วันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) อีกครั้ง จากกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง โดยศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นอีกครั้ง โดยเห็นว่าเนื้อเพลงโดยรวมกล่าวถึงการปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน มีข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ ทนายและทางวง R.A.D. เตรียมพิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงต้นปี 2564 คลิปวิดีโอเพลง “ปฏิรูป” ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การใช้กฎหมายกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย, การโจมตีรัฐบาลกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาเรียกเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม ได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ซึ่งมีข้อความระบุว่า “วิดีโอนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้จากโดเมนในประเทศเนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล”
เมื่อตรวจสอบพบว่า วันที่ 25 พ.ย. 2563 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ URLs คลิปวิดีโอเพลงดังกล่าว หลังไต่สวนผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยผู้ร้องกล่าวหาว่า เพลงดังกล่าวมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ต่อมาวันที่ 23 ก.ย. 2564 “ฮอคกี้ หรือ Hockhacker” เดชาธร บำรุงเมือง ศิลปินวง R.A.D. ได้เข้ายื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลพิจารณาจากฝ่ายผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยที่ผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้ง พร้อมทั้งยืนยันว่าเนื้อหาของเพลงไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด
ในวันดังกล่าว ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว พร้อมนัดไต่สวนคำร้องให้ปิดกั้น URLs เพลง “ปฏิรูป” ตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ อีกครั้ง ภายหลังการไต่สวนถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง ก่อนสามารถไต่สวนเสร็จสิ้นในวันที่ 11 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับคำเบิกความในวันไต่สวนคำร้องโดยสรุปดังนี้
– ฝ่ายพยานตัวแทนผู้ร้องจากกระทรวงดิจิทัลฯ มีพยาน 2 ปากคือ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ผู้ระงับการเผยแพร่คลิป และผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับร้องเรียนว่า เนื้อเพลง “ปฏิรูป” มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ แต่ไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ และภายหลังที่ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับดังกล่าว แต่คลิปเพลงตาม URLs เดิมก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ อ้างว่า ได้แจ้งเรื่องไปยัง YouTube ตามที่ศาลมีคำสั่งแล้ว
สำหรับประเด็นเนื้อเพลง ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า จำไม่ได้ว่าเนื้อเพลงทั้งหมดจะมีคำว่า “กษัตริย์” หรือไม่ และรับว่าในเพลงไม่มีการระบุชื่อของใครโดยเฉพาะ แต่ก็สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าเป็นรัชกาลปัจจุบัน
สำหรับความคิดเห็นใต้คลิปเพลง ที่ได้ยื่นต่อศาลจำนวน 10 ข้อความที่อ้างว่าไม่เหมาะสม แม้ไม่ใช้ข้อความดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 แต่ก็เป็นข้อความที่สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 อย่างไรก็ตามตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ไม่ได้ให้ “นักภาษาศาสตร์” ตรวจสอบดูข้อความดังกล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมของคนทั่วไปที่ได้ไปแสดงความเห็นไว้ใต้คลิปว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
– ส่วนฝ่ายตัวแทนผู้คัดค้านคำร้อง มีพยานปากเดียว คือ “ฮอคกี้” แรปเปอร์วง R.A.D. ซึ่งเป็นผู้ดูแลบัญชีดังกล่าวเพียงคนเดียว เบิกความโดยสรุปว่า ก่อนคลิปเพลงจะถูกระงับการเผยแพร่และปิดกั้นการเข้าถึงนั้น มียอดผู้เข้าชมประมาณ 9 ล้านกว่าครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 10,000 ครั้งขึ้นไป ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถตรวจสอบข้อความทั้งหมดได้ แต่หากได้รับแจ้งว่ามีข้อความไม่เหมาะสม ก็ยินดีจะลบให้ในทันที แต่ในคดีนี้ไม่มีการติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทั้งที่มีช่องทางที่สามารถติดต่อกลุ่ม R.A.D ได้ระบุไว้ในคลิปอย่างชัดเจน
.
.
ศาลสั่งระงับอีกครั้ง! เห็นว่าเพลงหยาบคาย มีการแสดงความเห็นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ พยานหลักฐานฝ่ายผู้คัดค้านยังไม่พอหักล้าง
ห้องพิจารณา 707 ศาลนัดอ่านคำสั่งของหลายคดีพร้อมกัน โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังคำสั่งได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง ทั้งนี้ ขณะที่ศาลอ่านคำสั่งในแต่ละคดี ศาลได้เรียกทนายความ และคู่ความให้ไปยืนฟังคำสั่งที่หน้าบัลลังก์ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงประชาชนที่นั่งอยู่บริเวณที่นั่งอยู่ภายในห้องไม่สามารถได้ยินรายละเอียดใดๆ แม้จะอยู่ภายในห้องพิจารณาขนาดเล็กและคดีทั้งหมดไม่ได้ถูกพิจารณาลับก็ตาม
เวลา 10.05 น. ศาลมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ตามคำร้องของผู้ยื่นคำร้อง โดยสรุประบุว่า เนื้อเพลงเข้าใจได้ว่าเกี่ยวกับความมั่นคง มีบางตอนที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และนายกรัฐมนตรี โดยรวมเนื้อหาทำนองให้พัฒนาปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน บางตอนมีถ้อยคำเปรียบเปรยถึงพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สมควรเผยแพร่ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและบุคคลทั่วไป
การแสดงความคิดเห็นใต้คลิปเพลง ยังมีข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่ผู้ยื่นคำร้องนำสืบ
ส่วนที่ผู้คัดค้านนำสืบอ้างว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่เสรีภาพดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ จึงไม่ได้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง
พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์คลิปเพลง “ปฏิรูป” ตาม URL ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 20
คำสั่งลงนามโดย เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา
.
ทนายกังวลต่อบรรทัดฐานวงการเพลง เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป ด้านศิลปินเจ้าของเพลงเผยผิดหวังต่อคำสั่ง หลังศาลยกประเด็นหยาบคาย แต่มองไม่เห็นสารที่แท้จริง
หลังศาลอ่านคำสั่ง ทนายความได้แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้บัญญัติว่า คำหยาบนั้นกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร และตามคำร้องที่ยื่นขอระงับ โดยอ้างเหตุ “เนื้อเพลง” ไม่เหมาะสม แต่กลับมีคำสั่งที่มีลักษณะตีความหมายจากความคิดเห็นของคน 10 จากกว่า 10,000 ความคิดเห็นทั้งหมด
ทนายความยังระบุอีกว่า คำสั่งที่ออกมานั้นไม่เพียงแต่กระทบต่อศิลปินเจ้าของผลงาน แต่ยังสร้างความตื่นกลัวให้กับการสร้างสรรค์ผลงานต่อวงการเพลงพอสมควร พร้อมเตรียมหารือกับผู้คัดค้านในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับวงการเพลงที่มีลักษณะคล้ายกันกับกลุ่มผู้คัดค้าน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีนี้เมื่อปี 2563-2564 ศาลอาญาไม่มีแผนกที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับการระงับสื่อโดยตรง ทำให้คดีในลักษณะนี้ถูกส่งต่อไปให้ผู้พิพากษาในแผนกคดีค้ามนุษย์พิจารณา และภายหลังที่กลุ่ม R.A.D. เข้ายื่นคำร้องคัดค้านการระงับสื่อของกระทรวงดิจิทัลฯ ศาลได้เปลี่ยนแนวทางการพิจารณาคดีจากเดิมที่ไต่เพียงผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วออกคำสั่งระงับ มาเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ จะต้องแจ้งเจ้าของ URL พร้อมไต่สวนทั้งสองฝ่ายก่อนศาลตัดสิน และการตัดสินในคดีนี้ในปี 2565 ทางศาลอาญาส่งต่อสำนวนให้องค์คณะอื่นที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาในแผนกคดีค้ามนุษย์มีคำสั่งต่อแล้ว
ส่วนด้านเจ้าของผลงานอย่าง “ฮอคกี้” หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม R.A.D. ได้เปิดเผยว่า ตนรู้สึกผิดหวังต่อคำตัดสินของศาล ทั้งยังรู้สึกโกรธที่ถูกมองว่า การใช้วัฒนธรรมการแรปออกมาบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ โดยหยิบประเด็นคำหยาบคายในเพลงมาด้อยค่าแก่นหลักของเพลงที่ได้สื่อสารออกไป
สำหรับประเด็น 2 ถ้อยคำในเนื้อเพลงที่ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ อ้างว่าไม่เหมาะสมและได้ยื่นต่อศาลนั้นศิลปินเจ้าของเพลงได้ระบุว่า มีความบิดเบือนและคลาดเคลื่อนไป กล่าวคือ มีการตัดภาพส่วนหนึ่งในวิดีโอเพลงที่ถ่ายทำในการชุมนุม โดยเห็นฉากหลังเป็นรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมบรรยายภาพด้วยเนื้อเพลง ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากภาพดังกล่าวและเนื้อเพลงอยู่คนละส่วนกัน และถ้อยคำที่เป็นคำด่าอีกคำหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างนั้น ก็ไม่มีอยู่ในเพลงดังกล่าว
อนึ่ง Rap Against Dictatorship (RAD) หรือ ที่รู้จักกันในวงกว้างจากเพลง “ประเทศกูมี” เป็นกลุ่มศิลปินแรปเปอร์ที่ออกมาเป็นเรียกร้องและเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเผด็จการ การเรียกร้องสิทธิสมรสเท่าเทียม หรือเรื่องสิทธิของคนชายขอบที่ถูกปัดตกจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย ในรูปแบบของตัวเองผ่านวัฒนธรรมเสียงเพลงแร็ปและวิถีฮิปฮอป
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งปิดคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. เหตุไต่สวนกระทรวงดิจิทัลฯ ฝ่ายเดียว
.