ไต่สวนคดีกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องปิดกั้นคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. อ้างเนื้อหาไม่เหมาะสม-คนแห่เมนต์ใต้เพลงพาดพิงถึงกษัตริย์ ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 7 ก.ค.

วันที่ 11 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) โดยผู้ร้องอ้างว่าเนื้อเพลงและคอมเมนต์ใต้คลิปเพลงไม่เหมาะสมและพาดพิงสถาบันกษัตริย์จำนวนมาก หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. 

ในคดีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ระงับการเผยแพร่ URLs คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. บนเว็บไซต์ยูทูป เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จากนั้น ศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 25 พ.ย. 2563 ให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ URLs ดังกล่าว โดยเป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ร้องฝ่ายเดียว โดย  “ฮอคกี้ – เดชาธร บำรุงเมือง” ซึ่งเป็นศิลปินวง R.A.D. และเจ้าของบัญชียูทูปไม่เคยรับทราบเลย

กระทั่งในช่วงต้นปี 2564 พบว่าคลิปวิดีโอเพลงดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึง โดยมีข้อความระบุว่า “วิดีโอนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้จากโดเมนในประเทศเนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล” เดชาธรตัวแทนวง R.A.D. และทนายความจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยยืนยันว่าคำร้องให้ระงับการแพร่หลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียว ฝ่ายผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นศิลปินเจ้าของผลงาน ไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง 

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่เพลง “ปฏิรูป” และได้นัดไต่สวนคำร้องให้ปิดกั้น URLs เพลงดังกล่าวตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ อีกครั้ง หลังจากวันนั้น การไต่สวนถูกเลื่อนออกไปหลายครั้งด้วยเหตุสุดวิสัย กระทั่งสามารถไต่สวนจนแล้วเสร็จได้ในวันนี้  

ทั้งนี้ คลิปมิวสิควิดีโอเพลง “ปฏิรูป” ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูป (YouTube) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2563 มีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาทางการเมือง วิจารณ์การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยก่อนถูกปิดกั้นมียอดผู้ชมกว่า 9 ล้านครั้ง  

.

ภาพจากเพจ Rap Against Dictatorship

.

ศาลไต่สวนกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องปิดเพลง “ปฏิรูป” อ้างเนื้อเพลง-คอมเมนต์ใต้คลิปไม่เหมาะสม 

ณ ห้องพิจารณาคดี 707 ตัวแทนผู้ร้องจากกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้คัดค้าน และทนายความมาศาล โดยการไต่สวนครั้งนี้มีพยานเข้าเบิกความทั้งหมด รวม 3 ปาก เป็นพยานผู้ร้อง 2 ปาก ได้แก่ นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ และนางสาวปริญญา ก้อยจะบก พยานผู้คัดค้าน 1 ปาก ได้แก่ นายเดชาธร บำรุงเมือง 

การไต่สวนครั้งนี้ ทั้งพยานผู้ร้องและพยานผู้คัดค้านได้ยื่นเอกสารคำเบิกความต่อศาลแทนการเบิกความทั้งหมด การไต่สวนในวันนี้จึงเหลือเพียงการถามค้าน-ถามติงของผู้ร้องและทนายฝ่ายผู้คัดค้านเท่านั้น

.

พยานผู้ร้องปากที่ 1 ปริญญา ก้อยจะบก (ตัวแทนผู้ร้อง) 

พยานตอบทนายผู้คัดค้านว่า ปัจจุบันพยานรับราชการ อยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ มีหน้าที่ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 

ในคดีนี้พยานได้รับแจ้งว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนสื่อโซเซียลมีเดียล จำนวน 2 URLs ซึ่งได้แก่ คลิปมิวสิควิดีโอเพลง “ปฏิรูป”บนเว็บไซต์ยูทูป และอีกกรณีเป็นข้อความไม่เหมาะสมบนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นของผู้อื่นไม่ใช่ของผู้คัดค้าน จากนั้นพยานได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ระงับการเผยแพร่เนื้อหาทั้ง 2 URLs ดังกล่าว

พยานไม่ใช่ผู้ตรวจสอบเนื้อหาเพลง เป็นเพียงผู้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลระงับการเผยแพร่เนื้อหาเท่านั้น เนื่องจากมิวสิควิดีโอเพลงปฏิรูปมีเนื้อหาเพลงที่ ‘ไม่เหมาะสม’

ในกระบวนการยื่นคำร้อง กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด โดยหลังจากศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้น URLs คลิปเพลงดังกล่าวก็ถูกปิดกั้นเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงคลิปเพลงตาม URLs เดิมได้ โดยพยานอ้างว่าได้แจ้งไปยัง YouTube เพื่อให้ยกเลิกการระงับการเผยแพร่ตามที่ศาลมีคำสั่งแล้ว

พยานไม่รู้จักผู้คัดค้านซึ่งเป็นศิลปินเจ้าของเพลงปฏิรูปนี้ พยานไม่ทราบว่าหน้าเว็บไซต์บัญชียูทูปของผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นบัญชีที่เผยแพร่เพลงปฏิรูปนั้นมีการเขียนอธิบายประวัติศิลปินเจ้าของเพลง รวมถึงช่องทางการติดต่ออื่นๆ เช่น อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทร เป็นต้น

พยานได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องในคดีนี้กับผู้คัดค้านเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ไปดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับผู้คัดค้านอีก และไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารในคดีนี้ทั้งหมด แต่ก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาลได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารทั้งหมดและทำการเปรียบเทียบเนื้อหาเพลงบนเว็บไซต์ YouTube ตาม URLs ที่ได้รับการร้องเรียนแล้ว

จากนั้นทนายผู้คัดค้านได้เปิดคลิปเพลงปฏิรูปเพื่อให้พยานตรวจสอบ 2 ช่วงนาทีด้วยกัน ซึ่งพยานได้กล่าวอ้างว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

ทนายความถามว่าเนื้อเพลงทั้งหมดของเพลงปฏิรูป ไม่มีคำว่า “กษัตริย์” เลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “จำไม่ได้” ทนายถามอีกว่าเนื้อเพลงที่อ้างไม่ได้มีการระบุว่าเป็นชื่อของผู้ใดโดยเฉพาะใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” และตอบเพิ่มเติมว่าแต่ก็สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าเป็นรัชกาลปัจจุบัน

พยานทราบว่าเมื่อมีผู้มารับชมผลงานวิดีโอในแพลตฟอร์มยูทูป เจ้าของบัญชีที่เผยแพร่วิดีโอนั้นก็จะได้รับค่าตอบแทนไปด้วยและพยานเห็นด้วยกับทนายผู้คัดค้านว่า ถ้าวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนยูทูปมียอดผู้ชมจำนวนมากก็จะถูกค้นพบง่ายกว่าวิดีโอที่มียอดเข้าชมน้อย

ขณะพยานดำเนินการยื่นคำร้องในคดีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ไม่ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณชนว่าได้ดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับใครบ้างและเนื้อหาใดบ้าง

พยานรู้จักแอพพลิเคชั่น JOOX แต่ไม่ทราบว่าเพลงปฏิรูปถูกเผยแพร่อยู่ในแอพดังกล่าวด้วย และไม่ทราบว่าเนื้อเพลงบนแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะตรงกันกับเนื้อเพลงที่ถูกเผยแพร่บนยูทูปหรือไม่ อีกทั้งพยานไม่ได้ทำการตรวจสอบความตรงกันของเนื้อหาเพลงที่ถูกเผยแพร่อยู่บนยูทูป กับเพลงที่ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นอื่น สุดท้ายพยานไม่ได้เป็นผู้แกะเนื้อเพลงตามเอกสารที่ได้ส่งศาลไป แต่เป็นเจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นผู้จัดทำ

.

พยานปากที่ 2 สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ (ตัวแทนผู้ร้อง)

พยานตอบทนายผู้คัดค้านว่า พยานรับราชการอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน้าที่กำกับดูแล ให้ข้อมูลแก่ตำรวจ และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม คดีนี้พยานได้รับร้องเรียนว่าเนื้อเพลงมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จึงส่งให้เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น พยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบด้วยตัวเอง 

การจะเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องได้รับการแต่งตั้งในประกาศราชกิจจานุเบกษา การดำเนินการยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อศาลนั้น พยานจะพิจารณาดูจากเนื้อหาเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเนื้อหาดังกล่าว

ขณะพยานดำเนินการขอให้ศาลปิดกั้นเนื้อหา พยานไม่ได้แจ้งให้เจ้าของเนื้อหาทราบเลย ทั้งไม่ทราบว่าเจ้าของเนื้อหาเป็นผู้ใด จนกระทั่งผู้คัดค้านยื่นเพิกถอนคำสั่งต่อศาลนี้

ขณะพยานดำเนินการตรวจสอบเพื่อขอให้ศาลปิดกั้น URLs นั้น ไม่ทราบว่าวิดีโอเพลงปฏิรูปมียอดจำนวนผู้เข้าชมและผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นเท่าใด พยานไม่ได้ตรวจสอบดูทุกความคิดเห็นใต้วิดีโอเพลงปฏิรูป ทนายผู้คัดค้านถามว่า การกระทำตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องดำเนินการโดยระมัดระวังเพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพใช่หรือไม่ พยานตอบเห็นด้วย 

ทนายผู้คัดค้านถามว่า “หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่ URLs วิดีโอเพลงปฏิรูป พยานได้ดำเนินการแจ้งกับผู้ให้บริการเว็บไซต์เพื่อให้กลับมาเผยแพร่วิดีโอเพลงตาม URLs เดิมหรือไม่” ในการตอบครั้งแรกพยานตอบว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” จากนั้นพยานกลับคำให้การใหม่ว่า “ ได้แจ้งทางยูทูปให้กลับมาเผยแพร่แล้ว แต่ในขณะนี้ในประเทศไทยยังเข้าถึง URLs ดังกล่าวไม่ได้ 

พยานทราบว่าเจ้าของผลงานวิดีโอบนเว็บไซต์ยูทูป จะได้รายได้จากยอดเข้าชมวิดีโอ พยานไม่ได้ตรวจสอบว่ามีเพลงปฏิรูปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นอื่นอีกหรือไม่ 

พยานเห็นด้วยว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นใต้คลิปเพลงปฏิรูปนั้นป็นผู้อื่น ไม่ใช่เจ้าของผลงานหรือผู้คัดค้านในคดีนี้ และที่พยานเห็นว่าเป็นเนื้อเพลงที่ไม่เหมาะสมนั้น ไม่ใช่ความเห็นของพยานแต่เพียงคนเดียว แต่พยานได้สอบถามหลายคนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน

พยานไม่ได้ให้ “นักภาษาศาสตร์” ตรวจสอบดูข้อความซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมของคนทั่วไปที่ได้แสดงความเห็นไว้ใต้คลิปเพลงปฏิรูปว่าไม่เหมาะสมอย่างไร ปกติแล้วเมื่อพยานได้รับแจ้งว่ามีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม พยานจะแจ้งเจ้าของเว็บไซต์ให้ลบวิดีโอต้นเรื่อง ไม่ใช่ลบข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็น

พยานบอกว่าตามหนังสือคำเบิกความที่ส่งศาลไปนั้น พยานได้ยกตัวอย่างข้อความที่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทำนองไม่เหมาะสมใต้คลิปเพลงปฏิรูป โดยทั้ง 10 การแสดงความคิดเห็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น แม้จะไม่ได้เป็นข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 แต่ก็เป็นข้อความที่สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า ผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นข้างต้นทั้ง 10 ตัวอย่างที่ยกมาเป็นผู้ใดบ้าง ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จริง พยานจะดำเนินการแจ้งความตามมาตรา 112 โดยตรง

นอกจากคดีนี้พยานไม่ได้ดำเนินคดีอื่กับผู้คัดค้านจากเหตุเพลงปฏิรูปอีก พยานไม่ได้มีการประกาศการระงับการเผยแพร่เนื้อหาตาม URLs ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน พยานอ้างว่าเมื่อเนื้อหาถูกปิดกั้นและเข้าไปยัง URLs นั้นก็จะทราบได้ทันทีจากข้อความที่เจ้าของเว็บไซต์แจ้งไว้ 

.

พยานปากที่ 3 เดชาธร บำรุงเมือง (ผู้คัดค้าน) – ก่อนเพลงถูกปิดกั้นมียอดวิวกว่า 9 ล้าน ชี้ตรวจดูทุกเมนต์ไม่ได้เพราะคนเมนต์เยอะเป็นปกติ ถ้ากระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งคอมเมนต์ไหนไม่เหมาะสมตนยินดีลบให้ แต่ไม่เคยได้รับแจ้งเลย  

เดชาธร บำรุงเมือง เบิกความในฐานะผู้คัดค้านว่า ก่อนที่วิดีโอเพลงปฏิรูปของตนจะถูกระงับการเผยแพร่และปิดกั้นการเข้าถึงนั้น คลิปเพลงมียอดผู้เข้าชมประมาณ 9 ล้านกว่าครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 10,000 ครั้งขึ้นไป ในบัญชีเว็บไซต์ YouTube ของผู้คัดค้านนอกจากจะเผยแพร่วิดีโอเพลงปฏิรูปแล้ว ยังมีคลิปวิดีโออื่นๆอีกประมาณ 15 ชิ้น โดยเพลงที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดคือมิวสิควิดีโอเพลงที่ชื่อ “ประเทศกูมี” มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดประมาณ 100,000,000 ครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 100,000 ครั้ง

ผู้คัดค้านเป็นผู้ดูแลบัญชียูทูปดังกล่าวแต่เพียงคนเดียว หากจะให้ตรวจสอบดูข้อความที่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทั้งหมดก็คงจะทำไม่ได้ แต่หากได้รับแจ้งว่ามีคอมเม้นต์ที่ไม่เหมาะสม ก็ยินดีจะลบให้ในทันที แต่ในคดีนี้ไม่มีการติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด

หลังดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. 

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งปิดคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. เหตุไต่สวนกระทรวงดิจิทัลฯ ฝ่ายเดียว

.

X