ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 1 ปี 6 เดือน ‘ช่างซ่อมคอม’ คดี พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนถูกคุมตัวไปเรือนจำ รอคำสั่งศาลฎีกา

21 ก.ค. 2565 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีความของ บุญมา (นามสมมติ) ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์วัย 52 ปี ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “รับสมัคร นักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทยและสมุนเผด็จการ”  โดยศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน 

.

บุญมาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 เหตุถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งเป็นแฟนเพจที่มีผู้กดถูกใจหลักสิบ และมีกดติดตามร้อยคนเศษๆ โดยเป็นหนึ่งใน 9 รายที่ถูกจับในปฏิบัติการ “ทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” โดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ร.ม.ต.ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น ปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. 

จากนั้นบุญมาได้ถูกแจ้งข้อกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวออกมาโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท 

คดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563 และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นนัดสืบพยาน บุญมาได้เลือกที่จะให้การรับสารภาพ โดยทำหนังสือคำให้การยื่นต่อศาลพร้อมชี้แจงว่าตนเองมีหน้าที่เพียงดูแลเพจเฟซบุ๊กของคนรู้จักซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมาย และขอให้ศาลลงโทษสถานเบาเนื่องจากมีพ่อแม่สูงอายุที่ต้องดูแล

และในวันเดียวกันนั้น บุญมายังได้ยื่นคำร้องขอศาลให้วินิจฉัยข้อกฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา โดยเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “อันมีความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มี “การวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าเป็นความผิด” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) นั้นซ้ำซ้อนกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น 

อย่างไรก็ดี ในวันที่  21 ก.ค. 2564 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในส่วนของคำร้องที่ให้วินิจฉัยในเรื่องข้อกฎหมาย ศาลระบุว่าคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องมาครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง 

.

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 ก.ค. นี้ ศาลเริ่มต้นด้วยการอ่านคำฟ้องโดยย่อ แล้วกล่าวคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์อย่างรวบรัดว่า บรรยายฟ้องของโจทก์มีองค์ประกอบครบถ้วนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าข้อมูลที่นำจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น 

ในประเด็นที่เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินสมควรหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญไทยบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ จากพฤติการณ์ในคดีของจำเลยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้ปรานี อีกทั้งจำเลยเพียงแค่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้กระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยสำนึกต่อความผิดหรือพยายามบรรเทาผลร้ายให้เบาบางลง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเพียง 3 ปี และลดโทษลดกึ่งหนึ่งตามเหตุลดโทษ จึงสมควรแก่การลงโทษจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องแก้ไขโทษของจำเลย พิพากษายืน

โดยสรุปคือ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และในระหว่างที่มีการอ่านคำพิพากษาได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์มายืนรอควบคุมตัวจำเลยอยู่โดยตลอด

ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา บุญมาได้ถูกพาตัวไปควบคุมไว้ยังห้องขังที่ใต้ถุนศาลอาญา ขณะที่ทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันระหว่างฎีกาคดี โดยใช้หลักประกันเดิม คือหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

กระทั่งเวลาประมาณ 15:30 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีกา ให้กับศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง ทำให้บุญมาถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอคำสั่งต่อไป

ในคดีนี้ บุญมา เคยระบุถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปโดยมิชอบว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 เขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี ก่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ตรวจค้นรถ และให้นำไปตรวจค้นยังห้องพัก โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ ก่อนดำเนินคดีต่อเขา

.

ต่อมาวันที่ 26 ก.ค. 2565 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวบุญมา โดยให้วางหลักประกันเพิ่มอีก 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ บุญมาจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังถูกคุมขังไว้ทั้งหมด 6 วัน

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สั่งฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมฯ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจล้มล้างการปกครอง ก่อนศาลให้ประกันตัว 

ช่างซ่อมคอมฯ กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ คดี พ.ร.บ.คอมฯ ‘เพจล้มล้างการปกครองฯ’ แต่ขอศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565

.

X