขาเดินทางไปทำงานด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าต้องไปรับส่งเขา มันก็เป็นภาระแม่ด้วย อันนี้คือเรื่องจริงที่แม่เล่าให้ศาลฟัง

“แม่ก็หวังว่าศาลอุทธรณ์จะเห็นถึงความผิดปกติของน้อง ซึ่งเด็กพิเศษไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งโดยทั่วไปคนธรรมดาอาจจะคิดได้ว่าอันไหนควรไม่ควร แต่เด็กพิเศษจะไม่รับรู้ หมอก็บอกว่าเด็กพวกนี้จะไม่รู้ว่า การที่เขาทำอะไรไปมันจะเกิดปัญหา ความยับยั้งชั่งใจเขาไม่มีเหมือนคนปกติ”

“แม่ก็ภาวนาว่าศาลอุทธรณ์จะรับรู้ได้และมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือไม่ก็รอลงอาญา”

.

การดูแลของแม่ที่เปลี่ยนไปหลังถูกดำเนินคดี 

“ตอนรู้ว่าน้องโดนคดี แม่รู้สึกตกใจ ไม่คิดว่าน้องจะเข้าไปคอมเมนต์ พอแม่ถามเขาว่าทำไปทำไม เขาก็บอกว่า มีคนคอมเมนต์เยอะแยะมากมาย เขาน่าจะคอมเมนต์ได้ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องโดนคดี เขาไม่ได้รู้ว่าปัญหาข้างหน้าจะเกิดอะไร เหมือนเวลาข้ามถนน ไม่ได้มองซ้ายมองขวาเหมือนเรา คิดจะข้ามก็ข้ามไปเลย เด็กพวกนี้จะเป็นลักษณะแบบนี้ ทุกวันนี้แม่ต้องพาเข้าไปรักษา หลังเกิดเรื่อง

“หมอรักษาด้วยการให้กินยา ปรับให้ยาเขา เขาทานยาจนน้ำหนักขึ้นมา จนหมอต้องรีบลดยา ยาจะช่วยควบคุมอารมณ์เขา ให้เขามีสมาธิดีขึ้น ถ้าไม่ทานยาเขาจะอารมณ์ขึ้นง่าย หมอบอกอาจจะเป็นเพราะเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก่อนหน้านี้ไม่เป็น แต่พอเค้าโตแล้ว มันเหมือนวัยรุ่นที่ฮอร์โมนเปลี่ยน แต่ตัวเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องใช้ยาควบคุมเขา”

หลังจากปุญญพัฒน์ถูกดำเนินคดี แม่เล่าให้เราฟังว่าต้องดูแลน้องเข้มงวดกว่าเดิมมาก รวมถึงควบคุมสื่อต่าง ๆ ที่เขาเล่นตลอดเวลา 

“แม่ถามเขาว่ายังเข้าไปดู (กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส) อยู่ไหม ยังพิมพ์อยู่ไหม หลัง ๆ แม่ให้เขาดูละครผ่านยูทูปแทน

“แม่ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจไหมในสิ่งที่แม่พูด แต่แม่ก็บอกเขาแล้ว แม่ช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ ถ้าศาลเขาไม่รับรู้ว่าลูกเป็นยังไง เกิดศาลสั่งขังคุก ลูกก็จำเป็นต้องถูกขังตามกฎหมาย” 

.

จากกำแพงเพชรถึงสมุทรปราการ ภาระของการถูกดำเนินคดี 

หมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฉบับแรก ถูกส่งตรงมาจากสมุทรปราการถึงหาดใหญ่ หลังจากที่แม่ของปุญญพัฒน์ทราบว่ามีหมายมาส่งถึงบ้าน เธอก็รีบวิ่งเต้นจัดการทันที 

“ตอนนั้นแม่อาศัยอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรกับลูกชาย จดหมายรับทราบข้อกล่าวหาของน้องถูกส่งไปที่หาดใหญ่ แม่เลยโทรไปที่โรงพักหาดใหญ่ แม่เป็นคนดำเนินการทุกอย่าง บอกว่าน้องไม่ได้อยู่บ้านนั้น อยู่กำแพงเพชร บอกจะพาน้องไปหาเอง และแม่ก็พาน้องไปเลย

“ตอนรับทราบข้อกล่าวหา แม่เป็นคนจัดการทุกอย่าง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้แม่เข้าไปในห้องสอบสวนด้วย แต่พอคุยกับน้องเสร็จ เขาบอกให้แม่มาช่วยคุยด้วยหน่อย เหมือนน้องตอบคำถามไม่รู้เรื่อง สรุปก็คือคุยกับแม่แทนเลย และแม่ก็บอกตั้งแต่ชั้นสอบสวนเลยว่าน้องเป็นเด็กพัฒนาการช้า

“ใครที่เจอน้องแรก ๆ จะไม่รู้นะ แต่ถ้าคุยกับน้องสักครึ่งชั่วโมงก็จะเริ่มรู้แล้ว ตอนแรกก็ให้คุยกับน้อง และต่อมาก็คุยกับแม่อย่างเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่า ถ้ารู้ตั้งแต่แรกก็คงไม่ออกหมายเรียก แต่ในเมื่อมันเป็นคดีแล้วเขาก็ต้องทำไปตามคดี แม้แต่คนที่แจ้งความ (ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล) เจอน้องที่ศาล ศิวพันธุ์เขาก็ขอโทษ เขาไม่รู้ว่าน้องเป็นเด็กพิเศษ เขาบอกว่าเขาไม่น่าทำเลย เขาไม่รู้ว่าน้องเป็น

“ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายแม่ต้องไปศาลทุกเดือนเลย แม่ไม่แน่ใจว่าเสียไปเท่าไหร่บ้าง แต่แม่ต้องออกจากกำแพงเพชรตั้งแต่ตีสอง มาถึงสมุทรปราการเจ็ดโมงเช้า รอในรถถึงเก้าโมงเพื่อจะรายงานตัว บางครั้งกว่าเจ้าหน้าที่จะปล่อยลูกออกมาก็เย็นแล้ว แม่กลับบ้านเกือบเที่ยงคืนตลอด ซึ่งมันกระทบกับการงานมาก แม่ต้องปิดร้าน เสียรายได้ในแต่ละวัน 

“ตอนแรกมีคนบอกว่าให้น้องมาเอง พ่อแม่ไม่ต้องมา แต่แม่ก็บอกว่าน้องไปเองไม่ได้ โดยสารรถเองไม่ได้ ขับรถเองก็ไม่ได้ จะให้เขาขึ้นรถทัวร์ก็ไม่รู้ไปถูกไหม ไปสมุทรปราการเขาก็ไปไม่ถูก ต้องนั่งรถอะไรต่อเพื่อไปศาล”

หลังจากที่ปุญญพัฒน์ถูกดำเนินคดี แม่เล่าว่าเธอเครียดมาก แต่พยายามคอยระวังไม่ให้เครียดจนเกินไป เพราะแม่ก็ป่วยเป็นมะเร็งอยู่เกือบ 8 ปีแล้ว 

“สภาพจิตใจแม่เครียดมาก แม่เครียดยิ่งกว่าน้องอีก แต่แม่ต้องเก็บอาการ เพราะแม่ไม่ได้บอกคนรอบข้างว่าน้องเขาทำแบบนี้ แม่พาน้องไปหาหมอ หมอบอกต้องรักษาแม่มากกว่าน้องอีก เพราะแม่เป็นมะเร็งด้วย แต่แม่พยายามทำใจ

“แม่มองว่าในเมื่อเกิดปัญหาแล้ว เราต้องแก้ปัญหา สู้กับปัญหา ทุกอย่างมันมีทางออก ในเมื่อเราพูดความจริงแล้วว่าน้องเป็นแบบนี้ แม่มั่นใจมากว่าศาลต้องรับรู้ว่าน้องป่วย แม่ก็เลยเดินหน้าสู้เลย

“ถ้าคำพิพากษาออกมาไม่ดี แม่ก็ทำใจไว้แล้ว หนึ่งเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิด แต่เราก็มองในแง่ดีไว้ก่อน แต่ถ้าเกิดผลออกมาเป็นแง่ร้าย วันที่ 21 นี้ อาจจะประกันตัวได้รอบหนึ่ง (เพื่อฎีกาคำพิพากษาต่อไป) ก็ยื้อเวลาไปอีกหน่อยหนึ่ง แต่แม่มองว่าคนปกติทั่วไปศาลยังรอลงอาญาเลย แล้วเด็กพวกนี้ศาลจะไม่รอลงอาญาให้เขาเหรอ”

.

X