21 กรกฎาคม 2564 – ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาในคดีความของ บุญมา (นามแฝง) ช่างคอมพิวเตอร์วัย 51 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา เหตุจากการเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “รับสมัคร นักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทยและสมุนเผด็จการ”
ในคดีนี้ บุญมาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 โดยเขาเป็นหนึ่งใน 9 รายที่ถูกจับในปฏิบัติการ “ทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” นำโดย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในขณะนั้น ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท.
บุญมาเล่าว่า เขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าวให้เดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่ย่านเมืองทองธานี ก่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ตรวจค้นรถ และให้นำไปตรวจค้นยังห้องพัก โดยที่ไม่ได้แสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ
ต่อมา เขาถูกนำตัวต่อไปยัง บก.ปอท. และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาดำเนินการเป็นแอดมินเพจ “รับสมัครนักรบล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทยฯ” แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นเขาได้รับการประกันตัวออกมาโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท
คดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 โดยท่อนหนึ่งในคำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่อัยการไม่ได้ระบุในสำนวนว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยื่นฟ้องแต่เพียงข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยโดยใช้ตำแหน่งของญาติ
อย่างไรก็ตาม ในวันนัดสืบพยานในคดีวันที่ 10 มิถุนายน 2564 บุญมาเลือกที่จะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อเท็จจริง พร้อมทำหนังสือคำให้การยื่นต่อศาล ชี้แจงว่าตนเพียงรับหน้าที่ในการดูแลเพจเฟซบุ๊คของคนรู้จักที่อยู่ต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระผิดกฎหมาย อีกทั้งยังขอให้ศาลลงโทษสถานเบา เนื่องจากจำเลยมีพ่อแม่สูงอายุที่ต้องดูแล
นอกจากนั้น จำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอศาลให้วินิจฉัยข้อกฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา โดยเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “อันมีความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มี “การวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าเป็นความผิด” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) นั้นซ้ำซ้อนกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น
ดังนั้น เมื่อไม่มีการยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หรือไม่ ตามที่ศาลอาญาได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 76/2564 คดีระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ศาลขึ้นอ่านคำพิพากษาในเวลา 10.40 น. โดยบรรยากาศในห้อง มีเจ้าพนักงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมารอควบคุมตัวจำเลย หากศาลตัดสินว่าจำเลยกระทำผิดจริง
ศาลเริ่มกระบวนการด้วยการอ่านฟ้องโดยย่อ ระบุว่า คดีนี้ จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครองฯ” เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และจำเลยเลือกที่จะรับสารภาพ โดยที่จำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาในเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากอัยการไม่ได้ระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตราดังกล่าวได้
ต่อมา ศาลกล่าวอย่างรวบรัดว่า จำเลยพอที่จะมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์บ้าง เชื่อจำเลยมีความผิดจริง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในส่วนของคำร้องที่ให้วินิจฉัยในเรื่องข้อกฎหมาย ศาลระบุว่าคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องมาครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้ ศาลยังให้ทนายความดูบันทึกการสืบเสาะ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติคือ นายชัยจรูญ เหมือนถนอม มีความเห็นหลังการสืบเสาะข้อมูลประกอบคดี เสนอศาลมาด้วย ว่าการกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดร้ายแรง จำต้องลงโทษให้หลาบจำ
ระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวไปรอที่ห้องขังใต้ถุนศาล ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่ออุทธรณ์ต่อไป โดยในชั้นนี้ วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จาก “กองทุนราษฎรประสงค์”
จนเวลา 15.30 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย และกำหนดวันยื่นอุทธรณ์คดีต่อไปภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 แต่ยังสามารถขอขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปได้
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมฯ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจล้มล้างการปกครอง ก่อนศาลให้ประกันตัว
.