19 เม.ย. 2565 – ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ นพวรรณ สุวรรณ์ เจ้าของร้านขายของย่านถนนคนเดินในจังหวัดน่าน วัย 37 ปี ซึ่งถูกฟ้องร้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศฯ”
เหตุในคดีนี้เกิดจากที่นพวรรณได้แชร์ข้อความ พร้อมภาพจากสื่อไทยรัฐ ลงในกลุ่มในเฟซบุ๊ก “ตลาดนัดคนเมืองน่าน” เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2563 โดยมีข้อความระบุว่ามีการตรวจพบเชื้อไวรัสตัวใหม่ชื่อ H3N2 จากวูฮั่น ประเทศจีน ในกลุ่มผู้เดินทางเข้ามายังสนามบินเชียงใหม่ จำนวน 3 ราย ซึ่งได้ถูกนำตัวไปรักษาในโรงพยาบาลแล้ว จึงขอให้ระมัดระวังโรคร้ายแรงนี้ โดยควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยพกพาติดตัวไปด้วย รวมทั้งมีข้อแนะนำการป้องกันโรคที่อ้างว่ามาจากกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงดังกล่าว นพวรรณระบุว่าเธอได้พบข้อมูลดังกล่าวในเฟซบุ๊กของเพื่อนรายหนึ่ง ที่แจ้งเตือนการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ มาที่จังหวัดเชียงใหม่ เธอเห็นว่าผู้โพสต์มีความน่าเชื่อถือ และมีคนแชร์ไปจำนวนมากแล้ว ไม่ได้คิดว่าเป็นข่าวปลอม จึงได้คัดลอกข้อความพร้อมภาพไปโพสต์ต่อในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้คิดข้อความขึ้นเอง
ต่อมา เธอได้รับแจ้งเรื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่รู้จักกัน ประสานขอให้เดินทางเข้าไปพบที่สถานีตำรวจ อ้างว่าได้รับเรื่องมาจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เกี่ยวกับข้อความที่เธอได้โพสต์ไป เป็นการเรียกเข้าไปโดยไม่มีหมายเรียก เนื่องจากตอนนั้นเธอและแฟนกำลังทำธุระอยู่ที่เชียงใหม่ จึงแจ้งความประสงค์ขอเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจภูธรภาค 5 แทน เมื่อเข้าไปถึงจึงพบว่า มีประชาชนคนอื่นด้วยที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีเดียวกันกับเธอ โดยในวันนั้นตำรวจจัดทำเป็นบันทึกการให้ถ้อยคำเอาไว้
ต่อมาเธอจึงถูกออกหมายเรียกจาก บก.ปอท. ทำให้เธอต้องเดินทางไปที่กรุงเทพฯ เพื่อรับทราบข้อหาในวันที่ 23 มี.ค. 2563 คดีดำเนินมาจน เธอถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา กำหนดหลักทรัพย์ประกัน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินของผู้ถูกกล่าวหาเอง คดีนี้มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 15 – 17 มี.ค. 2565 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
ศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน ชี้ข้อความสร้างความตื่นตระหนก ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยมีจุดมุ่งหมายใด
สำหรับคำพิพากษาในคดี ศาลพิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และได้ทำการโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2563 โดยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่
คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ ปิยะวัฒน์ ศิลปะรัศมี ดำรงตำแหน่งฝ่ายกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ให้การว่า ตนได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการลงข้อความของจำเลย ต่อมาผู้อำนวยการได้สั่งให้สอบสวน เมื่อทำการสอบถามไปยังกรมควบคุมโรค ไม่พบข้อเท็จจริงตามที่จำเลยโพสต์ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อ ข้อความและภาพมีความขัดแย้งกัน รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้แจ้งเตือนตามที่ทางจำเลยกล่าวอ้าง
ด้าน โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดูข้อความของจำเลยแล้ว พบว่ามีส่วนที่จริงและไม่จริง โดยเชื้อไวรัส H3N2 นั้นไม่ใช่เชื้อไวรัสโคโรน่า แต่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอัตราการตายเพียงแค่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าพบการติดเชื้อนั้นเป็นกรณีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่ใช่เกิดกับคนไทย แต่เป็นชาวต่างชาติ ยังไม่ได้ประกาศมาตรการเป็นระดับ 3 ส่วนการดื่มน้ำก็ไม่ได้มีข้อมูลรองรับว่าช่วยในการป้องกันโรค แต่ก็เป็นการดีกับร่างกาย ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ การเดินทางไปที่หนาแน่นก็สมควรแล้วที่ต้องใส่หน้ากาก
พยานยังตอบทนายถามค้านว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ตีพิมพ์ข่าวว่า พบการระบาดของเชื้อไวรัส H3N2 และเชื้ออื่นๆ คนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสโควิดหรือไม่ พยานไม่รู้ว่าหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้ข้อมูลมาจากที่ใด
กรณีเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 ตรวจพบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นคนจีน ส่วนการยกระดับเป็นระดับ 3 เป็นการยกระดับของกระทรวงสาธารณสุขในการทำงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัววัดระดับความร้ายแรง แนะนำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ ศาลเห็นว่าพยาน เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เบิกความตามหลักวิชาการ สอดคล้องตามฟ้องของโจทก์
การที่จำเลยลงข้อมูล อ้างว่าไม่มีเจตนา เป็นการเตือนนั้นไม่ได้ มีการเอาข้อมูลจากทางกระทรวงสาธารณสุขมากล่าวอ้าง อ้างว่าคัดลอกมาจากบัญชีเฟซบุ๊กอื่น ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นจริง แม้ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนระมัดระวัง แต่ก็ก่อให้เกิดความหวาดระแวง สร้างความตื่นตระหนก ก่อความกังวล เมื่อมีคนส่งต่อข้อมูลย่อมกระทบกับความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยมีจุดมุ่งหมายหรือไม่ พยานโจทก์ปาก กรุง ชูเดช ซึ่งเป็นประชาชนที่เห็นโพสต์ก็ให้การว่า ตนรู้สึกตกใจเมื่อเห็นข้อความของจำเลย
ในส่วนโทรศัพท์มือถือของจำเลย ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำเลยใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีข้อมูล จึงไม่ยึดเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ส่งคืนจำเลย
พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน
ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา นพวรรณ ถูกนำตัวลงไปไว้ที่ห้องเวรชี้ระหว่างที่ทนายความและผู้ไว้วางใจยื่นเรื่องขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์
ราว 15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักทรัพย์ประกัน เป็นเงิน 50,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
“ถ้าต้องเขาคุกอีกรอบ พี่ขอยอมตายดีกว่า” เสียงสะท้อนทั้งน้ำตาจาก ‘นพวรรณ’ ในวันที่ชีวิตและอิสรภาพถูกแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน
นพวรรณ เล่าว่า สาเหตุที่เธอแชร์โพสต์ดังกล่าวนั่นก็เพราะตัวเองขายของอยู่ที่ถนนคนเดิน จังหวัดน่าน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสจากประเทศจีน ในเวลานั้นยังไม่ถูกเรียกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เจตนาของเธอ ซึ่งเธอยืนยันทั้งน้ำตา นั่นก็คือ ต้องการที่จะช่วยแจ้งเตือนให้กับคนอื่นๆ ซึ่งเนื้อหาในโพสต์เธอก็ไม่ได้คิดเอง แต่แชร์มาจากคนรู้จักในเฟซบุ๊กซึ่งทำงานราชการ เห็นว่ามีความน่าเชื่อถือ แต่กลับมีเพียงเธอที่โดนดำเนินคดี ในขณะที่เจ้าของต้นโพสต์กลับไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลย
เธอเล่าอีกว่า ผลจากการโดนดำเนินคดีไกลถึงกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก เธอกับแฟนหนุ่มต้องเดินทางมาตามนัดหมายของอัยการและศาลหลายนัด ทำให้ต้องหยุดขายของไป เดินทางไปกลับใช้เวลาร่วม 3 วัน ในแต่ละครั้ง ต้องสูญเสียรายได้หลักหมื่น ไหนจะต้องวิ่งหาเงินเพื่อมาใช้ในการประกันตัวชั้นพิจารณาคดี ซึ่งเงินดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้
แต่ที่เจ็บปวดยิ่งกว่า นั่นก็คือผลกระทบทางด้านจิตใจ ซึ่งสร้างแผลบาดลึกข้างใน
“แฟนของผม เดิมเขามีปมอยู่อย่างนึง ในอดีตมีเพื่อนบ้านของแฟนซึ่งเป็นเยาวชน เขายืมจักรยานยนต์แฟนผมไปใช้ ปรากฏว่าเอาไปก่อเหตุเกี่ยวกับคดียาเสพติด แล้วทีนี้ถูกจับขึ้นมา แล้วรถที่ใช้ดันเป็นชื่อแฟนผม ก็มีการซักทอดมาว่าแฟนผมมีเอี่ยวด้วย แฟนกับพ่อเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรม ตำรวจให้ตอบอะไร ให้พูดอะไร ก็ว่าไปตามเขา กลายเป็นว่า คนที่ก่อเหตุไม่โดน ท้ายที่สุดแฟนของผมเขาต้องเข้าคุกไปรอบหนึ่ง” แฟนหนุ่มของนพวรรณเล่า ขณะที่ตัวเธอพยายามกลั้นน้ำตา
“ศาลสั่งจำคุกพี่ 3 ปี 6 เดือน แต่พี่ถูกขังจริง 2 ปี 6 เดือน” เธอเล่าเพิ่ม
“ผลจากการอยู่ข้างในทำให้พี่เป็นโรคกลัวที่แคบ เป็นโรคตื่นตระหนก (Panic Attack) ถ้าพี่ต้องเข้าไปอีกรอบ พี่บอกกับแฟนเลยว่าพี่ขอตายดีกว่า”
“ด้วยความที่ตอนนั้น เราไม่รู้จะเรียกร้องความเป็นธรรมยังไง เเต่มันก็ผ่านมาเเล้ว ก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไร มาตั้งต้นชีวิตใหม่กัน เเล้วพอมาเจอเเบบนี้อีก มันเหมือนไปตอกย้ำความรู้สึกเดิมของแฟนผม”
หลังจากต้องติดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนานนับปี จนกระทั่งศาลชั้นต้นทำการสืบพยานในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และมีคำพิพากษาในวันนี้ นพวรรณและแฟนสะท้อนความอัดอั้นที่ติดอยู่ในใจออกมา อวลน้ำหนักของความไม่เป็นธรรมสะท้อนออกมาผ่านน้ำเสียงของทั้งคู่
“ศาลแทบจะไม่ฟังสิ่งที่พี่พูดเลย เขาฟังแต่ฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายกฎหมายฯ ที่เป็นคนร้องทุกข์ ณ วันที่มาสืบพยาน เขายังตอบศาลไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ตรงไหนผิดตรงไหนถูก ตอบเเค่ว่าได้รับคำสั่งให้มาฟ้อง”
“พี่ไม่ได้อยากจะร้องไห้ แต่มันไม่ยุติธรรมน่ะ เข้าใจไหม มันไม่ควรจะเป็นเเบบนี้ ถามว่าโพสต์นั้นมีคนเเชร์กันกี่คนล่ะ? แล้วทำไมมาโดนที่เรา คนที่เราไปลอกเขามาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ปกติ อย่างนี้มันไม่ยุติธรรม มีกรณีที่ ส.ว. คนหนึ่งเองก็แชร์โพสต์เดียวกับเรา รูปเดียวกัน แต่ตัวเขากลับไม่โดนดำเนินคดีอะไรเลย”
นพวรรณทิ้งท้าย น้ำตาไหลหยดเปียกหน้ากากผ้า ในขณะที่แฟนหนุ่มบีบมือคล้ายต้องการส่งพลังใจให้
.