22 เม.ย. 63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยัง บมจ.ทีโอที (TOT) เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย และรับฟังแถลงผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาเมื่อพฤศจิกายน 2562
สิ่งที่สังคมควรจับตามองใกล้ชิดจากการมาเยือนครั้งนี้คือถ้อยแถลงนโยบายจัดตั้งหน่วยงาน “ตำรวจไซเบอร์” ซึ่งจะประกอบไปด้วยกองบัญชาการเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีประจำอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อจัดการกับคดีความที่สืบเนื่องมาจากการเผยแพร่ข่าวปลอมและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเด็ดขาด โดยพล.อ.ประวิตร มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วม
หรือจะรองรับกรณี “เจ้าทุกข์คือรัฐ” ?
นายพุทธิพงษ์ ปณณกันต์ รมต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวถึงบทบาทของ “ตำรวจไซเบอร์” ในแต่ละท้องที่ว่ามีอำนาจตรวจสอบ ตรวจจับสอบสวนผู้กระทำความผิด ซึ่งจะทำให้ติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว เพราะเดิมหน่วยงานบังคับคดีประเด็นข่าวปลอมมีไม่เพียงพอและครอบคลุม รัฐจึงพยายามอุดช่องโหว่ด้วยการเพิ่มหน่วยงานใต้บังคับบัญชาของ สตช. เพื่อให้ประชาชนร้องทุกข์เรื่องข่าวปลอมได้ง่าย
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายละเอียดการแถลงข่าวของนายพุฒิพงษ์พบว่าหน่วยงานใหม่นี้ดูราวกับมุ่งรองรับกรณี “เจ้าทุกข์คือรัฐ” ดังส่วนหนึ่งในแถลงข่าวที่ว่า
“ประเด็นปัญหาที่ศูนย์ฯ (ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย) เจอคือเมื่อตรวจพบข่าวปลอมสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานไหนก็ตาม ทางศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศจำต้องให้เจ้าทุกข์นั่นคือตัวแทนของหน่วยงานนั้นเดินทางเข้ามาเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ ถึงจะครบองค์ประกอบในการดำเนินคดีได้ บ่อยครั้งทำให้เกิดความล่าช้า เราได้ทำการร้องไปกับทางท่านรองนายกฯ วันนี้ท่านเลยเข้ามาเพื่อมอบนโยบายใหม่เพื่อจัดการอุดช่องโหว่ตรงนั้น ถึงแม้จะมี บก.ปอท. แต่เฟกนิวส์จริงๆ แล้วมีอยู่ทั่วทุกจังหวัด มีผู้กระทำผิดกระจายไปทุกอำเภอ ก่อนหน้านี้ การจะร้องทุกข์เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าทุกข์จำเป็นต้องเดินทางมาที่ บก.ปอท. ที่มีศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า”
ทบทวนสามพันเรื่องที่ตรวจสอบไปแล้ว แนวโน้มมุ่งดำเนินคดีระหว่างประชาชนกับรัฐมากขึ้น
ในงานแถลงข่าววันเดียวกัน ตัวแทนของทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ยังได้สรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ พร้อมแสดงสถิติการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ตลอดระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่มีคำสั่งจัดตั้ง รวบรวมโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กะในแต่ละวัน คอยมอนิเตอร์โลกออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแต่ละเรื่องจะใช้เวลาตรวจสอบราว 2 ชั่วโมง
เมื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวปลอมประเด็นโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่มกราคม-เมษายน ทาง รอง ผบ.ตร. แถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานเข้ามายังศูนย์ฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวว่าเป็นเท็จหรือไม่ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมกว่า 40 คดี
หนึ่งในคดีที่สะท้อนความเปราะบางของรัฐบาลต่อคำวิพากย์วิจารณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ,ร.ก. ฉุกเฉินฯ คือคดีของดนัย หรือ Mr.Zen ศิลปินกราฟิตี้ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่สเตตัสเฟซบุ๊กวิจารณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ในสนามบินสุวรรณภูมิ |
น่าสนใจว่า ก่อนมีงานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เมื่อ 1 พ.ย. 62 มีการจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมรายหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็น #ขบวนเสด็จ ซึ่งกลายเป็นเทรนด์อันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเพียงหนึ่งวันหลังงานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ฯ ปรากฏมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชื่อ @99CEREAL ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วย นำตัวไปยัง สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อซักถามเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ปมรีทวีตข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และจากสถิติกว่า 3,000 เรื่องที่ศูนย์ฯ ตรวจสอบ อาจตีความได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมในลักษณะที่คู่ขัดแย้งคือประชาชนกับรัฐมีจำนวนมากขึ้น
“มีคนจับตาดูเราอยู่จริง ๆ”
ทั้งนี้ 23 เม.ย. 63 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกรายงาน “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” ตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ว่าเป็นหนึ่งในกลไกรัฐที่กำหนดเนื้อหาการสนทนาบนโลกออนไลน์ “อย่างเป็นระบบ” สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มากกว่ามุ่งลดผลกระทบของข่าวปลอมต่อสังคม ทางแอมเนสตี้ฯ ยังได้เรียกร้องมาตรการจากรัฐบาล ดังนี้
- ยุติกระบวนการทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิฯ และบุคคลอื่น ๆ ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ
- ยุติการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่แค่แสดงออกในโลกออนไลน์
- ยุติการตรวจสอบข่าวปลอมโดย DES และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และมอบหมายให้องค์กรภายนอกที่เป็นอิสระเข้ามาทำงานตรงนี้แทน
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการแสดงออกในโลกออนไลน์ โดยไม่ข่มขู่หรือคุกคาม
- ให้รัฐสภาวพิจารณายกเลอกกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการแสดงออกบนโลกออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก
เตรียมเสนอตั้งกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ดูแลอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ – The Standard
‘บิ๊กป้อม’ ย้ำศูนย์ต้านข่าวปลอม เข้มป้องเฟคนิวส์ ซ้ำเติมปชช. เจอพิษโควิด-19 – Matichon Online
โควิด-19 : แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลอาศัยสถานการณ์โรคระบาดเป็น “ข้ออ้าง” ปราบปรามผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์ – BBC Thai