‘อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค’ เป็นปัจจัยสี่ที่มนุษย์คนหนึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ทว่าสภาพแวดล้อมเมื่อพวกเขาต้องก้าวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตซึ่งเป็นปัญหาที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน
ครั้นเมื่อมีผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองเข้าไปข้างในเรือนจำ เสียงของเขาส่งออกมาบอกให้สังคมภายนอกรับรู้ถึงสภาพปัญหาจนถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อโควิดที่แพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงในปี 2563-2564, สภาพจิตใจผู้ต้องขัง, การเข้าเยี่ยมญาติ, สุขอนามัยและความเป็นอยู่ในเรือนจำ, ความแออัด, การเข้าถึงข่าวสาร, การใช้แรงงาน และ ‘การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย’
ในช่วงนี้ประเด็นเรื่อง “การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำ” ถูกนำมาพูดถึงและตั้งคำถามขึ้นในสังคมถึงมาตรฐานของเรือนจำว่ามีการดูแลผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่มีอาการเจ็บป่วยอย่างไร ที่ผ่านมานั้น ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองหลายคนที่มีอาการป่วยหรืออดอาหารประท้วงจนร่างกายเกิดวิกฤต ก็เป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานานกว่าจะถูกรักษาตัวให้หายดีหรือถูกส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลภายนอกที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาพยาบาลมากกว่า
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา รายการ Friends Talk ได้หยิบยกประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำมาพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ร่วม ได้แก่ พูนสุข พูนสุขเจริญ (ทนายเมย์), ณัฏฐธิดา มีวังปลา (พยาบาลแหวน) และ ลลิตา มีสุข (เพื่อนวารุณี) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ต้องวิกฤตเพียงใด ถึงจะส่งตัวไปรักษาได้
ลลิตา มีสุข เพื่อนของวารุณี
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา วารุณี หนึ่งในผู้ต้องขังระหว่างชั้นอุทธรณ์คดี ม.112 ตัดสินใจอดน้ำและอาหารประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิการประกันตัวหลังจากที่ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ภายหลังจากที่วารุณีอดอาหารก็เห็นได้ถึงอาการทางร่างกายที่ทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นอาการแทรกซ้อนและน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
“ถ้าใครนึกภาพวารุณีไม่ออกว่าผอมแค่ไหน ให้นึกถึงตะวัน คือตะวันตัวเล็กแล้วนะ แล้ววารุณีคือตัวครึ่งนึงของตะวัน คือโดยพื้นฐานเขาเป็นคนตัวเล็กมาก แล้วก็ผอมมาก ๆ อยู่แล้ว ทีนี้พอเขาจำเป็นที่จะต้องอดอาหาร ก็คงจะไม่มีกล้ามเนื้อ มวลร่างกายอะไรที่จะไปรักษาตัวเองให้อยู่ได้ยาวมากขนาดนั้น แล้วเราก็กังวลกับอาการ แล้วเขาอดอาหารมาทั้งหมด 17 วัน เพิ่งได้ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์” ลลิตากล่าว
“ก็เห็นตัวเลขว่ามันวิกฤตแล้วนะ อันนี้วิกฤตแล้วนะ คือเรารู้สึกว่าเมื่อไหร่ ต้องรอให้ทรุดมาก ๆ จริง ๆ หรือต่อให้ทรุดแต่สังคมไม่ได้จับตาก็จะอยู่เงียบ ๆ แบบนี้ต่อไป”
“คือเราไม่รู้ เขาอยู่ข้างในเราไม่รู้ได้เลยว่าเขาทำยังไงกับผู้ต้องขัง ซึ่งเขาก็ไม่ได้มีสิทธิจะส่งเสียงเรียกร้องอะไรมากมาย เราก็เลยเข้าใจในมุมของวารุณีที่ไม่ไว้วางใจการรักษา การดูแลต่าง ๆ ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เลยขอออกมาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มันก็เป็นสิทธิที่เขาจะไม่วางใจอย่างที่เราเห็น
“มันต่างจากอีกเคสหนึ่งที่เขาได้ตรวจร่างกายเร็วมาก ในขณะที่วารุณีอาจต้องใช้เวลารอข้ามวัน เราไม่รู้ว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงไหนอยู่แล้ว แล้วแบบนี้จะไม่ให้สังคมตั้งคำถามได้ยังไง เราไม่ได้ตั้งคำถามกับเขา แต่เราตั้งคำถามกับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าเขามีมาตรฐานยังไงมากกว่า” ลลิตากล่าว
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การส่งตัวออกไปรักษานอกเรือนจำอย่างรวดเร็วก็สามารถทำได้
พูนสุข พูนสุขเจริญ – ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
“เรื่องมาตรฐานเราอาจจะได้ยินเรื่องเล่ามาบ้าง แต่ว่าก่อนหน้านี้ ปี 2563 มันแทบไม่มีการพูดถึงหรือคนสนใจเท่าไหร่ พอเริ่มมีนักกิจกรรมเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วเริ่มมีการพูดถึง มันนำมาสู่การรับรู้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้ามองในระยะสั้น 3 ปี เราก็ไม่รู้ว่ามันมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นหรือเปล่า
“เราได้ยินเรื่องราวว่ากว่าที่ผู้ต้องขังป่วยตอนกลางคืน เขาต้องตะโกน ตะโกนเพื่อให้ผู้ต้องขังที่อยู่ข้างล่างช่วยตะโกนต่ออีกทอดนึงให้เจ้าหน้าที่ได้ยิน กว่าเจ้าหน้าที่จะเดินเข้ามาเช็ค ซึ่งเขาก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ ต้องไปรายงานก่อนที่จะนำตัวมายังแดนแรกรับหรือแดนพยาบาลก่อน หรือว่าถ้าหนักกว่านั้นก็ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถ้าไม่ไหวก็ถึงจะส่งไปรักษาโรงพยาบาลข้างนอก เพราะฉะนั้นกระบวนการมันใช้เวลาแน่นอน”
“เขาเป็นเคสที่พิสูจน์ว่ามันสามารถทำได้ถ้าเร่งด่วนจริง ๆ แต่ทำไมคนถึงยังต้องตายอยู่ในเรือนจำ ทำไมคนถึงต้องนอนกับศพที่เสียชีวิตอยู่ในเรือนจำอยู่ในห้องขัง”
“เราคิดว่าการเข้าถึงการพยาบาลของเขา (กรณีทักษิณ ชินวัตร) น่าจะพูดได้ เพราะว่าเราพูดในมุมที่ว่า คนเราถ้ามันป่วยมาก ๆ คนที่มีหลายโรคแล้ววิกฤตจริง ๆ กระบวนการที่จะดำเนินการจากเรือนจำไปยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญมันควรจะเป็นแบบนั้น แต่ทำไมที่ผ่านมามันไม่สามารถทำได้
“เขาเป็นเคสที่พิสูจน์ว่ามันสามารถทำได้มันถ้าเร่งด่วนจริง ๆ แต่ทำไมคนถึงยังต้องตายอยู่ในเรือนจำ ทำไมคนถึงต้องนอนกับศพที่เสียชีวิตอยู่ในเรือนจำอยู่ในห้องขัง คือนักกิจกรรมเข้าไปพบเรื่องจริง ๆ ที่มีคนตายแล้วก็ต้องอยู่ในห้องขังกับเขาจนกว่าจะเช้า ทำไมเราปล่อยให้ชีวิตคนมันมีค่าไม่เท่ากัน การเข้าถึงบริการสาธารณะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดแล้ว เขาเป็นรัฐบาลที่ทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ถ้วนหน้า แต่ว่าทำไมคนที่ป่วยในเรือนจำกลับไม่ได้สิทธิเข้าถึงได้ทันท่วงที” พูนสุขกล่าว
‘ป่วยในเรือนจำ’ ความทรงจำที่ยากจะลืม
ณัฏฐธิดา มีวังปลา – อดีตผู้ต้องขังทางการเมืองในทัณฑสถานหญิงกลาง
“การเจ็บป่วยและการรักษาในเรือนจำเป็นสิ่งที่อัตคัดมากสำหรับผู้ต้องขังอย่างพวกเรา แล้วอย่างที่ทนายเมย์บอกว่าเจ็บป่วยตอนกลางคืนมันลำบาก
“ถ้าเราเจ็บป่วยอย่างที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คุณเจ็บป่วยคืนนี้ก็จดยานะ ตอนเช้าถ้าจดยาตอนแปดโมงจากหัวหน้าห้องก็จะได้กินตอนห้าโมงเย็น หรือว่าเกิดไม่ไหวจริง ๆ แล้วสลบ น็อคลงไปตรงนั้น คุณถึงจะถูกนำไปประเมินอาการอยู่ที่ใต้ถุนเรือนนอนก่อน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ถึงจะต้องแจ้ง ผบ.แดน แล้วเขาก็จะประสานไปดูอาการที่ พบ. (ศูนย์พยาบาล) อีกที
“ถ้าเกิดว่าการเจ็บป่วยในช่วงกลางวันก็จะโชคดีหน่อยเพราะมีคนเห็น เรียกง่ายใช้คล่องมีโอกาสรอดตาย แต่ว่าถ้าเป็นตอนกลางคืนคือรอไปเถอะ ตะโกนแล้วก็ต้องรอกุญแจ แล้วคนที่ขึ้นมาประเมินคือผู้คุมซึ่งไม่ได้มีความรู้ด้าน First Aid ไม่ใช่ทีมแพทย์ คือเขาประเมินว่าจะไปแจ้งแพทย์ดีไหม
“คำประเมินของเขา ถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยก็ประมาณว่า เป็นไงบ้างลูก เจ็บไหม ไหวไหม เดี๋ยวรอกุญแจแป๊บนึงนะ เดี๋ยวแม่ไปเอากุญแจพาไป พบ. แต่ว่าถ้าเป็นผู้ต้องขังทางการเมือง ผู้ต้องขังที่ไม่คุ้นเขา ก็จะประมาณว่าเป็นไง ใกล้ตายยังล่ะ รอได้เปล่า ไหวเปล่า รอเช้าได้ไหม
“ในคุกหญิงจะนอนรวมกัน คนนึงได้นอนหนึ่งกระเบื้องครึ่งก็คือนอนตะแคง คนที่ถูกขังนาน ๆ อย่างเคสของพี่ดา ตอร์ปิโด ออกมาได้ไม่ถึงปีก็เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมันเกิดจากท่านอน การนอนทับนอนเบียดกันเกินไป อย่างเรารักษาซีสต์ตั้งแต่ปี 52 แต่หลังจากนั้นเราเข้าไปในเรือนจำอยู่ 3 ปี 6 เดือน ติดคุกฟรีนะ อาการมันกำเริบแล้วขอยา ก็ได้แค่พาราฯ เม็ดเดียว ยาครอบจักรวาลทุกสิ่งอย่าง ปวดสารพัดปวด หรือเป็นไข้สารพัดไข้ก็จ่ายได้แค่ยาพาราฯ
“พอเรารับการรักษาพยาบาลไม่ทัน ก้อนเนื้อก็โตขึ้น ไปปิดท่อเส้นเลือดใหญ่ทำให้เราเจ็บ ไปปรึกษาหมอ สุดท้ายก็ตัดทิ้งสองข้างเลย มันก็เลยเป็นที่มาว่าเจ็บป่วยถึงขนาดนี้แต่ก็ไม่เคยได้รับการรักษา ต้องออกมารักษาเองข้างนอก”
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาลในเรือนจำดังกล่าว มีหลักการในระดับนานาชาติที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงถึง ได้แก่ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา: Mandela Rules’ ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ต้องขัง มีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
ในข้อกำหนด 24 (1) “การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน”
และในข้อกำหนด 27 (1) “ในกรณีฉุกเฉิน ผู้ต้องขังทุกคนต้องได้รับการประกันว่าสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยพลัน ผู้ต้องขังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือการผ่าตัดเฉพาะทาง ต้องได้รับการส่งตัวไปยังหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือโรงพยาบาลของพลเรือน”
ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้มีการออก ‘กฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ’ ตามข้อ 2 และ 3 ซึ่งมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยให้ส่งตัวไปรับการรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำโดยเร็ว และถ้าหากไม่สามารถรักษาได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำมีอำนาจอนุญาตให้ส่งตัวไปรับการรักษาตัวนอกเรือนจำได้ และถ้ามีเหตุจำเป็นสามารถส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้
จากหลักข้างต้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ถึงแม้ว่าจะมีทั้งข้อกำหนดในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังในเรือนจำอย่าง ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ หรือ ‘กฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ’ ก็ตาม แต่ก็ยังพบเห็นได้ว่าผู้ต้องขังยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล บางคนมีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาต้อง‘รอ’การรักษาโดยที่ไม่รู้ว่าจะรอนานเพียงใด
ผู้ต้องขังทางการเมืองอย่าง “วารุณี” ที่อาการทรุดหลังอดน้ำอาหารประท้วง กว่า 18 วัน จึงจะถูกส่งตัวออกไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลข้างนอกได้ หรือ “เอกชัย” ที่มีอาการป่วยตัวเหลืองตาเหลืองและต้องใช้เวลารอนานกว่า 8 วัน จึงจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำเพื่อที่รักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลในเรือนจำก็ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่เสมอถึงมาตรฐานในการดูแลรักษา เพราะพวกเขาทุกคนก็คือประชาชนคนหนึ่งของประเทศที่ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้เท่าเทียมกัน