มูลนิธิด้านสิทธิออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยประกันเสรีภาพในการแสดงออก  ก่อนฟังคำพิพากษาคดี 112 คดีแรกของทนายอานนท์ อาทิตย์หน้า  

วันที่ 21 ก.ย. 2566 มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (the May 18 Foundation) และมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice) ได้ออกแถลงการณ์และโพสต์ข้อความแสดงความห่วงใยถึงกรณีการฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีแรกของอานนท์ นำภา ที่กำหนดนัดในวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา (รัชดา) 

คดีดังกล่าวมีเหตุมาจากการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย 

.

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ออกแถลงการณ์มีใจความว่า

รัฐบาลไทยต้องหยุดปราบปราม อานนท์ นำภา โดยทันที และต้องรับประกันเสรีภาพในการแสดงออก    

พวกเรา มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ขอประณามรัฐบาลไทย ที่กำลังดำเนินการกดปราบ อานนท์ นำภา ผู้ชนะรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564

อานนท์ นำภา ผู้ชนะรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 ถูกฟ้องในข้อหากระทำการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2563 และได้รับการยืนยันว่า เขาติดเชื้อโควิด-19 ในขณะที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน 

อานนท์ นำภา ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย ผู้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ขอประณามรัฐบาลไทยที่ได้ปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก จะยืนหยัดเคียงข้างประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยไนประเทศไทย

หยุดปราบปรามประชาชนที่ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปทางการเมืองและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

21 กันยายน พ.ศ. 2566

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก

เครือข่ายผู้ชนะรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน

.

ด้านมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรมได้โพสต์ข้อความว่า

วันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลนัดฟังคำพิพากษา 1 ใน 14 คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ของ อานนท์ นำภา ทนายความ เขาต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี จากการแสดงความคิดเห็นในที่ชุมนุม ซึ่งหากเขาถูกตัดสินครบทุกคดี อานนท์ต้องเผชิญโทษจำคุกรวมถึง 210 ปี

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อานนท์กล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมว่า “อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น” 

โครงการสังเกตการณ์คดีของมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรมได้ติดตามการพิจารณาคดีนี้อย่างต่อเนื่อง และได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยว่าได้ใช้อำนาจโดยมิชอบไว้อย่างไรบ้างในการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตอบโต้บุคคลที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  

.

ทั้งนี้ ข้อห่วงใยของมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสองเกิดจากสถานการณ์ในประเทศไทยซึ่งมีการคุมขังผู้แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี โดยเฉพาะภายหลังศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก แม้โทษจำคุกจะต่ำกว่า 5 ปี 

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 22 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวนถึง 8 คน 

.

.

ฐานข้อมูลคดี: 

คดี 112 “อานนท์” ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา ถูกกล่าวหาใส่ร้าย ร.10 

เปิดสถิติยื่นประกันตัว 19 ผู้ต้องขังคดีการเมืองระลอกใหม่ ก.พ.-ก.ย. 66 แม้มี 2 ผู้ต้องขังอดอาหารประท้วงอีกครั้ง แต่ยังไม่มีใครได้รับสิทธิการประกันตัวเลย

X