10 มิ.ย. 2564 เวลา 9.30 น. ศาลอาญา รัชดา นัดสืบพยานคดีที่นายบุญมา (นามสมมติ) ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ วัย 50 ปี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการเป็นแอดมินของเพจเฟซบุ๊ก “รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง” โดยนายบุญมาได้ให้การรับสารภาพในข้อเท็จจริง พร้อมขอให้ศาลวินัจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อกฎหมาย
ณ ห้องพิจาณา 805 ศาลนั่งพิจารณาคดีในเวลา 9.45 น. ศาลได้อธิบายและอ่านฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่งและถามว่าจำเลยจะให้การอย่างไร จำเลยได้ขอกลับคำให้การจากปฎิเสธข้อกล่าวหา เป็นรับสารภาพ โดยได้ทำคำให้การเป็นหนังสือต่อศาล มีใจความว่า ตนได้รับการไหว้วานจากเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศให้มาดูแลเพจ “รับสมัครนักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทย”
แต่จำเลยไม่เคยมีส่วนช่วยเหลือหรือสนับสนุนกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเพจดังกล่าวมีคนกดไลค์ไม่ถึงร้อยคน ไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ และไม่มีการรับสมัครหรือก่อตั้งกองกำลังใดๆ หรือกระทำผิดกฎหมายใดๆ ตามชื่อเพจ มีเพียงการแชร์ข่าวการเมือง ที่แต่ละคนสนใจเท่านั้น
นอกจากนี้ในเอกสารประกอบคำร้องรับสารภาพ ระบุขณะถูกกล่าวหา จำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำผิดอาชญากรรมร้ายแรง เป็นเพียงผู้ร่วมดูแลเพจที่มีคนติดตามหลักสิบเท่านั้น ชื่อเพจไม่มีความเป็นไปได้ ไม่มีการระดมรับสมัครเพื่อไปกระทำผิดกฎหมาย เป็นเพียงการแชร์ข่าวการเมืองทั่วไปเท่านั้น
หากจำเลยต้องโทษจำคุก จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสาหัสเนื่องจากเป็นเสาหลักเลี้ยงดูบิดามารดา ที่แก่ชรามากแล้วทั้งสองคน โดยมารดาป่วยเป็นโรคไส้เลื่อนและบิดาตาบอดหนึ่งข้าง ป่วยเป็นโรคความดันสูงและปอดติดเชื้อ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะโรคระบาดที่ร้ายแรงอยู่ในขณะนี้ ทำให้ตนจำเป็นต้องดูแลบิดามารดาอย่างใกล้ชิดในบั้นปลายชีวิต
อย่างไรก็ตาม นายบุญมาได้ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
ถ้อยคำที่ว่า “อันมีความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มี “การวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าเป็นความผิด” และนำข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อมิให้ความผิด มาตรา 14 (3) นั้นซ้ำซ้อนกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น
ดังนั้นเมื่อไม่มีการยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามที่ศาลแห่งนี้ได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคดีแดงที่ 76/2564 คดีระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ในวันนี้ศาลจึงสั่งงดการสืบพยานตามนัด และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาต่อไปในวันที่ 21 ก.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 เมื่อนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในขณะนั้น ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) แถลงผลการปฏิบัติการ “ทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” โดยระบุว่าเป็นการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมเป้าหมายที่เผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) จำนวน 9 จุด
หนึ่งในกรณีที่มีการตรวจค้น ได้แก่ กรณีของนายบุญมา ซึ่งจากการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้มีการนำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นที่บ้านพัก และได้พบกับช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งรับว่าได้กระทำความผิดจริง จึงได้นำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
แต่ข้อมูลจากนายบุญมา ระบุว่าเมื่อเช้าวันที่ 11 ก.ย. 2562 เขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี ก่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ตรวจค้นรถ และให้นำไปตรวจค้นยังห้องพัก โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ สายชาร์จ
ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวนายบุญมาไปยัง บก.ปอท. และมีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นายบุญมาได้ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขังที่ศาลอาญา เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหาได้ทำการเช่าหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัว และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท ก่อนคดีจะถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมฯ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจล้มล้างการปกครอง ก่อนศาลให้ประกันตัว