ย้อนกลับไปวันที่ 10 กันยายน 2562 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก บก. ปอท. แถลงผลการปฏิบัติการ “ทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” ระบุว่าเป็นการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมเป้าหมายที่เผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) จำนวน 9 จุด
หนึ่งในกรณีปิดล้อมตรวจค้น ได้แก่ กรณี “เพจเฟซบุ๊ค รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง” ซึ่งจากการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้มีการนำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นที่บ้านพัก และได้พบกับ “บุญมา” (นามแฝง) ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์วัย 50 ปี ผู้ต้องสงสัย ซึ่งรับว่าได้กระทำความผิดจริง จึงได้นำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการได้พูดคุยกับบุญมา เขาเล่าว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 กันยายน 2562 เขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี ก่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ตรวจค้นรถ และให้นำไปตรวจค้นยังห้องพัก โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ สายชาร์จ
บุญมาถูกนำตัวต่อไปยัง บก.ปอท. และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาดำเนินการเป็นแอดมินเพจ “รับสมัคร นักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทย และสมุนเผด็จการ” แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยการสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย และเจ้าหน้าที่ยังได้มีการนำหมายจับมาแสดงในภายหลัง วันต่อมา บุญมาถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง และศาลอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้นเขาได้รับการประกันตัวออกมาโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท
คดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยโดยใช้ตำแหน่งของญาติ อย่างไรก็ตาม ในวันนัดสืบพยานในคดีวันที่ 10 มิถุนายน 2564 บุญมาเลือกที่จะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อเท็จจริง พร้อมทำหนังสือคำให้การยื่นต่อศาล ชี้แจงว่าตนได้รับการไหว้วานจากเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศให้ช่วยดูแลเพจเฟซบุ๊ค แต่จำเลยไม่เคยมีส่วนร่วมในการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนั้น จำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอศาลให้วินิจฉัยข้อกฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
ถ้อยคำที่ว่า “อันมีความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มี “การวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าเป็นความผิด” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) นั้นซ้ำซ้อนกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น
ดังนั้น เมื่อไม่มีการยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หรือไม่ ตามที่ศาลอาญาได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 76/2564 คดีระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
นอกจากคำร้องดังกล่าวที่ขอให้ศาลวินิจฉัยในทางกฎหมายซึ่งต้องจับตา อีกสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ที่สำคัญยิ่งกว่านั่นก็คือโทษที่บุญมาจะต้องเผชิญ ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาที่นานสูงสุดถึง 5 ปี หรือปรับได้สูงถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากศาลตัดสินว่าเขามีความผิดจริง ซึ่งการถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกและต้องเข้าเรือนจำในเวลานี้ อาจทำให้บุญมาต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอันตรายอย่างมากสำหรับคนในวัยเช่นบุญมา