ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน สั่งระงับเผยแพร่ ‘เพลงปฏิรูป’ ชี้เนื้อหาให้คนแสดงความเห็นโดยไม่เคารพกฎหมาย อีกทั้งกระทบความรู้สึก ปชช. ที่เทิดทูนสถาบันฯ

วันที่ 17 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จากกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นชอบตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลงปฎิรูป

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2563 ศิลปินวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ได้เผยแพร่เพลง “ปฏิรูป” ลงบนเว็บไซต์ยูทูป (YouTube) ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาทางการเมือง โจมตีการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยมียอดผู้ชมกว่า 9 ล้านครั้ง ต่อมาในช่วงต้นปี 2564 พบว่าคลิปวิดีโอเพลงดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึง โดยมีข้อความระบุว่า “วิดีโอนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้จากโดเมนในประเทศเนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล”

หลังจากนั้นทางวง R.A.D. ได้ตัดสินใจคัดค้านคำสั่งปิดกั้นการเข้าถึงดังกล่าว โดยพบว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยมีการระบุ URLs ของเพลง “ปฏิรูป” เป็นหนึ่งในสองเนื้อหาที่ขอให้ศาลปิดกั้น จากนั้นในวันเดียวกัน ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลดังกล่าวทั้ง 2 URLs โดยเป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 วง R.A.D. และทนายความ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าว โดยยืนยันว่าคำร้องให้ระงับการแพร่หลายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียว ฝ่ายผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นศิลปินเจ้าของผลงาน ไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง ทั้งคำสั่งศาลยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล โดยคำร้องของฝ่ายผู้ร้อง ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าข้อความใดที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยผู้คัดค้านเองยืนยันว่าเนื้อหาของเพลงไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ในวันเดียวกันกับที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่ง ศาลอาญาได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่เพลง “ปฏิรูป” ดังกล่าว โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องคัดค้านเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งในทันที เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นควรให้โอกาสผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้าน และเข้ามาต่อสู้คดี ในชั้นนี้จึงยังไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามคำร้องคัดค้าน อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนคำร้อง และคำสั่งศาลฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563”

หลังไต่สวน ศาลชั้นต้นสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลงปฏิรูป

หลังจากที่ศาลนัดไต่สวนพยานผู้ร้อง และพยานผู้คัดค้านเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 ก.ค. 2565 โดยมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ตามคำร้องของผู้ยื่นคำร้อง 

กล่าวโดยสรุปว่า เนื้อเพลงเข้าใจได้ว่าเกี่ยวกับความมั่นคง มีบางตอนที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และนายกรัฐมนตรี โดยรวมเนื้อหาทำนองให้พัฒนาปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน บางตอนมีถ้อยคำเปรียบเปรยถึงพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สมควรเผยแพร่ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและบุคคลทั่วไป การแสดงความคิดเห็นใต้คลิปเพลง ยังมีข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่ผู้ยื่นคำร้องนำสืบ

ส่วนที่ผู้คัดค้านนำสืบอ้างว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่เสรีภาพดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ จึงไม่ได้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์คลิปเพลง “ปฏิรูป” ตาม URL ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 20

ผู้คัดค้านอุทธรณ์คดี ชี้เป็นการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ เนื้อเพลงเป็นคำที่ใช้ทั่วไปและสะท้อนประเด็นทางสังคม – การเมือง 

หลังจากมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 “ฮอกกี้” เดชาธร บำรุงเมือง ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยสรุปใจความสำคัญว่า การที่ศาลวินิจฉัยว่าเพลงมีเนื้อหาถ้อยคำที่หยาบคาย แต่ก็มิได้ระบุว่าเป็นคำใด จึงไม่สามารถทราบได้ว่าคำหยาบคายนั้นหมายถึงคำใด แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าเนื้อเพลงมีการใช้คำที่อยู่ในบทสนทนาในชีวิตประจำวันทั่วไป และสะท้อนถึงประเด็นทางสังคมและการเมือง 

อีกทั้งคำพิพากษาที่ว่า “ที่ผู้คัดค้านนำสืบว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นเสรีภาพที่จะทำได้ เสรีภาพที่ผู้คัดค้านเข้าใจต้องไม่ไปกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น โดยเฉพาะต่อบุคคลที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ” ผู้คัดค้านเห็นว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น อีกทั้งวิดีโอเพลงปฏิรูปไม่ได้มีเนื้อหาใด ๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 

ต่อมาศาลอุทธรณ์จึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ต.ค. 2566

ศาลอุทธรณ์เห็นชอบตามศาลชั้นต้นที่สั่งระงับการเผยแพร่เพลงปฏิรูป

วันนี้ (17 ต.ค. 2566) เวลาประมาณ 09.40 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 ทนายความพร้อมด้วย “ฮอกกี้” เดชาธร บำรุงเมือง เดินทางมาฟังคำพิากษา ด้านผู้ร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มาฟังคำพิพากษาด้วยเช่นกัน 

จนกระทั่งเมื่อเวลา 09.55 น. ผู้พิพากษาศาลอาญาได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสรุปได้ว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้นชอบหรือไม่ ตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าเนื้อร้องตามเพลงปฏิรูปเป็นคำปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีการสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงผู้ใด ไม่มีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น 

เห็นว่าวิดีโอเพลงปฏิรูปมีภาพการชุมนุม และการควบคุมชุมนุมของตำรวจ ส่วนเนื้อร้องมีการระบุชื่อ ‘ประยุทธ์’ และ ‘ตู่’ ซึ่งหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเนื้อร้องไม่ได้เจาะจงถึงพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเนื้อร้องทั้งหมดแล้วเห็นได้อย่างเนื้อเพลงที่ว่า เช่น ‘tututu เลียตีนให้ตาย…’ ซึ่งหมายถึงสถานะที่สูงกว่านายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นเจตนาในการปลุกปั่นให้คนที่มีความคิดเกลียดชังประเทศชาติออกมาแสดงความเห็นโดยไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ภาพและเนื้อหากระทบกระเทือนต่อความรู้สึกประชาชนจำนวนมากของประเทศที่เคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำไปสู่ความไม่พอใจ ความแตกแยก การใช้ความรุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อประเทศได้

ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นั้นเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรค 1 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” 

รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรากฎหมายขึ้นไว้โดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ข้อความแทนว่า “มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” 

ผู้ร้องสามารถจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ โดยการยื่นคำร้องซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม และรักษาความสงบให้กับประเทศชาติ 

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วย คำร้องของผู้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น 

ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี ได้แก่ สุพจน์ อินทิวร, อาคม ศรียาภัย และ สมพงษ์ ฐิติสุริยารักษ์

ทั้งนี้ การพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นนั้นมีผลให้วิดีโอเพลงปฏิรูป ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ถูกระงับการเผยแพร่เช่นเดิม 

ด้าน “ฮอกกี้” เดชาธร บำรุงเมือง กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษาว่า ยังต้องการที่จะต้อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับเนื้อความในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อาทิ การวินิจฉัยเนื้อเพลง “tututu เลียตีนให้ตาย…” ว่ามีความหมายถึงพระมหากษัตริย์  ส่วนทนายความได้กล่าวย้ำว่าการที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งปิดคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. อีกครั้ง อ้างเพลงไม่สร้างสรรค์ ใช้คำหยาบคาย และมีการแสดงความเห็นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

ไต่สวนคดีกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องปิดกั้นคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. อ้างเนื้อหาไม่เหมาะสม-คนแห่เมนต์ใต้เพลงพาดพิงถึงกษัตริย์ ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 7 ก.ค.

ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งปิดคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. เหตุไต่สวนกระทรวงดิจิทัลฯ ฝ่ายเดียว

X